Masters of Modern Horology – ตำนานบทใหม่แห่งวงการนาฬิกา
การเดินของเวลาล้วนไปข้างหน้า แต่ดูเหมือนนักทำนาฬิกาจะพยายามย้อนไปหาอดีตอยู่เสมอ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะนั่นคือแหล่งข้อมูลและแรงบันดาลใจชั้นยอด อย่างไรก็ตาม หากจะดำเนินตามขนบต่อไปคงไม่มีทางสู้แบรนด์ระดับตำนานที่ก่อตั้งมานับร้อยปีได้ ดังนั้นแล้ว ในบทความนี้ เราจะมาพูดถึงนักทำนาฬิกาสมัยใหม่ที่อายุขัยแบรนด์อยู่ที่ราว ๆ 30 ปี แม้ไม่ได้มีเรื่องราวและประวัติศาสตร์อันยาวนานเพื่อดึงดูดใจ แต่มีการพัฒนานวัตกรรมและฟังก์ชั่นซับซ้อนมาผสมผสานจนได้นาฬิกาที่เป็นตัวแทนของโลกปัจจุบันหรือแม้แต่ปูทางสู่อนาคต
ทั้ง 7 ยอดฝีมือแห่งเรือนเวลาฝั่งยุโรป ถ่ายทอดผลงานชิ้นเอกและนำไปสู่การสร้างแบรนด์ของตัวเอง ถือเป็นแนวหน้าของนาฬิกาสมัยใหม่ เรื่องราวของพวกเขาเริ่มต้น และมีแนวคิดต่อนาฬิกาให้ต่างจากอดีตอย่างไร ไปชมกันเลยค่ะ
1. Michel Parmigiani ผู้ก่อตั้ง Parmigiani Fleurier
Parmigiani Fleurier (พามิจานี โฟลเยร์) เป็นแบรนด์นาฬิกาหรูของสวิสที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1996 โดยมิเชล พามิจานี (Michel Parmigiani) มีหนทางการเข้าวงการคล้ายกับ Franck Muller เพราะเขาก็เป็นนักซ่อมนาฬิกามาก่อน พามิจานีเกิดเมื่อปี 1950 เมืองคูเวต์ (Couvet) รัฐเนอชาแตล (Neuchâtel) สวิสเซอร์แลนด์ แต่พ่อและแม่ของเขาเป็นชาวอิตาลี
ขณะที่กำลังเรียนอยู่ เขาต้องเลือกระหว่างเรียนสถาปัตย์กับการทำนาฬิกา และสุดท้ายพามิจานีก็เลือกอย่างหลังโดยเน้นไปที่การซ่อมแซมบูรณะนาฬิกา หลังเรียนจบเขาก่อตั้งบริษัทรับซ่อมนาฬิกาในปี 1976 ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากคนรอบข้างเพราะเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมนาฬิกาสวิสตกต่ำ หลายคนมองว่านาฬิกาจักรกลกำลังจะหายไป แต่เขายังคงเชื่อและหลงใหลการซ่อมแซมนาฬิกา ที่นำพาเขาไปสู่การทำนาฬิกาที่ใคร ๆ มองว่าล้าสมัย
หนึ่งในผลงานการันตีความสามารถของเขาคือ การซ่อมนาฬิกาตั้งโต๊ะ Breguet Pendule Symathique ที่สถาบันประมูล Sotheby เคยกล่าวว่านี่เป็นนาฬิกาที่ไม่อาจซ่อมได้ เขาใช้เวลาประมาณ 1 ปีในการซ่อม ซึ่งสุดท้ายนาฬิกาตั้งโต๊ะเรือนนี้ก็ขายให้กับ Patek Phillipe Museum
ปี 1980 เขาได้ร่วมงานกับ Sandoz Family Foundation เป็นองค์กรการกุศลครอบคลุมไปถึงศิลปะวัฒนธรรมหลายแขนง องค์กรนี้มีนาฬิกาที่ประเมินค่าไม่ได้อย่าง Collection Edouard และ Maurice Sandoz ซึ่งแน่นอนว่า พามิจานีเป็นผู้ถูกเลือกให้ซ่อมบำรุง นอกจากนี้ทางองค์กรก็ได้สนับสนุนให้เขาสร้างนาฬิกาแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งใช้เวลานานหลายปีทีเดียวกว่าเขาจะตัดสินใจทำ
และสุดท้ายในปี 1996 แบรนด์ Parmigiani Fleurier ก็ถือกำเนิดขึ้น ด้วยความตั้งใจที่จะเป็นแบรนด์ที่เต็มไปด้วยงานฝีมือชั้นเลิศและล้ำสมัย รวมถึงมีบริการซ่อมบูรณะนาฬิกาโบราณ และผลิตชิ้นส่วนให้กับแบรนด์อื่นอีกด้วย หนึ่งคอลเลคชั่นที่ได้รับรางวัลนาฬิกาแห่งปีจากสำนักข่าวญี่ปุ่น คือ Bugatti 370 ที่ปล่อยออกมาปี 2006 ได้รับแรงบันดาลใจมาจากซุปเปอร์คาร์ Bugatti Veyron เพราะทั้งสองบริษัทมีความสัมพันธ์เหนียวแน่นมานาน
อย่างไรก็ตาม ผลงานชิ้นโบว์แดงของแบรนด์นี้คือ Tonda 1950 เป็นผลงานที่ทำเพื่อฉลองครบรอบวันเกิดอายุ 60 ปีของพามิจานีซึ่งเลข 1950 ก็มาจากปีที่เขาเกิด จุดเด่นของรุ่นนี้คือ เป็นนาฬิกาที่บางที่สุดเรือนแรกของแบรนด์ หน้าปัดโชว์หลักขีดแสนเรียบง่าย ออกแบบโดยพามิจานี เปิดตัวครั้งแรกปี 2011 แต่ใช่ว่าจะหยุดแค่นั้น ในปี 2015 เขาใส่ Automatic Flying Tourbillon ที่บางที่สุดในโลกลงไปอีกด้วย ความสูงของทูร์บิญองอยู่ที่ 3.4 มม และยังเบามาก เพราะมีน้ำหนักเพียง 0.255 กรัม คือเทียบเท่าน้ำฝนหนึ่งหยด ถือว่าเป็นความพยายามเอาชนะแรงโน้มถ่วงโลกในรูปโฉมที่บางที่สุดที่เคยมีมา
2. F. P. Journe นักทำนาฬิกาจากฝรั่งเศส
F. P. Journe ย่อมาจาก François-Paul Journe เขาเป็นผู้ก่อตั้งนาฬิกาสวิสระดับไฮเอนด์โดยใช้ชื่อตนเอง เขาเกิดที่เมืองมาร์กเซย (Marseille) ประเทศฝรั่งเศส ในปี 1957 เรียกว่ารุ่นเดียวกันกับ Franck Muller เพราะเกิดห่างกันแค่ปีเดียว
ในวัยเด็ก เขาเป็นเด็กที่ค่อนข้างเกเร จึงถูกส่งตัวไปเรียนที่วิทยาลัยเทคนิคท้องถิ่นเมื่ออายุ 14 ปี และเขาจบการศึกษาจากโรงเรียนช่างทำนาฬิกาในปารีสในปี 1976 จากนั้น 10 ปีถัดมาเขาจึงไปเปิดสตูดิโอของตนเองและเข้าร่วม AHCI ซึ่งเป็นเครือข่ายของนักทำนาฬิกาอิสระ
หลังจากที่เขามาตั้งถิ่นฐานที่สวิสเซอร์แลนด์ ด้วยความสนใจในการสร้างนาฬิกาจักรกลชั้นสูง เขาเป็นคนแรกที่นำทูร์บิญองและ Remontoire หรือกลไกสร้างแรงบิดคงที่ใส่ลงในนาฬิกาข้อมือ Tourbillon Souverain ในปี 1991 ที่ต้องนำสองนวัตกรรมนี้มาใช้เพราะ Remontoire สามารถรักษาแรงบิดจากตลับลานให้คงที่ และทูร์บิญองก็ปกป้องจักรกลอกจากแรงโน้มถ่วง กลไกจึงยิ่งเสถียรและเดินเที่ยงตรง
ไม่นานนักเขาย้ายไปอยู่เจนีวา และเริ่มตระหนักว่าความฝันของเขาคือการผลิตนาฬิกาของตนเอง จึงก่อตั้งบริษัท F. P. Journe Invenit et Fecit ในปี 1999 และเปิดตัวนาฬิกา Resonance chronometer และ Tourbillon avec Remontoir d’Egalité ในงาน Basel World โดยยึดถือคติของแบรนด์คือ Invenit et Fecit หรือ ‘สร้างสรรค์และลงมือทำ’ เขาโดดเด่นและจัดเป็นนักประดิษฐ์นาฬิกาที่น่าจับตามองมากที่สุดคนหนึ่ง จนเมื่อไม่นานมานี้ ในปี 2018 Chanel ได้ซื้อหุ้นบริษัทเขาไปถึง 20%
3. Philippe Dufour นักทำนาฬิกาอิสระ
เขาเกิดในปี 1948 ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในปรมาจารย์ในการทำนาฬิกาสมัยใหม่ ปี 1992 ฟิลิปส์ ดูโฟร์ (Philippe Dufour) เป็นคนแรกที่ใส่ฟังก์ชันซับซ้อนที่สุดอย่าง Sonnerie (การสร้างเสียง) ลงในนาฬิกาข้อมือ และเขาประดิษฐ์นาฬิกาทุกเรือนด้วยมือของเขาเอง
ดูโฟร์ตอนอายุ 15 ตัดสินใจเลือกสายอาชีพแทนสายวิชาการ โดยเลือกเรียนกลศาสตร์หรือกลไกจักรกล เมื่อจบการศึกษาในปี 1967 เริ่มแรกเขาเข้าทำงานที่ Jaeger-LeCoultre (เจยเจอ-ลาคูลต์) เป็นบริษัทผลิตนาฬิกาหรู
หลังจากทำงานให้กับบริษัทนาฬิกามากมาย ในปี 1978 เขาอุทิศเวลาในการซ่อมนาฬิกา และเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ เพิ่มเติม แม้แต่ Audemars Piguet ก็ยังสั่งทำกลไก Sonnerie สำหรับนาฬิกาพก 5 ชิ้นจากดูโฟร์และเริ่มโปรเจคนี้ตั้งแต่ปี 1982 เมื่อจบงานนี้ เขาผันตัวมาเป็นนักทำนาฬิกาอิสระและเปิดตัวนาฬิกาของเขาภายใต้แบรนด์ชื่อตนเองที่งาน Basel Worlds 1992
นอกจากนาฬิกาข้อมือที่มี Sonnerie แล้ว เขาได้เปิดตัว Duality ในปี 1996 ซึ่งมีจักรกลอกถึง 2 ชิ้น ดูโฟร์กล่าวว่าแนวคิดพื้นฐานของรุ่นนี้ คือ การเฉลี่ยอัตราความถี่ของจักรกลอกเพื่อกำจัดความคลาดเคลื่อนของกันและกัน เป็นการเพิ่มความเสถียรและเที่ยงตรง ซึ่งมีแค่ 9 เรือนเท่านั้น และอย่างในปี 2000 เขาก็มีผลงานชิ้นใหม่อย่าง Simplicity โดยจะทำขึ้นราว ๆ 200 เรือน มีหน้าปัดเรียบง่ายแต่สะท้อนถึงนาฬิกาสวิสต้นตำรับ จากภาพจะสังเกตุว่าหน้าปัดทั้งสองรุ่นคล้ายกัน วิธีแยกคือ ดูที่หน้าปัดย่อย หากอยู่ตรง 6 นาฬิกาจะเป็น Simplicity แต่ถ้าอยู่เยื้องออกไปทาง 8 นาฬิกา คือ Duality
สิ่งน่าสนใจของชีวิตเขาอีกอย่างคือ เขาใส่นาฬิกาแค่ 2 เรือนเท่านั้น คือ Datograph ของ A. Lange & Söhne และ Rolex GMT-MASTER II ref.126710 ค่อนข้างน่าแปลกที่เขาเลือกใส่สองเรือนนี้ แทนที่จะเป็นนาฬิกาที่เขาสร้างขึ้นเอง
4. Christophe Claret ผู้ผลิตฟังก์ชั่นซับซ้อนให้กับหลายแบรนด์
คริสโตฟ คลาเร็ต (Christophe Claret) เกิดที่เมืองลียง (Lyon) ประเทศฝรั่งเศส ในปี 1962 สิ่งที่ต่างจากนักทำนาฬิกาคนอื่นคือ คลาเร็ตเกิดในครอบครัวที่ร่ำรวย เขาเข้าเรียนที่ Geneva Watchmaking School ในปี 1978 และในขณะเดียวกันก็เปิดร้านทำนาฬิกาของตัวเองไปด้วย เมื่อเขาจบการศึกษาในฐานะช่างทำนาฬิกาในปี 1982 เขาได้ประกาศนียบัตรซึ่งมอบให้เฉพาะนักเรียนที่เก่งที่สุดเท่านั้น จากนั้น คลาเร็ตก็กระตือรือร้นที่จะพัฒนาความรู้ใช้เวลา 10 เดือนกับโรเจอร์ ดูบิส (Roger Dubuis) ช่างทำนาฬิกาที่มีความสามารถซึ่งเขาได้พบระหว่างการฝึกอบรม ในช่วงเวลานี้เขาได้เรียนรู้มากมายจากการทำงานกับนาฬิกาที่มี Perpetual Calendar
เขาก่อตั้งบริษัทของตนเองในปี 1987 และในงาน Basel ปีนั้นรอล์ฟ ชไนเดอร์ (Rolf Schnyder) เจ้าของคนใหม่ของแบรนด์ Ulysse Nardin (ยูลีส นาร์แด็ง) ได้สั่งซื้อเครื่อง Minute-repeater จำนวน 20 เครื่องจาก คลาเร็ตนับเป็นการเริ่มต้นอาชีพของเขาในฐานะช่างทำนาฬิกาอย่างงดงาม เพราะชไนเดอร์ไม่เคยสั่งซื้อชิ้นส่วนจากคนอื่นมาก่อน
2 ปีหลังจากนั้น เขาร่วมหุ้นกับโดมินิค โคโนด์ (Dominique Renaud) และ โจลิโอ ปาปิ (Giulio Papi) ก่อตั้งบริษัทผลิตนาฬิกาโดยตั้งชื่อตามอักษรตัวแรกของนามสกุลแต่ละคนเป็น “RPC” แต่สุดท้ายก็ไปกันไม่รอด ในปี 1991 เขาตัดสินใจซื้อหุ้นจากทั้งสองคืนแล้วเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Christophe Claret SA
ภายในปี 2009 คลาเร็ตมีชื่อเสียงในฐานะช่างทำนาฬิกาที่เชี่ยวชาญด้าน Grand Complication และตัดสินใจที่จะนำเสนอนาฬิกาเรือนแรกของเขาในชื่อ Dual Tow มีจุดเด่นเป็นเกียร์ที่ควบคุมการจับเวลา หน้าตาประหลาดคล้ายสายฟ้าเพราะมีหลายแขน มีเสียงทุกครั้งที่ขยับเพื่อเป็นการแสดงจุดเด่นเรื่อง Minute Repeater ของ คลาเร็ตมาพร้อมทั้งสายหนังจระเข้และสายยาง หน้าปัดแต่ละเรือนต่างกันตามความต้องการของลูกค้า
5. Maximilian Busser and Friends มิตรภาพแห่งนาฬิกา
Maximilian Busser and Friends (แม็กซิมิเลียน บัซเซอร์ แอนด์ เฟรนด์) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า MB&F เป็นแบรนด์นาฬิกาสัญชาติสวิสที่ก่อตั้งโดยแม็กซิมิเลียน บัซเซอร์ (Maximilian Busser) ในเดือนกรกฎาคม 2005 ตั้งอยู่ที่เจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
แม้จะเป็นนาฬิกาสวิส แต่แท้จริงแล้ว บัซเซอร์เกิดที่มิลาน อิตาลี ในปี 1967 ในขณะที่เรียนอยู่ เขาค้นพบตัวเองในวัย 22 ปีว่าหลงใหลกับการทำนาฬิกา ปีถัดมาเขาดรอปเรียนเพื่อไปเป็นทหารแต่เจอเหตุการณ์เฉียดตายในอุบัติเหตุรถคว่ำ น่าแปลกใจกว่าเดิมเมื่อสิ่งแรกที่เขาทำหลังออกจากโรงพยาบาลที่รักษาตัวได้ 6 สัปดาห์ คือไปซื้อนาฬิกา Ebel Chronograph สาย Steel ทุกคนเอาแต่ถามว่าซื้อทำไมเพราะฐานะไม่ได้ร่ำรวยแต่ บัซเซอร์มองว่านี่คือการเฉลิมฉลองแด่การรอดชีวิต
เขาเรียนจบปริญญาโทสาขาวิศวกรรมไมโครเทคโนโลยี และโชคชะตานำพาให้เขาพบเจอกับ CEO ของ Jaeger-LeCoultre ที่เสนอให้เขามาทำงานด้วยกัน ซึ่ง ณ เวลานั้นเป็นแค่บริษัททำนาฬิกาขนาดเล็กที่พยายามฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์ควอทซ์ สิ่งที่เปลี่ยนใจบัซเซอร์ให้มาทำงานด้วยได้ คือประโยคที่ว่าจะทำงานท่ามกลางคน 200,000 คน หรือเป็นหนึ่งในทีมเล็ก ๆ 4-5 คนเพื่อกอบกู้อุตสาหกรรมนาฬิกาสวิส และบัซเซอร์ทำงานที่นั่นเป็นเวลา 7 ปี
ต่อมา เขาทำงานและได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการของ Harry Winston Rare Timepieces ในปี 1998 ขณะที่อายุเพียง 31 ปี ในช่วง 7 ปีที่เขาอยู่ที่นั่นเขาได้เปลี่ยนบริษัทให้มีชื่อเสียงและเป็นที่เคารพนับถือ นอกจากนี้ เขามีมุมมองเรื่องเพื่อนและการช่วยเหลือเป็นสิ่งสำคัญ ย้อนไป 20 กว่าปีก่อน ในวันที่ F.P. Journe (เอฟ.พี.ฌวน) เปิดตัวนาฬิกาตนเองแต่ไม่เป็นที่รู้จัก บัซเซอร์จึงเสนอว่า เขาในนามของ Harry Winston ควรทำอะไรบางอย่างร่วมกัน จึงเกิดนาฬิกา Opus เพื่อบอกให้โลกรู้ว่าฌวนวิเศษและมีพรสวรรค์มากแค่ไหน ซึ่งโปรเจคนี้ได้มอบเมล็ดพันธุ์ความคิดให้แก่บัซเซอร์ที่จะสร้างแบรนด์ของตนเอง
สุดท้ายในปี 2005 เขาลาออกจาก Harry Winston และก่อตั้งบริษัท MB&F ภายใต้แนวคิดการมองพนักงานและคู่ค้าว่าเป็น “เพื่อน” ที่จะร่วมกับสร้างศิลปะผ่านกลไกนาฬิกา โดยรวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตร์ต่าง ๆ ซึ่ง บัซเซอร์ให้ความเคารพและสนุกกับการทำงานกับพวกเขา
มี 2 คอลเลคชั่นที่ตราตรึงใจและโดดเด่นจากแบรนด์นี้ รุ่นแรกคือ Legacy Machine เป็นสิ่งประดิษฐ์แทนคำขอบคุณแด่นักทำนาฬิกาในศตวรรษที่ 18 และ 19 ซึ่ง บัซเซอร์นับถือในความชาญฉลาด หน้าตาแต่ละรุ่นคล้ายกันที่กระจกใสโค้งนูนครอบกลไกอย่างจักรกลอกที่ลอยเด่น ตัดกับสีหน้าปัดเขียว น้ำเงิน หรือม่วงตามแต่รุ่นไป ต่างจาก Horological Machines ที่เป็นรุ่นที่แสดงถึงความล้ำสมัย รูปโฉมไม่คุ้นตาได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งของนับไม่ถ้วน เช่น รถและเครื่องบิน สะท้อนถึงศิลปะแห่งโลกอนาคตได้อย่างดี รุ่นที่โดดเด่นในไลน์ Horological คือ HM7 Aquapod Ti Green เพราะได้รับแรงบันดาลใจจากแมงกระพรุน มีทูร์บิญองลอยอยู่กลางหน้าปัดถูกครอบด้วยกระจกทรงโดม เลขชั่วโมงและนาทีอยู่วงแหวนชั้นใน ขอบ bezel แยกออก ไม่ได้เชื่อมกับตัวเรือน นอกจากนี้ รุ่นสีเขียวมีเพียงแค่ 50 เรือนเท่านั้น
6. Greubel Forsey สองเพื่อนเกลอจุดมุ่งหมายเดียวกัน
Greubel Forsey เป็นบริษัทผลิตนาฬิการะดับไฮเอนด์ที่เน้นเรื่องฟังก์ชั่นซับซ้อน ก่อตั้งในปี 2004 โดยโรเบิร์ต กราเบล (Robert Greubel) และสตีเฟน ฟอร์ซีย์ (Stephen Forsey) ตั้งอยู่ที่ลา โช-เดอ-ฟง (La Chaux-de-Fonds) ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และในปีนั้นก็เปิดตัว Double Tourbillon 30 ° (DT30 °) Vision/Secret DT30 ° ซึ่งมีกงล้อทูร์บิญองเอียง 30 องศาหนึ่งตัว หมุน 1 ครั้ง/นาที อยู่ภายในทูร์บิญองอีกตัวที่หมุนครบรอบใน 4 นาที บริษัทกล่าวว่าการทำเช่นนี้จะช่วยเฉลี่ยแรงและลดผลกระทบที่เกิดจากแรงโน้มถ่วงตรงจักรกลอก ความต่างของรุ่น Vision คือเน้นเปิดเครื่องให้มองเห็นนวัตกรรมภายใน ขณะที่ Secret หน้าปัดจะปิดแต่เปิดให้เห็นกลไกด้านหลัง
สำหรับโรเบิร์ต กราเบล เขาเป็นชาวฝรั่งเศส คลุกคลีกับวงการนี้เพราะพ่อเป็นช่างทำนาฬิกาซึ่งมีร้านค้าของเป็นตนเองชื่อว่า Greubel Horlogerie หลังจากทำงานกับพ่อสักระยะ ในปี 1987 Greubel ก็ย้ายไปสวิตเซอร์แลนด์เพื่อเข้าร่วมกับ International Watch Company (IWC) ซึ่งเขาช่วยพัฒนา Grand Complication 3 ปีต่อมา เขาย้ายไปทำงานกับ Renaud & Papi SA (ปัจจุบันคือ Audemars Piguet Renaud & Papi SA) ในฐานะผู้สร้างกลไกซับซ้อนและก้าวขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการ แล้วกลายมาเป็นหุ้นส่วนภายหลัง
ด้านฟอร์ซีย์ เขาเป็นหนุ่มอังกฤษ ได้รับแรงบันดาลใจมากจากพ่อที่ชื่นชอบจักรกลและวิศวกรรม ตั้งแต่ปี 1987-1992 เขาเชี่ยวชาญในการบูรณะนาฬิกาโบราณและกลายเป็นหัวหน้าฝ่าย Watch Restoration ที่ Asprey’s ในลอนดอน แล้วจึงเข้าเรียนหลักสูตรระยะสั้น 10 เดือนที่โรงเรียนช่างทำนาฬิกา WOSTEP ใน Neuchâtel เพียง 2 ปีเขาก็ได้เข้าทำงานที่เดียวกับกราเบลที่ Renaud & Papi SA และทั้งสองทำงานในแผนกเดียวกัน
ในวันที่ Greubel Forsey ก่อตั้งอย่างเป็นทางการ พวกเขามีบทบาทเสริมกันอย่างสมบูรณ์แบบ กราเบลให้ความสำคัญกับการออกแบบและความสร้างสรรค์ ในขณะที่ฟอร์ซีย์ถนัดด้านเทคนิค เพราะมีวิสัยทัศน์เดียวกันและการประดิษฐ์ Double Tourbillon 30 ° สำเร็จ พวกเขาจึงยิ่งมั่นใจว่ามาถูกทางแล้ว ส่งผลให้บริษัท Greubel Forsey เชี่ยวชาญในการออกแบบและผลิตนาฬิการะดับไฮเอนด์ซึ่งมักจะมีพื้นฐานมาจาก Tourbillon Escapement
7. Laurent Ferrier
Laurent Ferrier (โรคอร์ก แฟคิเยร์) เกิดปี 1946 เป็นลูกหลานของช่างทำนาฬิกาจากเมืองเนอเชาแตล (Neuchatel) สวิตเซอร์แลนด์ เขาเข้าเรียนที่โรงเรียนทำนาฬิกา แล้วทำงานกับ Patek Philippe ถึง 30 กว่าปีหลังเรียนจบ ระหว่างที่ทำอยู่ที่นี่แฟคิเยร์ได้ร่วมทำงานในการประดิษฐ์ Nautilus นำโดยนักออกแบบนาฬิกาชื่อดังเจอรัลด์ เจนต้า (Gérald Genta)
นอกเหนือจากความสนใจในนาฬิกา เขายังเป็นนักแข่งรถอีกด้วย หลังจากสั่งสมประสบการณ์จากการทำงานที่ Patel Philippe มานาน เขาจึงก่อตั้งบริษัทภายใต้ชื่อของเขาเองในปี 2010 โดยมีลูกชาย คริสเตียน แฟคิแยร์ (Christian Ferrier) และเพื่อนนักแข่งรถ ฟรังซัวร์ เซอแวนนา (Francois Servanin) เข้าร่วมด้วย
ตัวเรือธงของแบรนด์คือตระกูล Galet หรือ "Pebble" เป็นภาษาฝรั่งเศส อธิบายถึงลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ที่ถึงจะใส่ฟังก์ชั่นซับซ้อนลงไปแค่ไหน หน้าปัดก็ยังคงดูเรียบง่าย และคลาสสิคเช่นเดิม
รุ่นที่ถือเป็นมาสเตอร์พีซอย่าง Galet Classic Tourbillon Double Spiral ใช้ทูร์บิญองที่มีเกลียวคู่ เคลื่อนไหวเป็นจังหวะเดียวกัน ติดตั้งอยู่ตรงกันข้ามเพื่อกำจัดความคลาดเคลื่อนของเวลา ด้านหลังตัวเรือนเปิดให้เห็นกลไก แถมหน้าปัดเคลือบ Enamel ซึ่งเป็นวัสดุที่เปราะและแตกหักง่าย แต่ก็ทำออกมาได้งดงามและปราณีต
ทั้ง 7 คนนี้คือแนวหน้าของผู้ผลิตนาฬิกาที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน ซึ่งจริง ๆ แล้วจะเห็นว่าจุดร่วมของนักทำนาฬิการุ่นใหม่คือการทำงานกับบริษัทชั้นนำก่อน จนออกมาก่อตั้งแบรนด์ของตัวเอง แต่สิ่งที่ทำให้พวกเขาแตกต่างและมีเอกลักษณ์คือแต่ละคนมีแนวคิด สิ่งที่ถนัด และการมองภาพของนาฬิกาในทิศทางที่แตกต่างกัน นี่คือคุณค่าและเสน่ห์ของผู้ผลิตนาฬิกาสมัยใหม่ ที่รอให้เวลาเป็นตัวถักทอเรื่องราวและสร้างประวัติศาสตร์จนกลายเป็นตำนานบทใหม่ของวงการ
อ้างอิง
Comments