top of page

บทความพิเศษ : Review Zenith Defy EL Primero 2195.9000.9004/78.R582



Zenith Defy EL Primero 21

นาฬิกาจับเวลาที่ดีที่สุดที่คุณเป็นเจ้าของได้วันนี้จาก Zenith เป็นเวลาหลายทศวรรษที่เครื่อง EL Primero คือความภาคภูมิใจของแบรนด์ Zenith นิยามคุณลักษณะของ EL Primero ที่สั้นที่สุด คงจะมีอยู่แค่ 2 ประการ คือ 1) เป็นเครื่องนาฬิกา Automatic ที่มีฟังก์ชั่นจับเวลามาตั้งแต่กำเนิด และ 2) วิ่งด้วยความถี่ 5 Hertz หรือ 36,000 ครั้งต่อชั่วโมงเสมอ สองสิ่งนี้ทำให้ Zenith EL Primero เป็นหนึ่งในเครื่องนาฬิกาจับเวลาที่ดีที่สุดในช่วง ค.ศ.2000 หรือยุค Y2k ยากจะหาผู้ใดตามทันในช่วงเวลานั้น

ถึง Rolex จะเอา EL Primero ไปใช้ใน Daytona รุ่นรหัส 1652x แต่ Rolex กลับไปลดความถี่การเดินเครื่องลงเหลือแค่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมงเพื่อความทนทานที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย และให้เหตุผลว่า 36,000 vph มันไม่จำเป็น แต่แท้ที่จริงแล้วมันคือจิตวิญญาณของ EL Primero

เหตุผลก็เพราะสายเลือดของ EL Primeo คือนาฬิกาจับเวลา เมื่อเดินด้วยความถี่ 36,000 ครั้งต่อชั่วโมง แปลว่ามันเดินด้วยความถี่ 10 ครั้งต่อวินาที ดังนั้นมันจึงจับเวลาลงล๊อค 1/10 วินาทีได้พอดี ต่างจากเครื่อง 28800 vph ในนาฬิกาทั่วไป ที่จับเวลาได้ละเอียดที่สุดก็แค่ 1/8 วินาทีเท่านั้น จึงมีแต่ Zenith เท่านั้นที่สร้างนาฬิกาที่จับเวลา 1/10 วินาทีออกจำหน่ายจริงในรุ่น Zenith Striking 10th อย่างไรก็ตาม Zenith ก็ไม่ได้คุยใหญ่โตว่ามันคือ 1/10 Chronograph เพราะ 1/10 ไม่ใช่มาตราฐานใช้ในวงการกีฬาอาชีพ ปมเล็ก ๆ อีกเรื่องคือระบบลาน ซึ่งยังต้องใช้ร่วมกับระบบเดินเวลาปกติ ทำให้เปลืองลานมากขณะจับเวลา สุดท้ายแล้ว Zenith จึงขายแต่รุ่นจับเวลาปกติเป็นหลัก ปล่อยให้ Striking 10th อยู่ในกลุ่มนาฬิกา Limited Edition ไปโดยปริยาย

เมื่อ Zenith ถูกซื้อโดยกลุ่มทุน LVMH เพื่อนร่วมรุ่นก็คือ TAG Heuer ซึ่งย้อนกลับไปในปี 1916 TAG Heuer นี่แหละที่ได้สร้างนาฬิกาพกจับเวลาได้ 1/100 วินาทีที่ใช้ในวงการกีฬาเป็นครั้งแรก จนอีกเกือบร้อยปีต่อมาในงาน Basel World 2011 TAG Heuer ก็มีการเปิดตัวนาฬิกาข้อมือที่ดูเวลา+จับเวลา 1/100 วินาทีได้จริงรุ่น TAG Heuer Carrera Mikrograph

Carrera Mikrograph ขายได้น้อยมากเพราะผลิตมาแค่ไม่ถึง 200 เรือน แถมตั้งราคาไว้หลักล้านกว่าบาท ถึงแม้ว่าจะทำด้วยทอง 18k แต่คนทั่วไปอาจจะคิดว่าของราคาหลักล้านบาทไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องจ่ายให้แบรนด์ TAG Heuer มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว เทคโนโลยี่ 1/100 เลยเป็นแค่ข่าวช่วงสั้น ๆ ในวงการนาฬิกาสวิสที่ไม่มีใครอยากจะพัฒนาต่อ เพราะถ้าจะจับเวลา 1/100 วินาทีได้จริง จะต้องมีเทคโนโลยี่ระดับ 360,000 vph หรือ 50 Hertz ซึ่งอาจจะได้ไม่คุ้มเสีย มีแต่ TAG Heuer เท่านั้นที่พัฒนาต่อจนถึงรุ่นที่จับเวลาได้ถึง 1/10000 วินาที แต่ไม่ได้ขายเพราะทำไว้เพื่อการทดสอบเท่านั้น

จากการตัดสินใจที่น่าจะผ่านการกลั่นกรองมาอย่างดีแล้วสุดท้ายในปี 2018 LVMH ได้ตัดสินใจนำระบบจับเวลา 1/100 กลับมาอีกครั้ง แต่ภายใต้แบรนด์ Zenith กับเครื่องสุดคลาสสิก EL Primero ในราคาที่เป็นเจ้าของได้จริง ซึ่งหลังจากการที่เราได้สัมผัสและทดสอบใช้งานจริงแล้ว (ลัดดาเคยเคยทดสอบใช้ Tag Heuer Mikrograph เรือนจริงมาแล้ว) พบว่า Defy21 เรือนนี้ดีจริงสมการรอคอยค่ะ

ที่นี้เราจะมาพูดถึงนาฬิกาเรือนนี้กัน :

Zenith Defy21 เรือนที่นำมาทดสอบ เป็นรุ่นตัวเรือนไทเทเนียม เปิดให้เห็นเครื่องข้างในทั้งหน้าและหลัง หรือหลายคนอาจจะเรียกว่า Skeleton ใช้หนังจรเข้ประกบสายยางที่ดูลงตัว บานพับไทเทเนี่ยมที่ตัดด้วยเลเซอร์มาอย่างงดงามและใช้งานได้ดี ตัวเรือนขนาด 44 มม วงกลม Bezel 42.6มม หนา 14.6มม และหนักเพียง 111 กรัม ซึ่งดูแล้วไม่ใหญ่ใช่ไหมคะ แต่จริง ๆ ตัวเรือนจะมีการบังคับมุมสายให้กางออก เท่าที่เราพยายามวัดดูแล้ว ถ้าข้อมือคุณเส้นรอบวงไม่ถึง 16 ซม หรือวัดความกว้างได้ไม่ถึง 5 ซม อาจจะใส่แล้วดูใหญ่ไป แต่ถ้าข้อมือใหญ่กว่านี้ก็ใส่สวยเลยค่ะ

สิ่งที่ประทับใจบนหน้าปัดคือความมิติอย่างแท้จริง เนื่องจากมีการเจาะแท่นเครื่องลงไปเป็นลำดับชั้น เห็นทะลุถึงข้างหลัง และตัวเรือนก็มีความหนาพอที่จะสร้างมิติในการวางชิ้นส่วนต่าง ๆ ให้ความรู้สึกว่ามันไม่ใช่แค่นาฬิกาที่แค่เอาฝาบนกับฝาล่างออก แต่มันมีออกแบบชิ้นส่วน และการวางระดับของชิ้นส่วนอย่างมีขั้นตอน ตั้งแต่ตัวหนังสือยี่ห้อ/รุ่นถูกสกรีนไว้บนแผ่นกระจกแซฟไฟร์ด้านใน แท่งมาร์เกอร์แต่ละชิ้นมีการตัด ขัดแต่ง และปาดมุมอย่างสวยงาม ขอบวงจับเวลา และชิ้นส่วนแท่นเครื่องแต่ละชิ้นได้รับการออกแบบและแยกชิ้นส่วนเล็ก ๆ ออกจากกัน ทำให้ดูมีมิติมากขึ้นไปอีก เมื่อมองจากกระจกตัดแสงสะท้อนขนาด 36มม ต้องบอกว่าถ้าคุณเคยเห็นงาน Zenith รุ่น Chronomaster Full Open เรือนกลมที่ว่าสวยแล้ว ถ้าเอามาวางข้าง ๆ กับ Defy21 แล้วจะรู้สึกได้ทันทีว่า Defy21 ดูเด่นกว่าอย่างเห็นได้ชัด

เรายังไม่ได้พูดถึงจุดสำคัญที่สุดของนาฬิกาเรือนนี้ด้วยซ้ำ ระบบจับเวลาความเร็วระดับ 50 Hertz หรือ 360,000 vph ภายในกลไก EL Primero หลายคนรวมถึงลัดดาเอง ตอนแรกก็คิดว่ามันเป็นแค่ลูกเล่นขำ ๆ ที่มีไว้สร้างจุดขาย แต่ไม่ใช่กับ Defy21 เลยค่ะ เพราะเราก็นึกไม่ออกว่า Zenith แยกกลไกจับเวลา 360,000 vph กับ กลไกเดินเครือง 36,000 vph ได้ยังไง แถมระบบลานก็แยกกัน ภายใต้พื้นที่เล็ก ๆ ของเครือง EL Primero รุ่นใหม่ 9004 ที่ใช้ชิ้นส่วนแค่ 203 ชิ้นเท่านั้น ในขณะที่ EL Primero ดั้งเดิมกลับใช้ชิ้นส่วนถึง 278 ชิ้น ทั้งนี้คงเป็นเพราะนวัตกรรมคอมพิวเตอร์ช่วยในการออกแบบทำให้นาฬิกาจักรกลสมัยใหม่ขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ แต่ก็สามารถทำอะไรที่น่าทึ่งได้มากขึ้นเรื่อย ๆ

Zenith Defy EL Primero 21

เรามีการทดสอบจับเวลาดูจริง ว่าในเข็มจับเวลาสเกล 1/100 ที่ต้องกวาดรอบหน้าปัดเร็วมากถึง 1 รอบต่อ 1 วินาที กับสเกลจับเวลาได้นานสุด 30 นาที ว่าจะใช้งานในการจับเวลาได้จริงถึง 30 นาทีหรือเปล่า ซึงเราต้องอธิบายก่อนว่า ลานของระบบจับเวลาต้องใช้วิธีไขลานให้ระบบก่อน เพราะมันใช้ตลับลานแยกกัน และการไขลานจากขีดแดงจนเต็มด้วยเม็ดมะยมขนาดใหญ่ 9 มม คุณหมุนเพียงไม่ถึง 20 รอบก็ใช้ได้จับเวลาได้ 30 นาทีแล้ว ความประทับใจที่ได้เห็นเข็มวินาทีที่หมุนติ้ว ๆ ด้วยความถี่ระดับ 360,000 vph กับเสียงที่คุณจะไม่เคยได้ยินจากนาฬิกาเรือนไหนแน่นอน ไม่น่าเชื่อว่าเมื่อลานเต็มมันจะสามารถจับเวลาต่อเนื่องได้นานได้จนสุดสเกล 30 นาทีโดยที่คุณไม่ต้องเติมลานลงไปอีกเลย แถมเข็ม Chronograph Power Reserve หรือเข็มบอกระดับพลังงานของระบบจับเวลา ก็มีประโยชน์จริง โดยสเกลที่ให้มาจากระดับเต็มถึงระดับขีดสีแดง จะพอดีกับการจับเวลา 30 นาทีอีกด้วย แต่หลังจากขีดแดง คุณยังสามารถจับเวลาจนหมดลานที่ 54 นาที ซึ่งเป็นเพียงแค่ระยะเวลาที่เขาทำเผื่อไว้เพื่อไม่ให้ลานอ่อนจนขาดความเที่ยงตรงนั่นเอง

อาจมีคนแอบสงสัยว่า แล้วถ้าเราอยากจะไขลานให้กับระบบบอกเวลาปกติ จะทำได้ด้วยหรือเปล่า หรือต้องอาศัยระบบโรเตอร์ของเครื่องออโตเมติกอย่างเดียว ข่าวดีคือ Defy21 คิดไว้หมดแล้วค่ะ คือถ้าคุณหมุนลานตามเข็มนาฬิกา จะเป็นการเติมลานให้ระบบจับเวลา แต่ถ้าคุณหมุนลานทวนเข็มนาฬิกา จะเป็นการเติมลานให้ระบบบอกเวลาปกติ ต้องยอมรับตรงนี้ว่าระบบไขลานของ Defy21 เป็นแนวคิดที่ดีมากจริง ๆ แถมถ้าคุณได้พลิกไปด้านหลังดูการทำงานของโรเตอร์รูปดาวสัญลักษณ์ของ Zenith เอง คุณจะต้องประทับใจในความลื่นสุด ๆ ของโรเตอร์นี้ เพียงแค่คุณแกว่ง.. อย่าเรียกว่าแกว่งดีกว่า แค่ขยับนาฬิกาไปมาเบา ๆ โรเตอร์จะหมุนติ้ว ๆ ราวกับว่ามันไม่ได้ใช้ในการเติมลานใด ๆ ให้ระบบเลย ซึ่งจะต่างกับระบบโรเตอร์ของ Omega พวกเครื่อง 9xxx ซึ่งรายนั้น ถ้าไม่เขย่าจริง ๆ อย่าหวังได้เห็นโรเตอร์หมุน

สิ่งที่เราอดพูดถึงไม่ได้คือปุ่มกลไกจับเวลา Defy21 จะใช้ปุ่มจับเวลาทรงรีขนาดใหญ่ประมาณ 7x2.5 มม ซึ่งตอนกด Start นุ่มมือมาก เข็มวินาทีวิ่งพรวดจากจุด 0.00 วินาทีออกไปราวกับเหนี่ยวไกปืน ตอนกด Stop ที่ปุ่มเดียวกัน ก็ให้ความรู้สึกที่ดี ไม่แข็งจนเกินไป แต่ปุ่มจับเวลาของ Defy21 นี้มีข้อเสียอย่างนึงคือ ระยะการกดอาจจะยาวไปนิดนึงค่ะ ถ้า Zenith จะออกแบบให้ใช้งานได้เหมือนพวกนาฬิกาจับเวลาในวงการกีฬาจริง ๆ ลัดดาคงอยากให้ลดระยะลากของปุ่มลงให้สั้นกว่านี้ ให้เหลือแค่ 1/3 ของปัจจุบันได้ยิ่งดีค่ะ

ความเที่ยงตรงของ Defy21 อยู่ในระดับ Chronometer Certified หรือไม่เกิน 4 วินาทีต่อวัน แถมยังใช้ชิ้นส่วนไฮเทคอย่างเช่นจักรกลอกซิลิคอน และใยสปริงยังทำด้วยคาร์บอนนาโนทูป ซึ่งสามารถทนความอุณหภูมิ หรือสนามแม่เหล็กได้ดีกว่านาฬิกาปกติ แต่จากการที่เราไปแอบเช็ครีวิวระดับฮาร์คอร์อย่าง WatchTime แล้ว เขาบอกว่า Defy21 อาจจะไม่ได้ทนสนามแม่เหล็กระดับ Omega ใหม่ ๆ ซึ่งรับรองกันไปถึง 15,000 Gauss หรือเข้ามาตราฐานระดับ Master Chronometer แล้ว พูดง่าย ๆ Defy21 ไม่ได้กันสนามแม่เหล็กค่ะ

บทสรุป :

พูดได้เลยว่านาฬิกาเรือนนี้น่าสนใจจริง ๆ ค่ะ มันอาจจะไม่ใช่นาฬิกาจักรกลเรือนแรกในโลกที่จับเวลาได้ 1/100 วินาที แต่คุณคงไม่สามารถหาซื้อ Tag Heuer Mikrograph ในราคาน่ารัก ๆ ได้แน่ ๆ จึงน่าจะพูดได้ Defy21 มีระบบจับเวลาที่ดีที่สุดในยุคนี้ ภายใต้ชื่อเสียงอันโด่งดังของ EL Primero อีกเช่นเคย และที่สำคัญคุณเป็นเจ้าของได้จริง ๆ ด้วยราคาค่าตัวพอ ๆ กับ Rolex Submariner Defy21 เป็นนาฬิกาแห่งอนาคตที่ Watch Portal ทุกสำนักจะต้องขอมา Review ซึ่งสิงนี้ย่อมเป็นสัญญาณอนาคตที่ดีของมันเช่นกัน


Comments


Featured Posts
Recent Posts
bottom of page