top of page

Rolex Sea Dweller Deepsea: Part 1: เส้นทางจากสายน้ำสู่ร่องใต้สมุทร

ทุกครั้งที่เราล่องเรือบนท้องทะเลที่กว้างใหญ่ หลายท่านคงเคยตั้งคำถาม จุดที่ลึกสุดของมหาสมุทรอยู่ที่ไหน? ลึกแค่ไหน และมนุษย์จะไปที่นั้นได้อย่างไร? เหล่านักวิทยาศาสตร์และนักสมุทรศาสตร์ได้ทำการพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า มนุษย์ ไม่สามารถลงไปสำรวจจุดลึกใต้ทะเลนั้นโดยปราศจากอุปกรณ์ช่วย เนื่องจากทะเลลึกระดับนั้นมีความหนาแน่นที่กดทับร่ายกายเราขณะที่ดำลงไป สภาวะที่อันตรายสุดโต่งนี้ทำให้มีมนุษย์เพียงไม่กี่คนในโลกนี้ ที่สามารถจะดำลงไปตัวเปล่าได้ลึกที่สุดแค่ประมาณ 200 เมตรเท่านั้น ซึ่งถ้าเป้าหมายอยู่ที่จุดลึกสุดของโลกที่ลึกกว่า 10,900 เมตร จุดที่มีความกดดันมหาศาลเทียบเท่ากับน้ำหนักเกือบ 10 ตัน ทับอยู่บนร่างกายเรา นั่นคงไม่ใช่ที่ ๆ โครงสร้างร่างกายแบบมนุษย์ หรืออุปกรณ์ดำน้ำพื้น ๆ ทั่วไปจะทนทานได้


บทความนี้เราจะเล่าถึงความพยายามของนาฬิกาข้อมือเรือนเล็กๆเรือนหนึ่ง คุณคงไม่เชื่อว่ามันสามารถทนต่อแรงดันได้โดยที่กระจกหน้าปัดไม่แตกละเอียดเป็นเม็ดทรายที่ก้นมหาสมุทรนั้น และเมื่อนำกลับขึ้นมาก็ยังใช้งานได้ปกติ ลัดดาจะพาทุกท่านท่องโลกใต้ทะเลไปพร้อมกับ Rolex Deepsea และเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่สร้างสถิติระดับความลึกเกือบ 11,000 เมตร ซึ่งเป็นระดับความลึกยิ่งกว่าก้นท้องทะเลที่เรือ Titanic ได้จมลงไปเสียอีก


และเนื่องจากเป็นบทความที่ยาวมาก และมีการสืบค้นที่ค่อนข้างลึก เราจึงตัดสินใจแบ่งออกเป็น 4 ตอน เพื่อความสะดวกในการอ่านของทุกท่าน อยากให้ทุกคนร่วมผจญภัยสู่ก้นมหาสมุทรกับ WBL และ Rolex กันค่ะ


มนุษย์กับการดำน้ำ

เมื่อมนุษย์อยากจะทำการสืบค้นปริศนาใต้ท้องทะเลลึกแต่ด้วยขีดความสามารถทางด้านร่างกาย อย่างการที่ต้องเผชิญหน้ากับ “Decompression Sickness” โรคน้ำหนีบ ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการดำน้ำ เป็นการเกิดฟองอากาศในเลือดและเนื้อเยื่อ เพราะความไม่สมดุลของความกดดันอากาศภายในและภายนอกร่างกาย ซึ่งมักเกิดขึ้นกับนักดำน้ำที่ต้องเผชิญกับแรงดันสูงขณะอยู่ใต้น้ำ แต่เมื่อขึ้นสู่ผิวน้ำ ร่างกายอาจจะปรับสภาพไม่ทันเนื่องจากแรงดันรอบกายที่ลดลงฉับพลันจนทำให้เกิดอาการดังกล่าว โรคดังกล่าวจะทำให้เกิดอาการเจ็บปวดตามกล้ามเนื้อและข้อต่อกระดูก ปวดศรีษะและท้อง เกิดอาการชา หรือแม้กระทั่งสภาวะเป็นอัมพาต นอกจากนี้ หากมนุษย์ลงไปอยู่ใต้น้ำที่ระดับความลึกเกิน 5 เมตร หัวใจจะเริ่มเต้นช้าลง สมองอาจจะหยุดทำงาน อวัยวะภายในถูกบีบอัดจากแรงดันน้ำรอบตัว จนหดเล็กลง ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้มนุษย์ต้องเริ่มคิดค้นสิ่งประดิษฐ์อย่าง “เรือดำน้ำ” เพื่อเดินทางไปสู่ท้องทะเลที่ลึกกว่าเดิม


เรือดำน้ำคือยานพาหนะจากเหล็กที่สามารถเคลื่อนตัวภายใต้ผิวน้ำได้ ซึ่งเรือดำน้ำลำแรกถูกสร้างขึ้นมาในปี ค.ศ. 1620 โดย คอร์นีเลียส แดรบเบิล (Cornelius Drebbel) วิศวกรชาวดัตช์สำหรับใช้ในงานราชการของพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ ซึ่งมันถูกสร้างตามมาตรฐานการออกแบบที่ วิลเลียม บอร์น (William Bourne) นักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษได้ออกแบบไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1578 ในเวลานั้น เรือดำน้ำฉบับแรกเริ่มจุคนได้เพียงแค่ 12 คน และดำน้ำได้ที่ระดับความลึกเพียง 4.5 เมตร แถมยังเคลื่อนที่ใต้ผิวน้ำได้เพียง 8 กิโลเมตรก่อนจะต้องขึ้นสู่ผิวน้ำ แต่เรือดำน้ำในปัจจุบันนี้สามารถจุคนได้ถึงราวๆ 150 คนและดำน้ำได้ลึกมากขึ้นเป็นระดับหลักพันเมตรและยังสามารถอยู่ใต้น้ำได้นานเป็นเดือนหรือจนกว่าอาหารและอากาศจะหมดไป


แต่ทำไมมนุษย์ถึงต้องการสำรวจทางทะเล ในเมื่อการที่มนุษย์จะดำดิ่งลงไปใต้มหาสมุทรไปพร้อมกับเรือดำน้ำแต่ละครั้งต้องใช้เวลาและงบประมาณจำนวนมาก เหตุผลอาจจะเป็นเพราะต้องการแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติแหล่งใหม่ๆเพื่อนำมาพัฒนาความเป็นอยู่ของมวลมนุษยชาติ ซึ่งหลักๆก็คือทางด้านการแพทย์ สารเคมีหลากหลายชนิดที่นำมาใช้ในการแพทย์นั้นสกัดมาจากสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ เช่น สารเคมีชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า Scyllo-inositol เป็นสารเคมีที่ใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยที่มีอาการอัลไซเมอร์ แหล่งที่มาของสารนี้คือพืชจำพวกมะพร้าว แต่การสำรวจท้องมหาสมุทรของเหล่านักวิทยาศาสตร์และนักสมุทรศาสตร์ทำให้วงการแพทย์ทั่วโลกได้ค้นพบว่า สาร Scyllo-inositol ก็มีอยู่ในสัตว์ทะเลน้ำลึกตระกูลหอยและปลาดาวอีกด้วย


และอย่างที่เราทราบกันเป็นอย่างดีว่าปัจจุบันนี้มนุษย์เราขยันรังสรรค์เทคโนโลยีมากมายขึ้นมาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเราเอง เช่น รถยนต์และเครื่องบิน แต่ชีวิตที่ดีและสะดวกสบายนั้นได้ทำลายสิ่งแวดล้อมทั้งบนบกและในท้องทะเล ดังนั้นการสำรวจมหาสมุทรทำให้เราได้ทราบว่ามวลมนุษยชาติได้สร้างผลกระทบต่อธรรมชาติมากแค่ไหน เช่น สภาพอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาที่มนุษย์ได้ก่อ มากไปกว่านั้น ข้อมูลเชิงลึกจากการสำรวจทางทะเลช่วยให้มนุษย์ได้เข้าใจกับการเกิดแผ่นดินไหว สีนามิ หรือภัยธรรมชาติอื่นๆ จึงทำให้เราได้เรียนรู้และหาวิธีรับมือกับมันได้ดียิ่งขึ้น

โซนในมหาสมุทร ที่ถูกแบ่งโดยระดับความลึก

ความลึกระดับต่างๆใต้ท้องสมุทร – ระดับความลึกใต้ท้องทะเลถูกแบ่งออกเป็น 5 โซนหลักๆตามระดับความลึก ซึ่งสีของแต่ละชั้นไล่จากสีอ่อนไปสีเข้มของชั้นด้านล่างสุดเหมือนขนมชั้นบ้านเรา เนื่องจากแต่ละระดับความลึก ตั้งแต่พื้นผิวน้ำไปจนถึงระดับความลึกด้านล่างสุดที่แสงอาทิตย์ไม่สามารถเข้าถึงได้


Hadalpelagic Zone เป็นชั้นสุดท้ายของมหาสมุทร อยู่ที่ระดับความลึกตั้งแต่ 6,000 เมตรไปจนถึงก้นท้องทะเลซึ่งอาจมีระดับความลึกถึง 11,000 เมตร โซน Hadalpelagic มักจะถูกพบที่ “Deep Water Trenches” ร่องลึกก้นสมุทร และ “Submarine Canyon” หุบผาชันใต้ทะเล มีอุณหภูมิอยู่ที่ไม่เกิน 4 องศาเซลเซียส ด้วยระดับความลึกเช่นนี้ทำให้มีแรงดันมหาศาล จุดที่ลึกที่สุดของท้องมหาสมุทรในโลกใบนี้อยู่ที่ “Mariana Trench” ในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่ลึกลงไปถึง 10,911 เมตรจากผิวน้ำทะเล ซึ่งจุดลึกสุดของร่องลึกก้นสมุทรแห่งนี้ถูกขนานนามว่า “Challenger Deep”


แรงดัน ณ Challenger Deep อยู่ที่ประมาณ 1,086 บาร์ หรือ 15,751 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว(psi) แต่เมื่อกล่าวถึงความดันในบรรยากาศปกติที่เราใช้ชีวิตกันทุกวันนี้จะอยู่ที่ 14.7psi หรือเท่ากับ 1 atm ซึ่งก็คือ ความดันบรรยากาศโดยเฉลี่ยบนพื้นผิวโลก และมนุษย์ธรรมดาๆอย่างเราที่ดำรงชีวิตอยู่ในชั้นบรรยากาศที่มีแรงดันเพียง 1 atm จะไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่มีแรงดันมหาศาลเท่ากับ 1,072 atm ของจุด Challenger Deep ที่ลึกลงไปเป็นระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร ซึ่งถ้าเป็นการขับรถก็เทียบเท่ากับขับรถตรงจากอนุสาวรีย์ชัยฯ ไปมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฟังดูแล้วไม่ใกล้ ไม่ไกล แต่ถ้าลองเอาภูเขาเอเวอเรสตรงจุดสูงสุด มาวางตรงจุดที่ลึกทึ่สุด ของ Challenger Deep ยอดของมันจะยังคงจมอยู่ใต้น้ำเป็นระยะทางมากกว่า 2 กิโลเมตรอยู่ดี


นอกจากนี้ หากเราจะลองจินตนาการเพื่อให้เห็นภาพของแรงกดดันอันมหาศาลนี้ดู มันก็เหมือนเรานำรถบรรทุก 6 ล้อของ HINO ที่มีน้ำหนักราวๆ 9.9 ตันมาวางไว้บนศรีษะ แน่นอนค่ะว่าคงไม่มีใครอยากจะเข้าไปเสี่ยงชีวิตที่ใต้ทะเลกับแรงดันเช่นนี้ ถึงแม้ว่า Challenger Deep จะถูกค้นพบโดยกองทัพเรือสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ปี 1875 แต่ก็เป็นการค้นพบโดยปราศจากมนุษย์ใดดำลงไปในร่องลึกมหาสมุทรนี้ เป็นเพียงการวัดความลึกโดยใช้เครื่องวัดเสียงสะท้อน (Echo Sounding) ของเรือ Challenger ซึ่งเป็นที่มาของชื่อจุด Challenger Deep แต่ทว่าก็ได้มีมนุษย์ 2 คนแรกของโลกและนาฬิกาจาก Rolex ได้ไปเยือนจุดลึกสุดของโลกใบนี้เป็นที่เรียบร้อยในปี 1960

ถ้าคุณแบกน้ำหนักรถคันนี้ไหว คุณสามารถไปต่อที่ Challenger Deep

ต้นกำเนิดของ Rolex Dive Watch

Rolex Dive Watches

ก่อนจะไปทำความรู้จักกับนาฬิกาดำน้ำในตำนาน เราขอเล่าถึงต้นกำเนิดของมันซักหน่อย Rolex ได้ผลิตนาฬิกากันน้ำได้มาเป็นครั้งแรกในปี 1926 ซึ่งก็คือ Rolex Oyster ที่มาพร้อมกับขอบ ฝาหลังตัวเรือนและเม็ดมะยมแบบ Screw-down ที่สามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน สมรรถนะในการกันน้ำของ Rolex Oyster ได้ถูกพิสูจน์โดย Mercedes Gleitze นักกีฬาว่ายน้ำมืออาชีพสาวชาวอังกฤษ ซึ่งเธอคนนี้ก็ได้ทำลายสถิติโลกไม่แพ้กับการไปพิชิตจุดต่ำสุดของโลกที่ Challenger Deep หรือการไปเยือนยอดเขาเอเวอเรสต์ เพราะ Mercedes Gleitze เป็นหญิงสาวชาวอังกฤษคนแรกที่ได้ลงไปว่ายน้ำข้ามช่องแคบยิบรอลตาร์และช่องแคบอังกฤษ และในระหว่างที่เธอว่ายน้ำข้ามช่องแคบอังกฤษ นาฬิกาที่อยู่บนข้อมือเธอคือ “Rolex Oyster” ซึ่งเป็นแคมเปญที่ Rolex ได้ร่วมมือกับ Mercedes Gleitze เพื่อเป็นการพิสูจน์ให้คนทั้งโลกได้ประจักษ์ว่าตัวเรือนแบบใหม่ที่มีนามว่า “Oyster” สามารถกันน้ำได้อย่างแท้จริง ซึ่งแต่ละองค์ประกอบของตัวเรือนนี้ถูกประกอบเข้าด้วยกันอย่างแนบสนิทราวกับฝาหอย

Mercedes Gleitze ขณะว่ายข้ามช่องแคมอังกฤษและ Rolex Oyster ที่เธอใส่
ข่าว Mercedes Gleitze และ Rolex Oyster บนหนังสือพิมพ์ Daily Mail

แต่นาฬิกาสำหรับดำน้ำโดยเฉพาะจาก Rolex ได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 1953 ในยุคนั้นเป็นช่วงเวลาที่การดำน้ำเป็นที่นิยมกันทั่ว นวัตกรรมต่างๆที่ใช้ในทางการทหารได้ทะยอยแทรกซึมสู่ความเป็นอยู่ของประชาชนธรรมดาอย่างเราๆ เช่น “Aqualung” หรือถังออกซิเจนสำหรับนักดำน้ำ ซึ่งถูกคิดค้นโดย Jacques Cousteau (ฌาคส์ กุสโต) ทหารเรือชาวฝรั่งเศส ผู้บุกเบิกแห่งการสำรวจใต้น้ำ ต่อมา มีมิตรสหายสนิทท่านหนึ่งของ Jacques Cousteau ที่เป็นหนึ่งในสมาชิกคณะกรรมการบริหารของ Rolex เขาคนนี้คือ René Paul Jeanneret ซึ่ง Jeanneret เองก็หลงไหลในการดำน้ำเช่นกัน และเขายังคอยชักจูงให้ Rolex ออกแบบนาฬิกาที่สามารถกันน้ำลึกไว้ใช้สำหรับดำน้ำได้เสียที


และแล้ว Rolex ก็ได้เปิดตัว “Rolex Submariner” นาฬิกาสำหรับดำน้ำเรือนแรกในปี 1953 ด้วยขีดความสามารถในการกันน้ำได้ถึง 100 เมตร ซึ่งรุ่นแรกนี้คือ Rolex Submariner Ref.6204 นอกจากขีดความสามารถในการกันน้ำที่มากขึ้น Submariner ยังมาพร้อมกับ Rotating Bezel หรือขอบแบบหมุนได้ บนขอบจะมีเลขอารบิกและขีดสำหรับบอกนาที ซึ่งขอบนี้อำนวยความสะดวกให้กับเหล่านักดำน้ำเพื่อจับเวลาว่าพวกเขาได้ใช้เวลาไปเท่าไหร่แล้วขณะดำน้ำ เพราะทุกครั้งที่ลงดำน้ำ พวกเขาต้องคอยคำนึงถึงปริมาณออกซิเจนที่มีอยู่ในถังออกซิเจนของพวกเขา ดังนั้นเวลาจึงสำคัญมาก หรือคนทั่วไปก็สามารถใช้ฟังก์ชันนี้จับเวลาได้เช่นกัน การใช้ Rotating Bezel ของ Rolex Submariner สามารถใช้งานได้ง่ายๆ โดยผู้สวมใส่แค่หมุนปรับขอบให้เจ้าสัญลักษณ์สามเหลี่ยมคว่ำบนขอบนาฬิกานั้นขนานกับเข็มนาทีของเวลาขณะนั้น จากนั้น เมื่อเวลาได้ผ่านพ้นไป ผู้สวมใส่ก็จะทราบระยะเวลาที่ได้ใช้ไปโดยสังเกตว่าเข็มนาทีได้ชี้ไปที่เลขใดบนขอบนาฬิกา


ใน Rolex Submariner Ref.6204 มีตัวเรือนจาก Stainless Steel ขนาด 37 มม. Rotating Bezel ทำขึ้นจากอะลูมิเนียมแต่งสีดำด้านบน หน้าปัดดำ หลักใช้เป็นหลักขีด หลักทรงกลมและสามเหลี่ยม เข็มทรงดินสอ ทั้งเข็มและหลักชั่วโมงเป็นแบบเคลือบเรืองแสง นอกจากนี้ บริเวณขอบยังมี Minute Track(ขีดบอกนาที) กลไกภายในเป็นระบบขึ้นลานอัตโนมัติ Caliber A260 ต่อมาในปี 1956 ทางแบรนด์ได้ออกสมาชิกใหม่ที่มีขีดความสามารถกันน้ำได้สูงขึ้นเป็น 200 เมตร ซึ่งรุ่นดังกล่าวคือ Rolex Submariner Ref.6538

Rolex Submariner Ref.6204 (ซ้าย) / Rolex Submariner Ref.6538 (ขวา)

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้มาเยือนเหล่า Submariner อีกครั้งในปี 1967 เมื่อ Rolex ได้ปล่อย Rolex Submariner Ref.1680 ที่มาพร้อมกับฟังก์ชันบอกวันที่เป็นครั้งแรก หน้าต่างบอกวันที่อยู่ที่ตำแหน่งสามนาฬิกา ซึ่ง Rolex ได้ใช้ Cyclops หรือเลนซ์ขยายแบบพิเศษที่กระจกหน้าปัดบนตำแหน่งหน้าต่างบอกวันที่ เลนส์นี้ขยายภาพตรงหน้าได้ 2.5 เท่า เพื่อให้ผู้สวมใส่มองวันที่ได้สะดวก Ref.1680 เวอร์ชันแรกนี้มักจะถูกเรียกว่า “Red Sub” เพราะ คำว่า “Submariner” บนหน้าปัดเป็นตัวอักษรสีแดงต่างกับสีขาวใน Submariner รุ่นก่อนๆ กลไกภายในของ Ref.1680 คือระบบขึ้นลานอัตโนมัติ Caliber 1575

Rolex Submariner Ref.1680

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหนึ่งนาฬิกาสำหรับดำน้ำที่มีขีดความสามารถกันน้ำในระดับที่ลึกจนคุณอาจคาดไม่ถึง ซึ่ง Rolex ได้ร่วมมือกับหน่วยงานรัฐระดับประเทศ เพื่อออกแบบนาฬิการุ่นหนึ่งมาเป็นพิเศษเพื่อนำไปเข้าร่วมการปฏิบัติภารกิจการดำน้ำครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์โลก



การเดินทางสู่ก้นมหาสมุทรครั้งแรกกับ Rolex Deepsea Special

Bathyscaphe Trieste ยานสำรวจน้ำลึกตรีเอสต์ (ซ้าย) / Lt. Don Walsh และ Jacques Piccard ในห้องเครื่องของเรือดำน้ำ Trieste (ขวา)

ย้อนไปสู่การเดินทางลงสู่ก้นมหาสมุทรครั้งแรกของ Rolex กับ “Bathyscaphe Trieste” ยานสำรวจน้ำลึกตรีเอสต์ ออกแบบโดย Auguste Piccard (ออกุสเต ปิการ์) นักวิทยาศาสตร์ชาวสวิสและได้ถูกสร้างขึ้นในเมือง Trieste ของประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นเมืองที่ติดกับน่านน้ำและเต็มไปด้วยท่าเรือขนส่งสินค้า เรือดำน้ำ Trieste ได้ถูกปล่อยลงสู่มหาสมุทรเมดิเตอร์เรเนียน ใกล้บริเวณเกาะคาปรีเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ.1953 ซึ่งเมื่อแรกเริ่มนั้น Trieste ถูกควบคุมและอยู่ในความดูแลของกองทัพเรือฝรั่งเศส


ในช่วงนั้น Rolex ได้ทำการร่วมมือกับคุณ Piccard เป็นที่เรียบร้อย ซึ่ง Rolex จะผลิตนาฬิกาข้อมือที่ออกแบบมาให้กันน้ำและทนแรงดันสูงเพื่อนำไปติดกับด้านนอกของเรือดำน้ำ Trieste และนาฬิกานั้นมีชื่อว่า “Rolex Deepsea Special” ซึ่งระดับความลึกที่เจ้า Trieste ได้ดำดิ่งลงไปคือที่ระดับ 3,150 เมตร จึงได้ทำลายสถิติโลกเป็นที่เรียบร้อย และ Rolex ก็ได้ถูกจดอยู่ในหน้าประวิติศาสตตร์ของการดำน้ำครั้งนี้ด้วย เนื่องจากเมื่อเรือดำน้ำ Trieste ได้กลับขึ้นมาสู่ผิวน้ำ Rolex Deepsea Special ก็ยังสามารถทำงานได้ตามปกติ ซึ่งความตั้งใจของ Rolex ในเวลานั้นคือความต้องการที่จะทดสอบแนวคิดในการออกแบบนาฬิกากันน้ำของทางแบรนด์


หลายปีต่อมา ในปี 1958 Trieste ได้ถูกซื้อโดยกองทัพเรือแห่งสหรัฐอเมริกา และแน่นอน กองทัพสหรัฐก็ได้ทำการร่วมมือกับ Rolex อีกครั้ง เพื่อที่จะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่แห่งวงการดำน้ำ โดยการพา Trieste และ Rolex Deepsea Special ลงไปสู่ก้นบึ้งของ “Challenger Deep” แอ่งขนาดเล็กซึ่งเป็นจุดลึกที่สุดในมหาสมุทรของโลกเท่าที่มวลมนุษยชาติได้ค้นพบ มีระดับความลึกที่ 10,911 เมตร ตั้งอยู่ที่ปลายด้านใต้สุดของ “Marina Trench” ร่องลึกมาเรียนา ตั้งอยู่แถบตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก


การดำน้ำของ Trieste ครั้งนี้ได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 1960 Trieste ได้ดำดิ่งลงไปพร้อมกับลูกเรือสองคน คือ Jacques Piccard (ฌาคส์ ปีการ์) Jacques คือ นักสมุทรศาสตร์ ผู้ออกแบบยานสำรวจน้ำลึกตรีเอสต์ร่วมกับพ่อของเขา Auguste Piccard และ USN Lieutenant Don Walsh ทหารเรือสหัรัฐเรือตรีดอน วอลช์ การผจญภัยสู่ก้นมหาสมุทรครั้งแรกของเขาทั้งสองและ Rolex Deepsea Special ใช้เวลาดำลงไปเกือบ 5 ชั่วโมง แต่ทั้งสองใช้เวลาเพียงแค่ 20 นาทีบนก้นบึ้งของ Challenger Deep ส่วนขากลับสู่พื้นผิวน้ำใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง 15 นาที ระดับความลึกที่ได้เดินทางลงไปอยู่ที่ประมาณ 10,916 เมตร เป็นระยะทางที่ลึกกว่าการดำน้ำครั้งแรกของ Trieste มากกว่าสามเท่า


ระหว่างที่ทำภารกิจใต้ท้องทะเล Don Walsh ได้ให้สัมภาษณ์ว่าระหว่างทางที่ลงไปมันค่อนข้างน่าเบื่อ แต่เขาก็ได้กล่าวเสริมอีกว่า “One moment of pure terror” มีชั่ววูบหนึ่งที่เต็มไปด้วยความน่ากลัวล้วนๆ เพราะขณะที่เขาและ Jacques Piccard ได้ผ่านระยะทางสองในสามส่วนของระยะทางทั้งหมดสู่ก้นท้องทะเล เจ้าเรือดำน้ำ Trieste กลับได้ไปชนกับโขดหินรอบข้างอย่างจัง จนทั้งสองต้องเหลือบตามองหน้ากันด้วยความกลัวและทำใจยอมรับกับจุดจบของตนเอง แต่แล้วก็ไม่มีอะไรรุนแรงเกิดขึ้น นอกจากนี้ พวกเขาก็ได้มาค้นพบภายหลังว่า Plexiglas Exterior Window หรือกระจกหน้าต่างของเรือดำน้ำมีรอยร้าวเล็กน้อยจากแรงดัน 1 ตันต่อตารางเซนติเมตร อย่างไรก็ตาม รอยร้าวนี้อาจจะมาจากการกระแทกกับโขดหินด้วยก็เป็นได้ และ Don Walsh ก็ได้กล่าวติดตลกด้วยว่า “The cracked window wasn’t life-threatening, at least not immediately” หน้าต่างเรือที่ร้าวนั้นไม่ได้อันตรายถึงชีวิตแต่อย่างใด อย่างน้อยก็ไม่ใช่ทันทีทันใดในตอนนั้นนะ


หลังจากที่ Jacques Piccard และ Don Walsh ได้เสร็จสิ้นภารกิจดำน้ำ Jacques ก็ได้ทำการส่งโทรเลขไปแจ้งกับสำนักงานใหญ่ของ Rolex ในกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในโทรเลข เขาระบุไว้ว่า “Happy to announce that your watch works as well at 11,000 metres as it does on the surface” ยินดีด้วย นาฬิกาของคุณสามารถทำงานได้ปกติในที่ระดับความลึก 11,000 เมตร เช่นเดียวกับตอนที่มันอยู่บนพื้นผิวโลก


---------------------


นาฬิกาคู่หูที่ถูกติดไว้อยู่ทางด้านนอกเรือดำน้ำ Trieste คือ Rolex Deepsea Special No.3 ที่มีหน้าตาแปลกประหลาด อย่างไรก็ตาม Rolex Deepsea Special ตัวต้นแบบที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาและเปิดเผยสู่สายตาประชาชนทั่วโลกมีอยู่ 3 เรือนด้วยกัน แต่นาฬิกาสำหรับดำน้ำทั้ง 3 เรือนในตำนานนี้จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร โปรดรอติดตามชมใน “Rolex Sea Dweller Deepsea: เจาะลึกไปกับจุดลึกสุดใต้ท้องทะเลที่มนุษย์จะไปถึง Part 2” นะคะ




อ้างอิงจาก



















Featured Posts
Recent Posts
bottom of page