Non-Rolex Deepsea : Part 2 ผจญภัยใต้ทะเลสู่ความลึกระดับ 2,000 เมตร+
สืบเนื่องจากตอนที่แล้ว Non-Rolex Deep Sea Part 1: นาฬิกาดำน้ำลึก ไม่ได้มีแค่ Rolex เราก็ได้พาทุกคุณนั่งไทม์แมชชีนย้อนดูนาฬิกาดำน้ำในตำนานตั้งแต่ปี 1964 ที่มีขีดความสามารถในการกันน้ำที่ความลึกถึง 1,000 เมตรขึ้นไป นาฬิกาเหล่านั้นเป็นเครื่องพิสูจน์นวัตกรรมแห่งการคิดค้น และความต้องการเอาชนะของมนุษย์ ซึ่งไม่ใช่มีแค่เพียง Rolex เท่านั้นที่ผลิตนาฬิกาที่มีความสามารถในการดำน้ำลึกออกมาได้ Rolex ที่เคยขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ผลิตนาฬิกาเจ้าแรกและเจ้าเดียวที่มีโอกาสแสดงสมรรถนะและความเชี่ยวชาญด้านการผลิตนาฬิกากันน้ำโดยการส่งนาฬิกาไปทดสอบใต้ทะเลที่มีความลึกมากกว่า 10,000 เมตร ถึง 2 ครั้งด้วยกัน แต่แล้วสถิตินั้นก็ได้ถูกโค่นโดยแบรนด์นาฬิกาที่ครองตำแหน่งเจ้าของนาฬิกาข้อมือเรือนแรกที่ได้เดินทางไกลกว่า 384,400 กิโลเมตรจากโลกไปยังดวงจันทร์ แต่ภายใต้บทความนี้ นอกจากเราจะเดินทางผ่านกาลเวลา กลับไปเริ่มตั้งต้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นไป ขีดความสามารถในการกันน้ำของนาฬิกาในสหัสวรรษใหม่นี้ก็ต้องไปไกลยิ่งกว่าเดิมค่ะ
Sinn U2 S (EZM 5) Y2008
ความสามารถกันน้ำ: 2,000 เมตร (6,600 ฟุต)
ขนาดตัวเรือน: 44 มม.
ราคาประมาณ: 99,280 บาท (ราคาขึ้นอยู่กับวัสดุสาย)
เราขอเปิดแคตตาล็อกด้วยนาฬิกาดำน้ำจาก Sinn ที่กันน้ำได้ที่ความลึกระดับ 2,000 เมตร (6,600 ฟุต) Sinn อาจจะเป็นแบรนด์นาฬิกาที่ไม่ได้รับความสนใจมากเท่าไหร่ เพราะเป็นแบรนด์นาฬิกาสัญชาติเยอรมัน ก่อตั้งขึ้นที่แฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนีตั้งแต่ปี 1961 นาฬิกาดำน้ำจาก Sinn ที่เราจะแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกันวันนี้อัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีมากมายไม่แพ้นาฬิกาแบรนด์ดังเลยค่ะ
Sinn U2 S Ref. 1020.020 มีตัวเรือนสีดำขนาด 44 มม. ทำขึ้นจากวัสดุที่มีความแข็งแรงสูง คือ เหล็กสำหรับก่อสร้างยานดำน้ำ (Submarine Steel) พัฒนาขึ้นโดย ธิสเซ่นครุปป์ (ThyssenKrupp) กลุ่มบริษัทข้ามชาติสัญชาติเยอรมัน เป็นหนึ่งในผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดของโลก ผลิตสินค้าหลายประเภท ตั้งแต่ชิ้นส่วนและระบบของอุตสาหกรรมยานยนต์, ลิฟต์และบันไดเลื่อน หรือแม้กระทั่งเหล็กสำหรับประกอบเรือดำน้ำ เหล็กเกรดพิเศษนี้ที่ใช้ผลิต Sinn U2 ธิสเซ่นครุปป์คิดค้นขึ้นมาเพื่อเป็นวัสดุสำหรับสร้างเกราะภายนอกของ “Type 212 Class” ยานดำน้ำปราศจากอาวุธนิวเครียร์ของกองทัพเรือเยอรมัน เหล็กชนิดนี้มีความแข็งมากกว่า 1.55 เท่า เมื่อเทียบกับเหล็กทั่วไปที่มักใช้ในการผลิตนาฬิกา เช่น เหล็ก AISI 316L แถมยังมีความสามารถในการต้านทานแรงแม่เหล็ก แต่อีกหนึ่งคุณสมบัติพิเศษของเหล็กชนิดนี้คือ “ความทนทานต่อสภาวะน้ำทะเล” ต่างจากเหล็กทั่วไป ที่ควรไปล้างน้ำเปล่าหลังจากผ่านการใช้งานใต้ทะเล และไม่ควรใช้งานในน้ำทะเลเป็นเวลานานมากจนเกินไป เนื่องจากนาฬิกาอาจถูกกัดกร่อนเมื่อสัมผัสกับน้ำเค็มโดยตรงเป็นเวลานาน
ตัวเรือนและขอบของนาฬิกาใช้เทคนิคการเคลือบแข็ง (Black Hard Coating) บนพื้นผิวที่ผ่านเทคโนโลยี Tegiment เทคโนโลยีนี้เป็นกระบวนการที่ทำให้พื้นผิวของวัสดุต่างๆ เช่น เหล็กหรือไทเทเนียม แข็งขึ้นกว่าเดิม ดูจากโครงสร้างตามภาพด้านบน เราสามารถเห็นได้ว่าโครงสร้างพื้นผิวของตัวเรือนนาฬิกา Sinn U2 มีอยู่ 3 ชั้นด้วยกัน
1. ฐาน (Base Material): ฐานด้านล่างสุดคือวัสดุตัวเรือนและขอบของนาฬิกาที่ทำขึ้นจากเหล็กผลิตยานดำน้ำ (Submarine Steel)
2. พื้นผิวที่ผ่านการทำให้แข็งตัว (Tegimented Surface):เป็นเรื่องธรรมดามากที่นาฬิกาอาจจะกระแทกกับหินหรืออุปกรณ์ระหว่างการปฏิบัติภารกิจดำน้ำ หรือการใช้งานนาฬิกาในชีวิตประจำวัน จนเกิดรอยขีดข่วน Sinn จึงเลือกใช้เทคโนโลยีการทำให้วัสดุแข็งตัวที่เรียกว่า “Tegiment Hardening Technology” คำว่า Tegiment มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน “Tegimentum” ที่แปลว่า “หลังคา” เนื่องจากเทคโนโลยีนี้เป็นการทำให้พื้นผิววัสดุมีความแข็งตัวมากขึ้น ไม่ใช่การใช้วัสดุอื่นใดเคลือบเพิ่มเติมลงไปบนพื้นผิว พูดง่ายๆคือการทำให้ฐานชั้นแรกของเราที่มีอยู่แล้ว (Base Material) แข็งตัวมากยิ่งขึ้น พื้นผิวที่ผ่านกระบวนการนี้เป็นเกราะป้องกันรอยขีดข่วนที่มีประสิทธิภาพยิ่งกว่าความแข็งเดิมของตัวฐานหรือตัวเรือนนาฬิกา
แถมพื้นผิวที่ผ่านเทคโนโลยี Tegiment เป็นตัวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการเคลือบชั้นด้านนอกสุดที่เราจะกล่าวถึงในข้อถัดไปค่ะ วัสดุที่ถูกเคลือบลงไปที่ชั้นบนสุดของตัวเรือนมีความแข็งเป็นพิเศษ หากใช้เคลือบลงไปโดยตรงบนฐานด้านล่างสุด ที่ยังคงมีความอ่อนตัวเล็กน้อย (หากไม่ได้ผ่านการทำให้แข็งตัวโดยเทคโนโลยี Tegiment) เมื่อความแข็งของวัสดุเคลือบและฐานเกิดการเปลี่ยนแปลงที่กระทันหัน เนื่องจากอาจจะโดนความร้อนอุณหภูมิสูงหรือสภาวะอื่นๆ จนกระทั่งฐานอ่อนตัวลงและไม่สามารถซัพพอร์ตสารเคลือบด้านบนสุดได้ ส่งผลให้เปลือกแข็งด้านนอกที่ได้เคลือบลงไปเกิดการแตกออกเป็นแผ่นๆ ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า “Eggshell Effect” ซึ่งฐานด้านล่างสุดเปรียบเป็นไข่ขาวและไข่แดงด้านในที่เป็นของเหลว มันไม่มีความสามารถมากพอที่จะรองรับเปลือกไข่ที่เป็นตัวแทนของสารเคลือบแข็งด้านนอกของเราได้ แต่การใช้เทคโนโลยี Tegiment สามารถช่วยลดแน้วโน้มที่จะเกิดปัญหานี้ได้ค่ะ
3. วัสดุเคลือบแข็งสีดำ (Black Hard Coating): ชั้นด้านบนสุดนี้เป็นการเคลือบโดยการใช้เทคนิคการตกตะกอนของไอสสาร ที่ได้มาโดยวิธีการทางฟิสิกส์ (PVD - Physical Vapour Deposition) เป็นเทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรมผิววัสดุ เพื่อสังเคราะห์ฟิล์มบาง โดยการพ่นไอที่เกิดจากโลหะชนิดหนึ่งลงบนพื้นผิววัสดุจนเกิดเป็นการเคลือบ กระบวนการนี้ช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับพื้นผิววัสดุหรือตัวเรือนนาฬิกา อย่างไรก็ตาม ถึงแม้สารเคลือบนี้จะเป็นความแข็งแรงค่อนข้างสูง แต่หากมันถูกกระทบกับสิ่งของที่มีความแข็งสูงกว่าอย่างรุนแรง วัสดุเคลือบแข็งของเราก็สามารถเกิดความเสียหายได้เช่นกันค่ะ
มาต่อกันที่ เทคโนโลยีการลดความชื้น (Ar-Dehumidifying Technology) คือ แคปซูลที่ช่วยให้ภายในตัวเรือนนาฬิกาคงสภาพแห้ง ไร้ความชื้นได้เป็นอย่างดี จึงไม่สามารถเกิดไอฝ้าจากความชื้นภายในตัวเรือน ที่ทำให้ผู้สวมใส่อ่านเวลาได้ยาก แถมแคปซูลนี้ยังสามารถช่วยแก้ไขปัญหาการเสื่อมสภาพของน้ำมันหล่อลื่นในเครื่องภายในของนาฬิกากลไกอีกด้วย เนื่องจากความชื้นที่เป็นภัยต่อความเที่ยงตรงของกลไกภายในได้ถูกทำลายโดยแคปซูลดังกล่าว พูดง่ายๆ คือ การที่นาฬิกาแห้งปราศจากความชื้น เป็นการรักษาสภาพของน้ำมันหล่อลื่นภายในกลไกได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้ตัวเครื่องสึกหรอได้ยากขึ้น มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้นนั้นเองค่ะ แคปซูลประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ
1. แคปซูล: ชิ้นส่วนแคปซูลที่หน้าตาคล้ายกับตะปูทำขึ้นจากไทเทเนียม ภายในแคปซูลบรรจุด้วยสารคอปเปอร์ซัลเฟต ผงสีฟ้าอมขาว ที่มีหน้าที่เป็นตัวดูดซับความชื้นของอากาศภายในตัวเรือนหรือความชื้นที่ซึมเข้ามาจากภายนอก แคปซูลนี้ถูกปิดปากด้วยคริสตัลแซฟไฟร์ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถสังเกตเห็นได้ถึงสีฟ้าของแคปซูลที่อาจจะเปลี่ยนไป สีของสารนี้จะเปลี่ยนจากสีฟ้าอมขาวที่ซีดไปสู่เฉดสีที่เข้มขึ้น เมื่อแคปซูลถูกกับความชื้นเป็นเวลานาน เฉดสีที่เปลี่ยนไปสามารถบ่งบอกได้ถึงความอิ่มตัวหรือระดับความชื้นภายในตัวเรือน (Capsule Saturation Level) เมื่อสีฟ้าของแคปซูลถึงจุดที่เข้มสุดแล้ว ทางเราคาดว่าผู้ใช้อาจต้องนำนาฬิกาไปเปลี่ยนชิ้นส่วนนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซับความชื้นของสารคอปเปอร์ซัลเฟตที่อยู่ภายในให้สามารถดูดความชื้นได้ดีดังเดิม Sinn มักจะติดตั้งแคปซูลนี้ไว้บนหน้าปัดที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกา เหมือนใน Sinn U2 S รุ่นนี้, ด้านข้างของตัวเรือน และ ที่ขานาฬิกา และทางแบรนด์จะประทับสัญลักษณ์ “Ar” หากนาฬิกาเรือนใดมีเทคโนโลยีแคปซูลลดความชื้น (Ar-Dehumidifying Technology)
2. ชิ้นส่วนอุดกันรั่ว (EDR Seals): องค์ประกอบถัดมา คือ ชิ้นส่วนอุดกันรั่ว EDR (Extreme Diffusion-Reducing Seals) ซึ่งตามภาพก็คือยางกันน้ำชนิดพิเศษ รวมถึงชุด O-Ring สำหรับปุ่มต่าง ๆ ที่ช่วยในการลดก๊าซภายนอกและภายในตัวเรือนสามารถซึมเข้า-ออกได้ จึงช่วยลดความชื้นที่สามารถเข้ามาภายในตัวเรือนได้อีกด้วย ชิ้นส่วนอุดกันรั่วนี้สามารถป้องกันตัวเรือนภายในจากอากาศภายนอกและความชื้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าชิ้นส่วนอุดกันรั่วของนาฬิกาทั่วไปที่มักจะทำขึ้นจากยางไนไตรล์
3. ก๊าซป้องกัน: ภายในตัวเรือนอง Sinn U2 บรรจุด้วยก๊าซไนโตรเจน การมีก๊าซในโตรเจนอยู่ภายใน ทำให้ความชื้นแทรกซึมเข้าสู่ตัวเรือนได้ยากมากขึ้น
อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่เป็นเอกลักษณ์ของ Sinn คือ ความสามารถในการทนทานต่ออุณหภูมิที่สูงและต่ำ อุณหภูมิเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อความเที่ยงตรงและอายุการใช้งานของตัวเครื่องภายในนาฬิกา เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงและต่ำนี้มีผลต่อความหนืดของน้ำมันหล่อลื่นที่ถูกประกอบไว้ภายในกลไก เพื่อทำให้ชิ้นส่วนต่าง ๆของตัวเครื่องสามารถทำงานได้ไหลลื่นอย่างเต็มประสิทธิภาพ เมื่อน้ำมันหล่อลื่นชนิดทั่วไปต้องเจอกับอุณหภูมิสูง ความหนืดของน้ำมันหล่อลื่นจะลดลง ในทางตรงกันข้าม อุณหภูมิที่ต่ำหรืออากาศเย็นจัดทำให้น้ำมันหล่อลื่นมีความหนืดมากขึ้น เมื่อน้ำมันหล่อลื่นยิ่งหนืด แรงเสียดทานจะยิ่งเพิ่มขึ้นไปทั่วทั้งกลไก ส่งผลให้เครื่องภายในนาฬิกากวัดแกว่งหรือทำงานด้วยความถี่ที่ช้าลง ผลเสียที่ตามมาคือ ความแม่นย้ำเที่ยงตรงของนาฬิกาจะลดลงไปเรื่อย ๆ นาฬิกาบางเรือนถึงกับหยุดเดินไปอย่างดื้อๆเมื่อต้องเจอกับอุณหภูมิต่ำเลยจุดเยือกแข็ง และแรงเสียดทานที่สูงมากขึ้นยังทำให้ชิ้นส่วนภายในนาฬิกาสึกหรอได้ง่ายขึ้น จนอายุการใช้งานสั้นลงอีกด้วยค่ะ
Sinn จึงแก้ไขปัญหานี้โดยน้ำมันหล่อลื่นชนิดพิเศษ “Sinn-Special Oil 66-228” ที่รักษาความหนืดได้อย่างคงที่ ด้วยความที่น้ำมันหล่อลื่นชนิดนี้มีความหนืดตัวต่ำมาก ส่งผลให้นาฬิกาสามารถเดินได้อย่างเที่ยงตรงแม้ต้องเผชิญกับอุณหภูมิเย็นจัดที่ -45 องศาเซลเซียส ไปจนถึงอุณหภูมิที่สูงถึง 80 องศาเซลเซียสขึ้นไป พร้อมทั้งช่วยยืดอายุการใช้งานของนาฬิกาได้ จากกราฟด้านล่าง เป็นการแสดงผลของอัตราเบี่ยงเบนในความเที่ยงตรงของนาฬิกา (วินาที/วัน) เมื่อถูกทดสอบในอุณหภูมิตั้งแต่ -60 – 80 องศาเซลเซียส กราฟเส้นสีแดงเป็นตัวแทนของนาฬิกาที่ใช้น้ำมันหล่อลื่นแบบทั่วไป ส่วนกราฟเส้นสีเขียวคือนาฬิกาของ Sinn ที่ใช้น้ำมันหล่อลื่นชนิดพิเศษ Sinn-Special Oil 66-228 ในช่วงอุณหภูมิ 0 – 80 องศาเซลเซียส นาฬิกาทั้งสองเรือนเดินได้อย่างเที่ยงตรงสูสีกัน จนกระทั่งเมื่อการทดสอบที่อุณหภูมิ -30 องศาเซลเซียสมาถึง คุณจะเห็นได้เลยว่า กราฟเส้นสีแดงดิ่งลงเหวตั้งแต่ช่วงนั้น ต่างกับนาฬิกาของ Sinn ที่ยังคงเดินได้อย่างเที่ยงตรงมากกว่าจนถึงช่วงอุณหภูมิ -40 องศาเซลเซียสขึ้นไป
ส่วนฟังก์ชันอื่นๆ ของ Sinn U2 S (EZM5) ประกอบด้วย ฟังก์ชันสองไทม์โซนที่หน้าปัดย่อยตรงกลางตัวเรือน เป็นแบบ 24 ชั่วโมง ที่มีเข็มสีดำขนาดเล็กบอกชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชันหน้าต่างบอกเวลาที่ตำแหน่ง 3 นาฬิกา สายที่ใช้มีให้เลือกถึง 3 แบบ ซึ่งตัวเรือนพร้อมสายแต่ละชนิดมีราคาต่างกัน 1. สายหนัง ( 2,700 ยูโร/ 99,280 บาท) 2. สายซิลิโคน (3,000 ยูโร/ 110,312 บาท ) และ 3. สายสแตนเลส (3,090 ยูโร/ 113,621 บาท) ส่วนกลไกภายในเป็นระบบ ขึ้นลานอัตโนมัติ เครื่อง SW 330-1 สำรองพลังงานได้ 42 ชั่วโมง
--------------------------------------------------
IWC Aquatimer 2000 Ref.IW358001 Y2016
ความสามารถกันน้ำ: 2,000 เมตร (6,600 ฟุต)
ขนาดตัวเรือน: 46 มม.
ราคาประมาณ: 293,730 บาท
IWC Aquatimer 2000 มีจุดเริ่มต้นจาก IWC Porsche Design Ocean 2000 ที่ผลิตขึ้นมาในปี 1982 ซึ่งเราเคยเล่าถึงทั้งประวัติความเป็นมาและคุณสมบัติให้ได้ทราบกันไปแล้วใน Non-Rolex Deepsea ฉบับแรกของเรา ซึ่งถึงแม้ Aquatimer รุ่นแรกจะเป็น Ref.812AD เมื่อปี 1967 แต่จุดยืนในการกันน้ำที่ 2,000 เมตร IWC เริ่มต้นจาก IWC Porsche Design Ocean 2000 ตั้งแต่ปี 1982 เป็นต้นมา ถึงแม้หน้าตาจะไม่ได้สืบทอด DNA จาก Ocean 2000 มาอย่างเห็นได้ชัด แต่การเลือกใช้วัสดุไทเทเนี่ยมยังคงรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของ IWC ดำน้ำ ไทเทเนียมเป็นอีกหนึ่งวัสดุสำหรับทำนาฬิกาชั้นเยี่ยมที่เหมาะกับผู้ที่แพ้นิกเกิล ในเชิงชีวภาพ ไทเทเนียมเป็นวัสดุที่สามารถเข้าได้กับเนื้อเยื่อและกระดูกของมนุษย์ จึงนิยมนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ เช่น ใช้ผลิตข้อต่อกระดูก เป็นต้น ดังนั้นวางใจได้เลยค่ะ ว่านาฬิกาข้อมือที่ทำขึ้นจากไทเทเนียมจะทำให้ผิวระคายเคือง
แต่คุณสมบัติเด่นของไทเทเนียมที่ทำให้ IWC เลือกมาใช้ผลิตนาฬิกาตั้งแต่รุ่น Ocean 2000 ปี 1982 คือ ความสามารถในการต้านทานแรงแม่เหล็ก เนื่องจากเมื่อแรกเริ่ม Ocean 2000 เป็นนาฬิกาสั่งทำที่ถูกออกแบบขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อเหล่านักประดาน้ำผู้ทำงานเก็บกู้ทุ่นระเบิดใต้ท้องมหาสมุทรให้กับกองสหพันธรัฐเยอรมนี ซึ่งระเบิดพวกนี้เป็นวัตถุที่ไวต่อสิ่งใดก็ตามที่ทำขึ้นจากวัสดุที่มีคุณสมบัติเป็นแม่เหล็กหรือมีผลต่อแรงแม่เหล็ก ระเบิดอาจทำงานโดยทันที ทางแบรนด์จึงเลือกใช้วัสดุไทเทเนียมเพื่อตอบโจทย์นี้
ตัวเรือน IWC Aquatimer 2000 รุ่นปี 2016 นี้ทำจากไทเทเนียมมีขนาด 46 มม. กระจกหน้าปัดทำขึ้นจากคริสตัลแซฟไฟร์แบบนูน เคลือบด้วยสารป้องกันการสะท้อนแสงทั้งสองด้าน เข็มชั่วโมงและนาทีและหลักชั่วโมงแบบขีดเป็นสีเหลืองเคลือบเรืองแสง ฝาหลังของตัวเรือนสลักรูปนักประดาน้ำโบราณที่สวมใส่หน้ากากออกซิเจนทรงกลมขนาดใหญ่คล้ายกับหน้ากากของนักบินอวกาศ ส่วนสายทำขึ้นจากยาง ซึ่งเป็นวัสดุที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานใต้น้ำมากกว่าสายชนิดอื่น สายยางของ Aquatimer 2000 มีลักษณะหยักไปมา ทางเราคิดว่าการทำสายยางให้มีความหยักเช่นนี้เป็นการช่วยเพิ่มช่องระบายอากาศและความชื้น หลังจากที่ผู้ใช้ลงไปดำน้ำหรือทำกิจกรรมใดก็ตามที่นาฬิกาต้องถูกกับน้ำ หากนาฬิกาเป็นสายยางแบบราบเรียบธรรมดาๆ สายรูปแบบเช่นนั้นจะแนบกับผิวข้อมือของผู้สวมใส่อย่างแนบสนิท ดังนั้นน้ำและความชื้นใต้สายอาจจะระบายออกมาได้ยากกว่าเล็กน้อย ต่างจากสายของ IWC Aquatimer 2000 ที่มีความหยักไปมาจนทำให้เกิดช่องว่างขนาดเล็กระหว่างตัวสายนาฬิกาและผิวข้อมือของผู้สวมใส่เอง จึงช่วยให้น้ำและความชื้นระเหยออกมาได้ดีขึ้น ไม่ทิ้งความชื้นเป็นเวลานาน หากต้องสวมใส่ต่อหลังจากกิจกรรมทางน้ำโดยไม่ถอดออก
นอกจากนี้ สายนาฬิกายางของ IWC Aquatimer 2000 มีระบบเปลี่ยนสายแบบรวดเร็ว (IWC Bracelet Quick-Change System) เป็นระบบการเปลี่ยนรูปแบบสายที่ผ่านการจดสิทธิบัตร โดย IWC ได้ออกแบบขึ้นมาเพื่อนาฬิกาคอลเลคชั่น “Aquatimer” โดยเฉพาะ ระบบเปลี่ยนสายนี้ทำให้ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนจากสายยางไปเป็นสายสตีลหรือสายชนิดอื่นได้อย่างง่ายดาย เพียงแค่การใช้มือเปล่าเท่านั้น เมื่อต้องการใส่สายไปที่ตัวเรือน เราแค่กดส่วนหัวของสายจากทางด้านบนลงไปที่สปริงบาร์ หรือ ก้านสำหรับล็อคสาย (Locking Bar) ที่ติดอยู่กับระหว่างขาของตัวเรือน เมื่อสายถูกติดตั้งอย่างเข้าที่กับตัวเรือนแล้ว เราจะได้ยินเสียงหรือรู้สึกได้ถึงการลงล็อคของมัน หากต้องการจะถอดสายออก เราต้องทำการกดและดึงคันโยกที่อยู่ใต้หัวสายข้อมือออกทางด้านนอกด้วยนิ้วหัวแม่มือ จากนั้นดึงสายขึ้นด้านบน เพียงเท่านี้ก็ถอดสายออกได้แล้วค่ะ ส่วนกลไกภายในเป็นระบบขึ้นลานอัตโนมัติ Caliber 80110 สำรองพลังงานได้ 44 ชั่วโมง
ขอบ Bezel ของ IWC Aquatimer 2000 เป็นขอบหมุนได้ที่มี 2 ชิ้นส่วน ประกอบด้วยขอบหมุนด้านนอกและด้านใน (External/ Internal Rotating Bezel) ขอบทั้ง 2 นี้ทำงานควบคู่กันไป เมื่อเราทำการปรับหมุนขอบด้านนอก ขอบด้านในจะหมุนตาม แต่ได้เฉพาะทิศตามเข็มนาฬิกาเท่านั้น เนื่องจากมันมีหน้าที่เหมือนกับแค่จุดสัมผัสของผู้ใช้ด้านนอก ที่ส่งแรงผ่านกลไกไปยังขอบด้านในให้เคลื่อนที่ตาม ขอบด้านในที่ถูกติดตั้งอยู่ภายใต้กระจกหน้าปัด (Internal Bezel) สามารถอยู่คงทนได้มากกว่าพวกที่อยู่บนขอบนาฬิกาแบบด้านนอกทั่วไป (External Bezel) เนื่องจากไม่ถูกสัมผัสหรือเสียดสีกับวัตถุภายนอกโดยตรง เช่น น้ำ, ฝุ่น, แสงแดด หรือการถูกสัมผัสระหว่างปรับขอบนาฬิกาเพื่อใช้งาน ที่อาจทำให้ตัวเลขและขีดจางลงได้ไวขึ้น นอกจากนั้น จุดสัมผัสที่ลดลงเหลือเพียงแค่บริเวณขอบนาฬิกาจริง ๆ ลดโอกาสในการที่ขอบจะถูกหมุนในขณะปฏฺิบัติงานโดยบังเอิญลงไปได้อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งการออกแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบ IWC SafeDive ที่ทางแบรนด์รังสรรค์ขึ้นมาเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของนักประดาน้ำ ถึงแม้ว่าขอบด้านนอกสามารถหมุนไปมาได้ทั้งสองทิศทาง แต่ขอบภายในจะหมุนไปทางซ้ายหรือทวนเข็มนาฬิกาเท่านั้น
แล้วทิศทางการหมุนของขอบนาฬิกามันสำคัญอย่างไร? อย่างที่เราทราบกันดีว่าฟังก์ชันขอบหมุนได้ของนาฬิกาดำน้ำ ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อจับเวลาที่ใช้ใต้น้ำ ในการคำนวณปริมาณออกซิเจนและระยะเวลาในการ กลับขึ้นสู่ผิวน้ำ เมื่อต้องการเริ่มจับเวลา นักดำน้ำจะหมุนขอบจนกระทั่งสัญลักษณ์สามเหลี่ยมบนขอบนาฬิกาตรงกับเข็มนาทีในเวลานั้น ๆ สมมติว่า นักดำน้ำคนหนึ่งเริ่มปฏิบัติการใต้น้ำที่เวลา 10.08 น. นักดำน้ำจะปรับหมุนรูปสามเหลี่ยมบนขอบให้ตรงกับนาทีที่ 8 ขณะที่ดำลงไป ซึ่งเขามีปริมาณออกซิเจนที่สามารถอยู่ใต้น้ำได้ 15 นาที ดังนั้น เขาจำเป็นต้องขึ้นสู่ผิวน้ำให้ได้ภายใน 10.23 น. ตามที่หลักเลข 15 นาทีบนขอบนาฬิกาบ่งชี้เอาไว้
แต่ระหว่างที่อยู่ใต้น้ำ ถ้าหากนาฬิกาของเขากระแทกกับอุปกรณ์บางอย่างจนขอบนาฬิกาเคลื่อนที่โดยไม่จงใจ และตัวเขาเองก็ไม่รู้ตัวว่าขอบนี้ถูกปรับ จึงยึดเวลาการกลับขึ้นฝั่งตามนาฬิกาเช่นเดิม สัญลักษณ์สามเหลี่ยมจึงปรับไปด้านซ้าย อาจจะปรับย้อนไป 1 นาทีหรือมากกว่านั้น อย่างไรก็ตาม รูปทรงสามเหลี่ยมบนขอบนาฬิกานี้จะไปหยุดอยู่ที่เวลาใดก็ได้ก่อนหน้า 10.23 เช่น ในตัวอย่างด้านล่างนี้ เราจำลองเหตุการณ์ว่าสัญลักษณ์สามเหลี่ยมเลื่อนกลับไป 3 นาที ดังนั้นเวลากลับขึ้นฝั่งของเขาคนนี้จะไวกว่ากำหนดขึ้นไปอีก 3 นาทีหรือกลับถึงฝั่งเมื่อเวลา 10.20 น. หมายความว่า ถึงแม้ขอบนาฬิกาจะถูกปรับโดยไม่ได้ตั้งใจ นักประดาน้ำจะยังคงสามารถกลับคืนสู่ฝั่งได้ภายในระยะเวลาที่ปลอดภัยเท่านั้น
แต่เหตุการณ์นี้จะกลายเป็นหนังคนละม้วนเลยก็ว่าได้ ถ้าหากว่าขอบนาฬิกาเป็นแบบหมุนได้สองทิศทาง (Bidirectional Bezel) เช่น Rolex Yacht Master ที่มีขอบหมุนได้สองทิศทาง ถ้าหากขอบถูกกระแทกโดยไม่ได้ตั้งใจ มันจะปรับไปทางด้านทวนหรือตามเข็มนาฬิกาก็ได้ หากโชคร้าย ขอบปรับไปในทิศทางตามเข็มนาฬิกา จากตามเดิมที่สัญลักษณ์สามเหลี่ยมถูกปรับไว้ที่ตำแหน่ง 3 นาที อาจจะขยับเพิ่มไปอีก 2 นาทีหรือมากกว่านั้น แต่ที่แน่นอนคือนักประดาน้ำคนนี้จะใช้เวลาใต้น้ำเกินกว่าที่กำหนดเนื่องจากเวลาคลาดเคลื่อน ซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตเพราะปริมาณออกซิเจนไม่เพียงพอนั้นเองค่ะ สิ่งนี้จึงเป็นเหตุผลที่นาฬิกาดำน้ำของหลายๆแบรนด์ออกแบบขอบให้หมุนไปทางทวนเข็มนาฬิกาเพียงทิศทางเดียว
--------------------------------------------------
Breitling Avenger II Seawolf 3000m (10,000ft) Y2013
ความสามารถกันน้ำ: 3,000 เมตร (10,000 ฟุต)
ขนาดตัวเรือน: 45 มม.
ราคาประมาณ: 133,440 บาท
เรือนที่สามจาก Breitling ดูจากตราสัญลักษณ์หรือโลโก้ของแบรนด์ เราจะเห็นสมอเรือที่มีปีกนกสยายอยู่ขนาบข้าง ปีกสื่อถึงความสัมพันธ์ระหว่าง Breitling และอุตสาหกรรมการบินที่มีมาอย่างช้านาน ตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง Breitling ได้ถูกว่าจ้างให้ผลิตนาฬิกาจับเวลา (Chronograph) สำหรับติดตั้งในห้องเครื่องของเครื่องบินขับไลสปิตไฟร์ทางการทหารแห่งสหราชอาณาจักร เพื่อจับเวลาและควบคุมเวลาที่ใช้ทำการบิน ต่อมาในช่วงปี 1950 – 1960 Breitling ได้เริ่มผลิตนาฬิกาให้กับสายการบินเชิงพาณิชย์และผู้ผลิตอากาศยาน เช่น Boeing, Lockheed, Douglas และ United Airlines เป็นต้น และอีกองค์ประกอบหนึ่งในโลโก้แบรนด์คือ “สมอเรือ” ไม่ต้องคาดเดากันให้ยาก ก็ทราบได้เลยว่าต้องเกี่ยวข้องกับน้ำหรือท้องทะเลแน่นอน นอกจาก Breitling จะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตนาฬิกา Chronograph จนเป็นที่ยอมรับในวงการการบินทั่วโลก ทางแบรนด์ยังมุ่งเน้นผลิตนาฬิกาดำน้ำที่โดดเด่นในเรื่องของการกันน้ำอีกด้วย นาฬิกาดำน้ำเรือนแรกของประวัติศาสตร์ Breitling คือ SuperOcean (Ref.1004) ผลิตขึ้นในปี 1957 สามารถกันน้ำได้ถึงความลึกระดับ 200 เมตร ซึ่งก็นับได้ว่าไม่แพ้ใครในช่วงเวลานั้น
แต่นาฬิกาเรือนที่เราจะหยิบมาเล่าให้ทุกคนได้รู้จักกัน มีขีดความสามรถในการกันน้ำมากกว่านาฬิกาดำน้ำรุ่นบรรพบุรุษเกินกว่า 10 เท่า นั่นก็คือ Breitling Avenger ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในปี 2001 ต่อมาในปี 2013 Breitling ได้ออกรุ่นใหม่เป็น Avenger II และออกมาที 4 รุ่นย่อย ประกอบด้วย 1. Avenger II 2. Super Avenger II ทั้ง 2 เรือนนี้คือนาฬิกาที่มีฟังก์ชันจับเวลา (Chronograph) 3. Avenger II GMT นาฬิกาที่มีฟังก์ชันบอกเวลาได้ 2 ไทม์โซน และเรือนสุดท้าย 4. Avenger II Seawolf นาฬิกาสำหรับดำน้ำ แต่สิ่งที่นาฬิกาเรือนฟินาเล่ที่เราเพิ่งกล่าวปิดท้ายคอลเลกชัน Avenger II แตกต่างจาก 3 เรือนที่เหลือ คือ ความสามารถในการกันน้ำของมัน นาฬิกา Avenger II ทั้ง 3 เรือนแรกกันน้ำได้ที่ระดับความลึก 300 เมตร (1,000 ฟุต) แต่ Avenger II Seawolf สามารถกันน้ำได้ถึงความลึกระดับ 3,000 เมตร (10,000 ฟุต) สมชื่อหมาป่าแห่งท้องมหาสมุทร
Avenger II Seawolf มีตัวเรือนขนาด 45 มม. หนา 18.3 มม. ตัวเรือนและสายทำขึ้นจาก Stainless Steel กระจกหน้าปัดเป็นแซฟไฟร์คริสตัลแบบนูน ป้องกันแสงสะท้อน เม็ดมะยมเป็นรูปแบบ Screw-locked ที่ออกแบบมาเพื่อให้เพิ่มประสิทธิภาพในการกันน้ำของนาฬิกา ก่อนที่จะใช้งานเม็ดมะยม ผู้ใช้ต้องทำการปลดล็อคก่อน โดยการคลายเกลียวเม็ดมะยม และขันเกลียวเข้าให้แน่นเมื่อต้องการล็อคตามเดิม ซึ่งนี่อาจจะหมายความว่า ถ้าหากเราไม่ได้ขันเกลียวเม็ดมะยมให้แน่นพอจนอยู่ตำแหน่งที่มันถูกล็อค นาฬิกา Seawolf ของคุณก็อาจจะได้รับผลเสียจากการซึมเข้าของน้ำก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม เม็ดมะยมใน Breitling Avenger II Seawolf ก็ยังมีการใส่ปะเก็นหรือวงแหวนยางเข้าไปในโครงสร้างของเม็ดมะยม 2 วงด้วยกัน ปะเก็นทั้งสองนี้จะทำหน้าที่เป็นด่านป้องกันสิ่งแปลกปลอมต่างๆที่นาฬิกาของเราจะต้องเผชิญ เช่น น้ำ, น้ำมัน, ฝุ่น หรือ สิ่งสกปรกอื่นๆ ไม่ให้เข้ามาภายในตัวเรือนนาฬิกาและทำลายประสิทธิภาพของกลไกภายใน นอกจากนี้เม็ดมะยมของ Seawolf ยังเป็นแบบที่จับกันลื่นอีกด้วย เม็ดมะยมแต่งด้วยแพทเทิร์นตารางสีเหลี่ยมขนาดเล็ก มีผิวสัมผัสขรุขระ ทำให้จับถนัดมือและหมุนปรับเวลาหรือวันที่ได้ง่ายโดยไม่ลื่นมือค่ะ ส่วนขอบนาฬิกาเป็นแบบหมุนได้ทิศทางเดียว มีตัวหลักเลขอารบิก 60 นาที
ตัวเครื่องภายในคือ Breitling 17 เป็นกลไกระบบขึ้นลานอัตโนมัติ สำรองพลังงานได้ 38 ชั่วโมง มีฟังก์ชันเข็มชั่วโมง นาที วินาทีและหน้าต่างบอกวันที่ที่ตำแหน่ง 3 นาฬิกา อีกหนึ่งส่วนประกอบ ของ Avenger II Seawolf ที่เราน่าจะคุ้นเคยและเห็นผ่านตาในนาฬิกาดำน้ำจากแบรนด์อื่น ๆ นั้นคือ วาล์วปล่อยก๊าซฮีเลียม (HEV) วาล์วนี้มีหน้าที่รักษาสมดุลของความดันภายในตัวเรือนนาฬิกาให้เท่ากับความดันรอบข้างหรือภายนอกตัวเรือนนาฬิกานั่นเองค่ะ โดยปกติแล้วความดันภายในตัวเรือนจะอยู่ที่ 3 บาร์ เมื่อใดก็ตามที่ความดันภายในตัวเรือนมีค่ามากกว่า 3 บาร์ วาล์วจะทำการระบายก๊าซฮีเลียมออกมา อย่างไรก็ตาม หากทางแบรนด์เลือกใช้ตัวเรือนชิ้นเดียวแบบ Monobloc หรือประกอบชิ้นส่วนต่างๆอย่างแน่นหนา วาล์ว HEV ที่ว่านี้ก็อาจจะไม่จำเป็นก็ได้ค่ะ อนคือนักประดาน้ำคนนี้จะใช้เวลาใต้น้ำเกินกว่าที่กำหนดเนื่องจากเวลาคลาดเคลื่อน ซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตเพราะปริมาณออกซิเจนไม่เพียงพอนั้นเองค่ะ สิ่งนี้จึงเป็นเหตุผลที่นาฬิกาดำน้ำของหลายๆแบรนด์ออกแบบขอบให้หมุนไปทางทวนเข็มนาฬิกาเพียงทิศทางเดียว
--------------------------------------------------
CX Swiss Military 20,000 Feet Y2019
ความสามารถกันน้ำ: 6,000 เมตร (20,000 ฟุต)
ขนาดตัวเรือน: 46 มม.
ราคาประมาณ: 153,740 บาท
เรือนถัดมาในลิสท์ของเราต้องมี CX Swiss Military 20,000 Feet ผลิตโดย CX (Montres Charmex) แบรนด์นาฬิกาจากสวิตเซอร์แลนด์ มีความสามารถกันน้ำได้ที่ความลึกระดับ 6,000 เมตร (20,000 ฟุต) ก่อนหน้าที่ทางแบรนด์จะผลิตนาฬิกาที่สามารถกันน้ำได้ลึกถึงระดับนี้ ในปี 2005 CX Swiss Military 12,000 feet (3,657 เมตร) นาฬิกาข้อมือระบบไขลานที่กันน้ำได้ลึกที่สุดจนทำสถิติในยุคนั้นได้ถือกำเนิดขึ้น จนกระทั้งปี 2008 Rolex ได้ผลิต Sea-Dweller Deepsea ที่มีความสามารถในการกันน้ำที่ความลึกระดับ 3,900 เมตร (12,800 ฟุต) แซงหน้า CX Swiss Military 12,000 feet ไปแบบฉิวเฉียด แค่ 200 เมตร อย่างไรก็ตาม CX Swiss Military ก็ได้กลับมาทวงบัลลังก์อีกครั้งด้วยความสามารถในการกันน้ำที่ความลึกระดับ 20,000 ฟุต จนกลับมาเป็นเจ้าของสถิติอีกครั้งบน Guinness World Record ในปี 2009
CX Swiss Military 20,000 Feet มีตัวเรือนขนาด 46 มม. หนา 28.5 มม. มาพร้อมกระจกหน้าปัดที่ทำขึ้นจากคริสตัลแซฟไฟร์หนา 10 มม. ถึงแม้จะมีตัวเรือนขนาดที่ใหญ่และหนา แต่นาฬิกาเรือนนี้มีน้ำหนักที่ค่อนข้างเบาที่ 265 กรัม เนื่องจากทั้งตัวเรือนและสายข้อมือทำขึ้นจากไทเทเนียม ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความแข็งแรงและน้ำหนักเบา ส่วนในเรื่องของความสามารถในการกันน้ำ เพียงแค่เห็น 20,000 ในชื่อรุ่นและเลข 20,000 ที่เขียนเอาไว้บนหน้าปัดก็บ่งบอกได้อย่างชัดเจนแล้วว่านาฬิกาเรือนนี้สามารถกันน้ำได้ที่ความลึกระดับเท่าใด ถึงแม้ว่า 20,000 ฟุต (6,000 เมตร) ก็เป็นระดับน้ำที่ลึกพอสมควรอยู่แล้ว แต่ความจริงแล้วนั้น CX Swiss Military 20,000 Feet สามารถกันน้ำที่ระดับความลึกได้มากกว่านั้นค่ะ มันสามารถกันน้ำได้ถึง 25,000 ฟุต หรือ 7,500 เมตร เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ISO 6425 ที่กำหนดไว้ว่าความสามารถในการกันน้ำของนาฬิกา ควรเกินมา 25% ของความสามารถกันน้ำที่ระบุไว้ตามคุณสมบัติของนาฬิกาเพื่อความปลอดภัย
นอกจากความลึกของระดับน้ำ นาฬิกาข้อมือยังต้องเผชิญกับอะไรอีกหลายๆอย่าง เช่น คลื่นแม่เหล็ก ที่เป็นเหมือนฝันร้ายเล็ก ๆ ของกลไกภายในนาฬิกา เราอาจจะลืมไปด้วยซ้ำว่ามีคลื่นแม่เหล็กเหล่านี้อยู่รอบตัว ต่างจากน้ำที่เราสามารถมองเห็นและสามารถระมัดระวังไม่ให้นาฬิกาต้องไปเผชิญกับน้ำโดยตรงได้ แต่สำหรับคลื่นแม่เหล็กที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มันเป็นไปไม่ได้เลยค่ะ ที่เราจะเก็บหรือพานาฬิกาเราหลบหลีกจากสนามแม่เหล็กรอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือแม่เหล็กบนฝาปิดปากกระเป๋า ถึงแม้จะเป็นก้อนแม่เหล็กขนาดจิ๋ว ก็สามารถมีผลต่อความเที่ยงตรงของนาฬิกาบนข้อมือคุณได้อยู่ดี
สนามแม่เหล็กเหล่านี้จะมีผลต่อชิ้นส่วนกลไกภายในอย่าง สายใยนาฬิกา (Balance Spring) ที่ทำงานร่วมกับจักรกลอก (Balance Wheel) ชิ้นส่วนที่เป็นตัวควบคุมการเดินของนาฬิกา เมื่อชิ้นส่วนสายใยนาฬิกานี้ถูกดูดด้วยแรงแม่เหล็ก มันจะทำการขดติดอยู่กับตัวมันเอง แทนที่จะทำงานปกติ ปรากฏการณ์นี้มีผลต่อความเที่ยงตรงของนาฬิกา เมื่อถูกแรงแม่เหล็กเข้ามากระทบ จนทำให้ชิ้นส่วนของลวดที่ยืดออกมาทำงานได้นั้นสั้นลง ส่งผลให้กวัดแกว่งเร็วขึ้นผิดปกติ ดังนั้น นาฬิกาจะเดินเร็วกว่าเวลาจริงจนเอาแน่เอานอนกับความเที่ยงตรงไม่ได้ หรือไม่ก็ทำให้นาฬิกาหยุดเดินไปทันที ซึ่งปัญหานี้มักจะเกิดกับนาฬิกาที่มีองค์ประกอบทั้งภายในและภายนอกที่ทำขึ้นจากเหล็กเนื่องจากกฏแรงดึงดูดของคลื่นแม่เหล็ก แต่ CX Swiss Military 20,000 Feet ถูกสร้างขึ้นมาให้มีคุณสมบัติต้านแรงแม่เหล็กเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านั้น มันถูกออกแบบตามมาตรฐานสากล ISO 764 ที่กำหนดมาตรฐานให้นาฬิกาต้องผ่านการทดสอบท่ามกลางสนามแม่เหล็กกระแสตรง 4,800 A/m (แอมแปร์/เมตร) หลังจากการทดสอบ นาฬิกาเรือนนั้นๆ ต้องมีความเที่ยงตรงไม่เกิน ±30 วินาทีต่อวัน
ภายในเป็นระบบขึ้นลานอัตโนมัติ Caliber ETA/Valjoux 7750 สำรองพลังงานได้ 48 ชั่วโมง เป็นเครื่อง Chronometer เมื่อกล่าวถึงคำว่า “Chronometer” และ “Chronograph” ด้วยความที่เขียนคล้ายกัน บางคนอาจจะเคยสับสนและสงสัยว่ามันคืออะไร และคล้ายกันไหม โครโนมิเตอร์ (Chronometer) คือนาฬิกาที่ผ่านการทดสอบและได้รับการรับรองความเที่ยงตรงจากสถาบันตรวจสอบความเที่ยงตรงของนาฬิกาแห่งสวิสต์เซอร์แลนด์ COSC (Contrôle Officiel Suisse des Chronomètres) ก่อนที่นาฬิกาเรือนใดจะได้รับการรับรองว่าเป็น Chronometer มันต้องถูกทดสอบความแม่นยำเป็นระยะเวลา 15 วันด้วยกัน โดยที่นาฬิกานั้นๆต้องเดินอยู่ในระยะไม่เกิน +6 / -4 วินาทีต่อวัน ถ้าหากนาฬิกาเรือนใดผ่านการทดสอบนี้ได้ ทางแบรนด์มักจะใส่คำว่า “Chronometer” ลงไปบนหน้าปัดเพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการผลิตนาฬิกาที่เที่ยงตรงตามมาตรฐานสากลของ COSC อย่างที่ CX ได้ใส่ลงไปบนหน้าปัดของ CX Swiss Military 20,000 Feet
ส่วน “Chronograph” คือฟังก์ชันจับเวลาของนาฬิกา ฟีเจอร์นี้ของ Swiss Military 20,000 Feet คือปุ่มตำแหน่งบนและล่างสุดของตัวเรือน ผู้ใช้จับเวลาได้อย่างง่ายดายโดยการกดปุ่มดังกล่าว และใน Swiss Military 20,000 Feet มีความพิเศษตรงที่มีระบบ Screw Down Guard สำหรับป้องกันปุ่มกดของฟังก์ชันจับเวลา (Pushers) อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ผู้ใช้ยังไม่ได้ทำการขันเกลียว นาฬิกาเรือนนี้ยังสามารถกันน้ำได้ถึงระดับ 300 เมตร แต่ถ้าหากจะไปไกลกว่านั้น ผู้ใช้ต้องทำการขันเกลียวสกรูทั้ง 2 ให้แน่น นอกจากนี้ เม็ดมะยมตรงกลางที่ใช้ปรับเวลาและวันที่ยังทำขึ้นมาในขนาด X-large ใหญ่พิเศษ เพื่ออำนวยความสะดวกให้เหล่านักประดาน้ำสามารถใช้งานเม็ดมะยมได้อย่างง่ายดาย ถึงแม้ว่าจะสวมถุงมือดำน้ำที่หนาเตอะ
หน้าปัดย่อยทั้ง 3 ประกอบด้วย 1. หน้าปัดย่อยบอกวินาทีที่ตำแหน่ง 9 นาฬิกา ส่วนอีก 2 หน้าปัดย่อยเป็นหน้าปัดสำหรับฟังก์ชันจับเวลา 2. หน้าปัดย่อยจับเวลา 30 นาทีที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา และ 3. หน้าปัดย่อยจับเวลา 12 ชั่วโมงที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกา ใน Swiss Military 20,000 Feet แบ่งสีเข็มนาฬิกาตามฟังก์ชันของมัน เข็มบอกเวลาทั่วไปอย่าง เข็มชั่วโมง นาที และเข็มวินาทีในหน้าปัดย่อยจะเป็นสีขาว ส่วนเข็มที่ใช้ในฟังก์ชันจับเวลาจะเป็นสีแดงทั้งหมด รวมถึงขอบรอบวงของหน้าปัดย่อยฟังก์ชันจับเวลาที่ตำแหน่ง 6 และ 12 นาฬิกาถูกแต่งด้วยขอบสีแดง เพื่อให้ผู้ใช้สามารถอ่านและแยกแยะเวลาได้ง่ายขึ้น และนอกจากฟังก์ชันจับเวลา นาฬิกาเรือนนี้ยังมีฟังก์ชันหน้าต่างบอกวันที่ที่ตำแหน่ง 3 นาฬิกา และตัวเรือนประกอบด้วยวาล์วปล่อยก๊าซฮีเลียม (HEV) อีกด้วย ขอบที่ใช้เป็นขอบหมุนได้แบบ Count-up 60 นาที ตัวเลขบนขอบ หลักชั่วโมงและเข็มสีขาวถูกเคลือบด้วยสารเรืองแสง Super Luminova จึงอ่านเวลาได้แม้ในที่แสงน้อย สีหน้าปัด Swiss Military 20,000 Feet มีให้เลือกทั้งหมด 4 สี ประกอบด้วย สีเงิน, สีเหลือง, สีน้ำเงิน และหน้าปัดคาร์บอนไฟเบอร์สีดำ
หากพูดถึงการทดสอบสมรรถนะของนาฬิกาดำน้ำ เราคงนึกถึงการนำมันไปดำน้ำใต้ทะเลลึกหรือนำไปทดสอบภายในแท้งค์แรงดัน (Pressure Tank) ที่ปรับระดับแรงดันได้ตามต้องการเพื่อทดสอบว่ามันจะทนต่อสภาวะแรงดังสูงใต้มหาสมุทรได้หรือไม่ ซึ่ง CX Swiss Military 20,000 Feet ผ่านการทดสอบมาหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบในถังแรงดันโดยสถาบันทางสมุทรศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเซาแทมป์ตันแห่งเกาะอังกฤษ และ IFREMER สถาบันวิจัยทางทะเลของฝรั่งเศส แต่จะให้ทดสอบความสามารถของนาฬิกาโดยวิธีเหล่านี้คงจะจำเจเกินไปและไม่เป็นที่น่าจดจำ ทางแบรนด์เลยให้ลูกค้าลองเสนอไอเดียว่าควรจะทดสอบสมรรถนะของนาฬิกาอย่างไรดี และแล้ว ทางแบรนด์ได้เลือกมาทั้งหมด 3 วิธีด้วยกัน รับรองเลยว่าแปลกจนไม่เหมือนการทดสอบของแบรนด์นาฬิกาเจ้าใดบนโลกแน่นอนค่ะ
การทดสอบแรก คือ การถูกฉีดโดยน้ำแรงดันสูง CX ร่วมมือกับหน่วยดับเพลิงของสนามบินซูริค ในสวิตเซอร์แลนด์ ใช้รถดับเพลิงน้ำหนัก 40 ตัน ฉีดน้ำแรงดันสูงไปยัง CX Swiss Military 20,000 Feet ซึ่งมันสามารถทนต่อปริมาณน้ำได้ถึง 6,000 ลิตร การทดสอบที่สองคือนำนาฬิกาไปวางไว้ที่พื้นและขับรถบรรทุกเหยียบทับถึง 2 ครั้ง แต่ตัวเรือนรวมถึงกระจกหน้าปัดก็ยังไม่แบนหรือแตกจนละเอียด และด่านทดสอบสุดท้าย คงไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะแบรนด์นาฬิกาใดกล้าทำ การทดสอบนี้คือ การใช้ปืนลูกซอง Winchester ยิงไปยังนาฬิกาในระยะ 8 เมตรด้วยกระสุนลูกปรายเบอร์ 30 การทดสอบอันสุดโต่งเหล่านี้คงจะทำลายนาฬิกาข้อมือธรรมดาๆได้อย่างง่ายดายภายในเวลาเสี้ยววินาที แต่ไม่ใช่กับ CX Swiss Military 20,000 Feet หลังจากผ่านบททดสอบ มันสามารถทำงานต่อได้อย่างเที่ยงตรงตามเดิม
สรุปใจความได้ว่า CX Swiss Military 20,000 Feet มีความทนทานแน่นอน แต่ใครจะนำนาฬิกาที่หนาถึง 28.5 ไปใช้ในชีวิตประจำวัน ก็คงเหนื่อยนิดนึงค่ะ
--------------------------------------------------
Omega Seamaster Planet Ocean Ultra Deep Professional - Y2019
ความสามารถกันน้ำ: 15,000 เมตร (49,212 ฟุต)
ขนาดตัวเรือน: 52.2 มม.
ราคาประมาณ: N/A
ปลาซิวปลาสร้อยถอยไป ลำดับสุดท้ายเป็นนาฬิกาที่ครองสถิติโลกของการดำน้ำได้ลึกที่สุดในปัจจุบัน ถึงแม้ว่า เอาชนะ Rolex Sea-Dweller Deepsea Challenger ไปได้เพียงฉิวเฉียด แถมมิตินาฬิกาไม่ได้แตกต่างกัน แต่นั่นคือวิถีของ Omega ที่ไม่มีแม้แต่สนามเดียวที่จะยอมพ่ายแพ้ให้กับ Rolex นาฬิกาเรือนนี้มีที่มาอย่างไร เราขอเล่าย้อนความเป็นมาของโครงการพิชิตใต้สมุทรที่ Omega เข้าไปมีส่วนร่วมเร็ว ๆ นี้
Five Deeps Expedition: การดำน้ำสถิติโลกครั้งใหม่
การส่งนาฬิกาลงไปใต้ท้องทะเลพร้อมกับเรือดำน้ำเป็นอีกหนึ่งวิธีการทดสอบประสิทธิภาพของนาฬิกาดำน้ำอย่างแท้จริง เนื่องจากนาฬิกาได้ไปเผชิญกับระดับนี้ที่ลึกและแรงดันใต้น้ำและปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ครบถ้วน แต่มีเพียงไม่กี่แบรนด์นาฬิกาที่กล้าใช้วิธีการทดสอบนี้กับนาฬิกาดำน้ำของตน เนื่องจากต้องลงทุนกับโครงการค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม แค่ขึ้นชื่อว่า Omega คงไม่มีการทดสอบใดที่ไกลเกินเอื้อมเลยก็ว่าได้ ขนาดสถานที่ที่ไกลโพ้นอย่างดวงจันทร์ นาฬิกาจาก Omega ก็ได้ไปเยือนมาแล้ว ในปี 2019 Omega จึงได้เข้าร่วมโครงการสำรวจใต้ทะเล ‘Five Deeps’ เป็นโครงการที่สำรวจจุดที่ลึกที่สุดใต้ท้องทะเลลึกของมหาสมุทรทั้ง 5 แห่งทั่วโลก ประกอบด้วย
1. มหาสมุทรแอตแลนติก: ร่องลึกมหาสมุทรปวยร์โตรีโก ที่ความลึก 8,376 เมตร (27,480 ฟุต)
2. มหาสมุทรแอนตาร์กติก: ร่องลึกก้นสมุทรเซาธ์ แซนด์วิช ที่ความลึก 7,434 เมตร (24,390 ฟุต)
3. มหาสมุทรอินเดีย: ร่องลึกก้นสมุทรชวา ที่ความลึก 7,192 เมตร (23,596 ฟุต)
4. มหาสมุทรแปซิฟิก: จุด Challenger Deep ในร่องลึกมหาสมุทรมาเรียนาเป็นจุดที่ลึกที่สุดในโลก ความลึกของ Challenger Deep ที่ได้ไปเยือนคือระดับ 10,925 เมตร (35,843 ฟุต)
5. มหาสมุทรอาร์กติก: จุด Molly Deep อยู่ที่ฝั่งตะวันตกของหมู่เกาะสวาลบาร์ด ที่ความลึก 5,550 เมตร (18,209 ฟุต)
โครงการ Five Deeps ได้ทำลายสถิติโลกอยู่หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการมาเยือนร่องลึกก้นสมุทรชวาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และการทำลายสถิติเก่าของ Rolex ที่เคยได้สร้างตำนานเอาไว้ในปี 1960 โดยที่ Rolex ได้ส่ง Deep Sea Special ลงไปปฏิบัติการที่ Challenger Deep พร้อมกับเรือดำน้ำ Trieste ที่ความลึก 10,916 เมตร ซึ่งลึกน้อยกว่าปฏิบัติการของ Five Deeps อยู่ 9 เมตร และการดำน้ำที่ทำลายสถิติโลกครั้งใหม่นี้ที่ร่องลึกมาเรียนาในปี 2019 นี่แหละค่ะ ที่ Omega ได้เข้าร่วมด้วย
Five Deeps Expedition เป็นการร่วมมือระหว่าง Victor Vescovo นักลงทุนภาคเอกชนชาวอเมริกัน ทหารเรือสหรัฐ และนักสำรวจใต้ทะเล ผู้ก่อตั้ง Caladan Oceanic บริษัทเอกชนที่มุ่งหมายพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการสำรวจใต้ทะเลเพื่อเพิ่มพูนความเข้าใจเกี่ยวกับท้องมหาสมุทร, EYOS Expeditions บริษัทวางแผนและดำเนินการการเดินทางระยะไกลแบบครบวงจร ทั้งทางเรือสำราญ เรือดำน้ำและเครื่องบิน, และบริษัทสุดท้ายที่เข้าร่วมโครงการนี้คือ Triton Submarines บริษัทออกแบบและผลิตเรือดำน้ำส่วนตัวสำหรับการวิจัยสำรวจในมหาสมุทรลึกและการล่องเรือสำราญเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งผู้ที่ได้เดินทางไปยังทุกจุดหมายปลายทางของ Five Deeps คือ Vescovo ผู้ริเริ่มโครงการ เขาผู้นี้ได้ไปเยือนจุดที่ลึกที่สุดของทั้ง 5 มหาสมุทรทั่วโลกไปพร้อมกับยานสำรวจน้ำลึก “Deep Submergence Vehicle (DSV) Limiting Factor” ถึงแม้เรือดำน้ำนี้จะมีชื่อว่า Limiting แต่ความสามารถและการผจญภัยที่มันได้ร่วมเดินทางไปกับ Vescovo เหมือนไม่รู้จักกับคำว่า “ลิมิต หรือ ขีดจำกัด” เลยแม้แต่น้อย
ยานดำน้ำ Limiting Factor สามารถดำน้ำได้ลึกสูงสุดถึง 11,000 เมตร ซึ่งเป็นระดับความลึกที่สูงกว่าจุดที่ลึกที่สุดในโลกอย่างจุด Challenger Deep ของร่องลึกมหาสมุทรมาเรียนาเสียด้วยซ้ำ แถมมันยังได้ผ่านการทดสอบความดันที่ความลึกเทียบเท่ากับระดับ 14,000 เมตร Limiting Factor สามารถทำงานได้เป็นระยะเวลา 16 ชั่วโมงติดต่อกัน นอกจากนี้ หากเกิดเหตุฉุกเฉิน เรือดำน้ำนี้บรรจุอากาศหายใจเพื่อความปลอดภัยของลูกเรือเพิ่มไปอีกมากถึง 96 ชั่วโมง และเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของลูกเรือ ห้องเครื่องที่สามารถจุลูกเรือได้ 2 ที่นั่งถูกห่อหุ้มด้วยไทเทเนียมที่หนา 90 มม. เพื่อป้องกันการกระแทก เนื่องจากไทเทเนียมเป็นวัสดุที่มีความแข็งแรงสูงจึงสามารถช่วยลดแรงกระแทกที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจระหว่างการขับเคลื่อนและเพื่อรับมือกับแรงดันมหาศาลภายนอก
นับตั้งแต่ที่ได้เริ่มปฏิบัตรการเป็นครั้งแรกในปี 2018 Limiting Factor ได้ดำน้ำมาทั้งหมด 39 ครั้ง เป็นระยะทางทั้งหมด 47,000 ไมล์ทะเล หรือ 87,000 กิโลเมตร นอกจากนี้ เรือดำน้ำนี้ยังถูกติดตั้งด้วยกล้องสำหรับติดตามสถานการณ์รอบข้างที่สามารถมองเห็นได้แม้ในที่แสงน้อยมากเป็นพิเศษ ถึงแม้เรือ Limiting Factor จะดำดิ่งลงไปยังจุดที่มืดมิดอย่าง Hadal Zone โซนที่ลึกที่สุดของท้องมหาสมุทร และยังมีกล้องความระเอียดสูงระดับ 4K สำหรับบันทึกภาพ ส่วนเทคโนโลยีสำหรับเก็บชิ้นส่วนตัวอย่างใต้ทะเลเพื่อการศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์ของยาน Limiting Factor คือ เครื่องมือแขนกล (Manipulator Arm) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนหนึ่งของเรือดำน้ำที่นาฬิกา Omega เรือนที่เรากำลังจะกล่าวถึงถูกคาดเอาไว้
ภายหลังจากที่ Vescovo ได้เริ่มต้นการผจญภัยครั้งแรกของ Five Deeps ที่มหาสมุทรแอตแลนติก ณ ร่องลึกมหาสมุทรปวยร์โตรีโกตอนช่วงเดือนธันวาคมปี 2018 ทันทีที่ Omega รู้ข่าว แน่นอนว่าทางแบรนด์ไม่อาจปล่อยโอกาสที่จะได้ทำการตลาดโปรโมทนาฬิกาของตนผ่านโครงการสำรวจใต้มหาสมุทรนี้ด้วย การพัฒนานาฬิกาสักเรือนนึงให้มีประสิทธิภาพมากพอที่จะไปท่องโลกใต้สมุทรลึกอาจจะต้องใช้เวลาเป็นปีๆ ขนาด Rolex Deep Sea Special นาฬิกาเรือนบุกเบิกที่ได้ไปเยือน Challenger Deep เป็นครั้งแรกยังใช้เวลาพัฒนากว่า 7 ปี นับตั้งแต่ที่ Rolex ได้คิดค้น Deep Sea Special No.1 ขึ้นมาสำหรับการดำน้ำครั้งแรกในปี 1953 ที่ความลึกราว ๆ 3,000 กว่าเมตร และได้พัฒนา Deep Sea Special เวอร์ชัน No.3 เพื่อออกผจญภัยอีกครั้งที่ Challenger Deep ในปี 1960 แต่สำหรับ Omega แล้วระยะเวลาเพียง 6 เดือนก็เพียงพอสำหรับคิดค้นและผลิตนาฬิกาข้อมือที่สามารถดำดิ่งไปที่ความลึกเกือบ 36,000 ฟุต ที่รายล้อมไปด้วยแรงดันน้ำกว่า 8 ตันต่อตางรางนิ้ว จนออกมาเป็น “Omega Seamaster Planet Ocean Ultra Deep Professional ”
ต่างจากรูปลักษณ์ภายนอกของ Rolex Deep Sea Special และ Rolex Sea-Dweller Deepsea Challenge ที่ดูค่อนข้างบิดเบือนหรือแปลกไปจากนาฬิการุ่นปกติที่ทางแบรนด์ทำออกขายทั่วไปอยู่บ้าง เพราะ Rolex อาจจะโฟกัสเพียงแค่ความสามารถในการกันน้ำ มากกว่าหน้าตาภายนอก แต่ Omega ได้ออกแบบ Ultra-Deep ออกมาโดยที่ยังคงไว้ซึ่งรูปลักษณ์ภายนอกอันเป็นเอกลักษณ์ของนาฬิกาดำน้ำ Omega เอาไว้อยู่ ถึงแม้ว่าจะมองเพียงแค่ครู่เดียว ด้วยรูปร่างหน้าตาที่คล้ายคลึงกัน ก็ทำให้อดนึกถึง Omega Seamaster 1000 นาฬิกาดำน้ำรุ่นบรรพบุรุษไม่ได้เลยค่ะ
ตัวเรือน Omega Seamaster Planet Ocean Ultra Deep Professional มีขนาด 52.2 มม. หนา 28 มม. ทำขึ้นจากไทเทเนียมเกรด 5 ซึ่งเป็นวัสดุเดียวกันกับที่ใช้ผลิตตัวถังความดันภายในของเรือดำน้ำ Limiting Factor ที่ภายในจะคงความดันไว้ที่ความดันอากาศโดยเฉลี่ย (Atmospheric Pressure) ถึงแม้ว่าเรือดำน้ำจะลงไปอยู่ใต้ทะเลลึก อากาศภายในจะยังคงเหมาะสมและเอื้อเฟื่อให้ลูกเรือปฏิบัติการอยู่ภายในเรือได้ คุณสมบัติหลักของไทเทเนียม คือ แข็งแรงทนทาน น้ำหนักเบา และทนต่อความร้อนสูง ส่วนขอบนาฬิกาแบบหมุนได้, หน้าปัด หรือแม้กระทั่งเม็ดมะยมก็ทำขึ้นจากไทเทเนียมเช่นกัน แต่ด้านบนของขอบแต่งด้วยวงแหวนที่ทำเซรามิกสีดำ มีตัวเลขและขีดกำกับ 60 นาที และพื้นผิวสัมผัสภายนอกของตัวเรือนถูกขัดเกลาด้วยวิธีการเป่าทราย (Sandblasting) คือ การนำทรายบรรจุในเครื่องเป่าแรงดันสูง และพ่นลงบนพื้นผิวสิ่งของที่ต้องการขัด เพื่อขัดพื้นผิวที่ขรุขระให้เรียบ, ขัดพื้นผิวที่เรียบให้ขรุขระ, ขัดสนิมที่อยู่บนเนื้อเหล็กออก หรือเพื่อขจัดสิ่งสกปรกอื่นๆทีอยู่บนพื้นผิววัตถุออกไปค่ะ ส่วนการขัดแต่งชนิดนี้ถูกใช้ใน Ultra Deep โดยทำให้มันมีพื้นผิวที่สาก เราคาดว่า Omega คงตั้งใจทำขึ้นเพื่อป้องกันการเกิดรอยขีดข่วนได้ง่ายนั่นเองค่ะ
มาต่อกันที่ชิ้นส่วนขาของนาฬิกา ชนิดขานาฬิกาที่ใช้ใน Ultra Deep เรียกว่า “Bombé Lugs” ขาชนิดนี้มีดีไซน์เป็นเส้นตรงที่โค้งเข้าด้านใน นิยมใช้มาตั้งแต่ Omega Seamaster ยุค 1960 แต่จะให้ใช้รูปแบบขานาฬิกาตามแบบฉบับดั่งเดิมก็อาจจะธรรมดาเกินไป นอกจากนี้ Omega ยังต้องคำนึงถึงแรงดันมหาศาลที่โครงสร้างต่างๆของนาฬิกาต้องเจอ รวมถึงสปริงบาร์ (Strap Bars) ชิ้นส่วนนี้คือก้านเรียวยาวขนาดเล็กที่ถูกติดตั้งไว้ระหว่างขานาฬิกาทั้งสองสำหรับคาดสายนาฬิกาที่ใช้กันทั่วไป เป็นเหมือนกับราวตากผ้า แต่ด้วยแรงดันน้ำที่มีน้ำหนักมากถึงราวๆ 8 ตันต่อตารางนิ้ว Omega คงคาดว่าการติดตั้งสายข้อมือเข้ากับชิ้นส่วนสปริงบาร์แบบดั้งเดิมนี้ อาจจะเปราะบางเกินไปสำหรับสภาวะอันสุดโต่งเช่นนั้น สุดท้ายแล้ว Omega เลยตัดสินใจรังสรรค์ให้ส่วนขาของนาฬิกาและสปริงบาร์ให้กลายเป็นชิ้นส่วนเดียวกันเสียเลย ขานาฬิกาทั้งสองข้างถูกออกแบบมาให้โค้งเข้าหากัน อย่างไรก็ตาม ขาทั้งสองไม่ได้บรรจบจนเชื่อมเป็นชิ้นส่วนเดียวกันแต่อย่างใด Omega กล่าวว่าการออกแบบขาแบบใหม่นี้ได้รับแรงบันดาลใจจากครีบหัว (Cephalic Fins) ของปลากระเบนราหู ที่มีรูปทรงคล้ายกับเขาที่หัวของมัน
ส่วนสายนาฬิกาที่ใช้เป็นสายไนลอนสีน้ำเงิน มีความเหนียวและทนทาน เหมาะกับนักประดาน้ำที่ต้องใส่ชุดดำน้ำที่ครบองค์แบบ Full Wetsuit ที่อาจจะทำให้ข้อมือมีขนาดใหญ่ขึ้นเล็กน้อย ดังนั้นสายไนลอนที่มาพร้อมกับหัวสายนาฬิกาแบบหัวเข็มขัด ที่ปรับขนาดตามข้อมือได้ตามสะดวกจึงเหมาะสมมากกว่าสายสแตนเลสที่ใช้เข็มขัดสายแบบบานพับ
อีกหนึ่งสิ่งที่ Omega ทำไม่เหมือนนาฬิกาธรรมดาทั่วไปคือ “ปะเก็น” คือชิ้นส่วนอุดกันรั่วที่ถูกประกอบอยู่ภายในโครงสร้างนาฬิกา อย่างภายในเม็ดมะยมและฝาหลังของตัวเรือน ทำหน้าที่เป็นด่านกันสิ่งแปลกปลอมเข้านาฬิกา เช่น น้ำและฝุ่น โดยทั่วไปแล้ว ปะเก็นมักจะทำขึ้นจากยาง แต่ Omega ต้องการอะไรที่พิเศษและแข็งแรงกว่ายางธรรมดาๆ ดังนั้น ปะเก็นที่ใช้ใน Ultra Deep จึงทำขึ้นจากโลหะเหลว (Liquidmetal®) ในขั้นตอนการประกอบกระจกหน้าปัดเข้าสู่ตัวเรือน โลหะเหลวนั้นถูกนำเข้าสู่ความร้อน 540 ฟาเรนไฮต์ เพื่อทำให้มันหลอมเหลวจนกลายเป็นเหมือนกับกาวชั้นเยี่ยมชนิดหนึ่ง หลังจากนั้น วางกระจกหน้าปัดเข้าที่ลงบนตัวเรือนและบีบอัดด้วยแรงดัน 5 ตัน จนกระทั่งกาวโลหะเหลวของเราเย็นลงและแข็งตัวจนกลายเป็นชิ้นส่วนอุดกันรั่วได้ Liquidmetal® เป็นอีกหนึ่งกรรมวิธีการผลิตที่ Omega จดสิทธิบัตรเป็นของตนเอง
นอกจากนี้ Ultra Deep ไม่มีวาล์วปล่อยก๊าซฮีเลียม (HEV) เหมือนนาฬิกาดำน้ำทั้งสองเรือนด้านบนของ CX และ Breitling ที่เราได้แนะนำให้รู้จักไปแล้ว แต่เครื่องมือนี้ที่ถูกใส่เพิ่มเข้าไปในนาฬิกาดำน้ำอาจจะเป็นแค่ฟังก์ชันเสริมที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์นักประดาน้ำมืออาชีพ ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ใต้ท้องทะเลเป็นเวลานานในยานดำน้ำหรือฐานปฏิบัติการใต้ทะเล ซึ่งพวกเขาต้องใช้ Heliox อากาศหายใจที่ผสมขึ้นมาจากออกซิเจนและฮีเลียม อย่างที่เราได้เคยเล่าให้ฟังแล้วว่าฮีเลียมอาจซึมเข้าตัวเรือนนาฬิกาและส่งผลเสียกับนาฬิกาเมื่อจะกลับขึ้นฝั่ง แต่หากคุณมีคำถามว่า “แล้ววาล์วนี้มันไม่จำเป็นจริงหรือ?” เราขอตอบว่าไม่เสมอไปแล้วกันค่ะ เพราะ คนธรรมดาอย่างเราๆ ที่ไม่ได้ทำงานเป็นนักประดาน้ำมืออาชีพที่จำเป็นต้องลงไปสำรวจใต้ท้องทะเลเป็นเวลานานและใช้ก๊าซ Heliox สำหรับหายใจ คงไม่จำเป็นต้องใช้นาฬิกาดำน้ำที่ติดตั้งวาล์ว HEV แต่เราอาจมีโอกาสไปดำน้ำเชิงสันทนาการ อย่างการดำน้ำตื้นดูปะการัง (Snorkeling) ความลึกไม่เกิน 0.9 เมตร, การดำน้ำแบบ Free Dive ที่ความลึกไม่เกิน 10 เมตร หรือ การดำน้ำลึกแบบสกูบ้า (Self-contained Underwater Breathing Apparatus) เป็นการดำน้ำลึกไม่เกิน 30 เมตร โดยคุณต้องสวมหน้ากากดำน้ำ ตีนกบ และถังอากาศติดตัวสำหรับช่วยหายใจใต้น้ำ แต่การดำน้ำประเภทสกูบ้าต้องอาศัยทักษะและความเชี่ยวชาญระดับหนึ่งเช่นกัน
วาล์ว HEV ไม่จำเป็นสำหรับการดำน้ำเชิงสันทนาการเหล่านั้น เนื่องจากน้ำทะเลและน้ำจืดทั่วไป “ไม่มีส่วนประกอบของก๊าซฮีเลียม” เราขอพาคุณกลับเข้าคลาสวิทยาศาสตร์ เคมีพื้นฐานซักครู่ น้ำจืดประกอบด้วยธาตุไฮโดรเจน (H) 2 อะตอม และออกซิเจน (O) 1 อะตอมจนกลายเป็น H2O และน้ำทะเลประกอบด้วย โซเดียม แคลเซียม คลอไรด์และส่วนประกอบทางเคมีชนิดอื่นๆ แต่ที่แน่นอนคือมันไม่มีส่วนประกอบของฮีเลียม เพราะฉะนั้นวางใจปัญหาเรื่องก๊าซฮีเลียมจะทำการขยายตัวจนทำกระจกหน้าปัดคุณปะทุออกมาได้ค่ะ หากนาฬิกาของคุณมีความสามารถกันน้ำที่เพียงพอกับความลึกของระดับน้ำที่คุณต้องการพามันไปใช้งานด้วย มันจะยังคงสามารถทำงานได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีวาล์ว HEV เลยค่ะ
ส่วนภายในเป็นระบบขึ้นลานอัตโนมัติ Omega Co-Axial Caliber 8912 สำรองพลังงานได้ 60 ชั่วโมง สามารถต้านแรงแม่เหล็กได้ และได้ผ่านทดสอบและผ่านการรับรองมาตรฐานความเที่ยงตรงจาก Swiss Federal Institute of Metrology (METAS) สถาบันมาตรวิทยาแห่งสหพันธ์สวิส
Omega Seamaster Planet Ocean Ultra Deep Professional ผลิตขึ้นมาทั้งหมด 3 เรือน มีชื่อเรียกว่า FOD-X 1, 2 และ 3 ซึ่ง FOD ย่อมาจาก "Full Ocean Depth – Experimental" เนื่องจากนาฬิกาทั้ง 3 เรือนนี้เป็นนาฬิกาทดลองที่ถูกส่งไปยังร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนาทุกเรือน ถึงแม้ว่าความลึกที่นาฬิกาเหล่านี้ได้ลงไปทดสอบในสถานการณ์จริงใต้ท้องทะเลลึก จะอยู่ที่ 10,928 เมตร ที่ล้อมรอบไปด้วยแรงดันน้ำ 1,100 บาร์ ถ้าหากคุณนึกไม่ออกว่าแรงดันนี้มันมหาศาลแค่ไหน ลองเปรียบเทียบไปพร้อมกันค่ะ ในชั้นบรรยากาศโดยเฉลี่ยที่เราหายใจกันได้อย่างปกติ มีแรงดันเท่ากับ 1.01 บาร์เพียงเท่านั้น แน่นอนค่ะว่ามนุษย์อย่างเราๆคงทนสภาวะเช่นนั้นไม่ได้แน่นอน แต่ด้วยมาตรฐานสากลของ ISO 6425 ที่กำหนดให้นาฬิกาดำน้ำต้องสามารถกันน้ำได้อีก 25% ของระดับความลึกที่กำหนดไว้ ดังนั้น จากระดับน้ำ 11,000 เมตร Omega จึงพัฒนาให้มันกันน้ำได้ถึง 15,000 เมตร (49,212 ฟุต) ซึ่งเป็นระดับความลึกที่รายล้อมไปด้วยแรงดันราวๆ 1,500 บาร์ นาฬิกาทั้งสามเรือนได้ผ่านบททดสอบที่ระดับความลึกดังกล่าว นับว่าเป็นการทดสอบที่สุดโต่งกว่าสิ่งที่ยานดำน้ำ Limiting Factor ได้ถูกทดสอบเสียอีก เรือดำน้ำดังกล่าวทดสอบแรงดันที่ความลึกระดับ 14,000 เมตร
ระหว่างภารกิจดำน้ำของเรือ Limiting Factor นาฬิกา Ultra Deep 2 เรือนถูกคาดไว้บนแกนกล (Manipulator Arms) ของเรือ ส่วนอีกเรือนหนึ่งถูกติดตั้งไว้บน “Lander” เป็นเหมือนยานดำน้ำอิสระขนาดเล็กที่สามารถปล่อยออกจากตัวยานหลักเพื่อเข้าไปสำรวจตามซอกขนาดเล็กที่ยานใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงได้ และยานนี้ควบคุมได้ในระยะทางไกล มีชื่อเล่นว่า “Scaph” แต่แล้วเหตุไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เจ้า Scaph ติดอยู่ในโคลนตมใต้ก้นทะเล และ Vescovo ผู้ควบคุมยานดำน้ำ Limiting Factor ก็ไม่สามารถพา Scaph กลับมาได้และตัดสินใจขึ้นฝั่งก่อนในขณะนั้น Vescovo กล่าวติดตลกว่า “มันคงหายไปเพราะจะได้มีใครสักคนหามันพบ แต่ก็คงจะต้องยุ่งกันอยู่เป็นปีๆเลยกว่าจะหามันเจอ” แต่สุดท้ายแล้ว Vescovo คงทำใจไม่ได้ที่จะปล่อยให้ยาน Scaph พร้อมทั้ง หนึ่งใน Ultra Deep ที่มีอยู่แค่สามเรือนในโลกต้องถูกทิ้งไว้อยู่ก้นมหาสมุทร จึงดำเนินการปฏิบัติการกู้เรือดังกล่าว โดย Vescovo เป็นคนขับยาน Limiting Factor ไปกู้มันขึ้นมาด้วยตนเอง เมื่อเขาได้พา Scaph กลับขึ้นมายังฝั่งได้สำเร็จ Vescovo สังเกตเห็นทันทีเลยว่า Ultra Deep เรือนที่จมอยู่ที่ Challenger Deep จุดที่ลึกที่สุดในท้องมหาสมุทรของโลกใบนี้อยู่ถึง 2 วันด้วยกัน ยังสามารถเดินได้อยู่และเกือบตรงเป๊ะกับเวลาจริงในขณะนั้น เท่านี้ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ได้แล้วค่ะว่า Omega Seamaster Planet Ocean Ultra Deep Professional มีสมรรถภาพสูงพอสมควร
-----------------------------------
จากนาฬิกาดำน้ำชั้นเยี่ยมที่เราได้คัดเลือกมานำเสนอให้ทุกท่านได้รู้จักกัน คงจะมีแค่ Omega Seamaster Planet Ocean Ultra Deep Professional เรือนสุดท้ายที่เรากล่าวถึง ที่อัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีและดีไซน์ใหม่ๆที่ Omega คิดค้นมาเพื่อภารกิจดำน้ำของโครงการ Five Deeps Expedition ครั้งประวัติศาสตร์ที่ทำลายสถิติโลกครั้งใหม่ เราขอยกให้การรังสรรค์ปะเก็นจาก Liquidmetal® โลหะหลอมเหลวที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นกาวติดผนึกกระจกหน้าปัดเข้ากับตัวเรือนของ Ultra Deep เมื่อมันเย็นและแข็งตัวลง เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่น่าสนใจ เพราะ นอกจากมันจะสามารถเชื่อมกระจกหน้าปัดเข้ากับตัวเรือนได้อย่างไร้รอยต่อหรือช่องว่างแล้ว ปะเก็นชนิดนี้ยังมีแนวโน้มมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าและทนต่ออุณหภูมิที่สูงกว่าอีกด้วย เมื่อเทียบกับปะเก็นแบบธรรมดาทั่วไปที่ทำขึ้นจากยาง พวกมันมีโอกาสที่จะเสื่อมสภาพได้เมื่อกาลเวลาผ่านไปเนิ่นนานและยังสามารถหลอมละลายได้เมื่อต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงพอสมควร จนกระทั่งผู้สวมใส่ต้องนำนาฬิกาไปเปลี่ยนชิ้นส่วนปะเก็นค่ะ ดังนั่น นวัตกรรม Liquidmetal® เป็นอีกหนึ่งอาวุธเด็ดที่อาจนำไปต่อยอดได้ในนาฬิกาดำน้ำอีกหลายรุ่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกันน้ำของนาฬิกาเหล่านั้น
อ้างอิงจาก
http://www.20000feet.com/
http://oceanictime.blogspot.com/2009/03/cx-swiss-military-20000feet-full-story.html
https://www.ablogtowatch.com/cx-swiss-military-20000-feet-diver-watch-review/2/
https://blog.crownandcaliber.com/what-is-the-difference-between-a-chronometer-and-a-chronograph/
https://www.ablogtowatch.com/omega-seamaster-planet-ocean-ultra-deep-professional-watch-record-deep/
Comments