top of page

Rolex Sea Dweller Deep Sea: Part 3: จุดกำเนิด Rolex Sea-Dweller

ตอนนี้เราจะพาทุกท่านย้อนเวลากลับไปจุดที่ Rolex เริ่มต้นสู่การดำดิ่งใต้ท้องสมุทร จุดกำเนิดที่หลาย ๆ คนอาจจะไม่เคยรู้มาก่อน เพราะ Rolex ทำงานร่วมมือกับ นักประดาน้ำ และนักสำรวจใต้น้ำหลายสำนัก รวมถึงเหตุผลในการออกแบบนาฬิกาที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าสมุทร หรือ Sea-Dweller อีกด้วย


Rolex Submariner ต้นกำเนิดของ Rolex Sea-Dweller

ก่อนที่เราจะไปทำความรู้จักกับ Rolex Sea-Dweller และ Rolex Sea-Dweller Deepsea เราขอแนะนำให้ทุกท่านได้ย้อนประวัติสั้น ๆ ไปถึง Rolex Submariner กันก่อน เพราะถ้าไม่มี Submariner ถือกำเนิดขึ้น Rolex ก็จะไร้ทิศทางที่จะสร้าง Sea-Dweller ที่เป็นตำนานแห่งนาฬิกาดำน้ำให้ทุกท่านได้เชยชมในเวลาต่อมา


หากทุกท่านได้อ่านบทความภาคแรกมาแล้ว ก็จะทราบว่านาฬิกากันน้ำเรือนแรกของทางแบรนด์คือ Rolex Oyster ที่มีการริเริ่มวิธีการปิดผนึกฝาหลังด้วยวิธีขันเกลียว รวมถึงการใช้เม็ดมะยมแบบเกลียวขันเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1926 ซึ่งถึงแม้ว่าในช่วงเวลานั้นจะมีการรับรองการกันน้ำได้เพียง 10 เมตร (1 ATM) แต่นั่นก็คือความพยายามครั้งแรกของโลกที่จะทำให้นาฬิกาข้อมือใช้งานในสภาวะเปียกน้ำได้


Rolex Oyster เรือนประวัติศาสตร์ที่ต้องบันทึกไว้ ก่อนที่จะมาถึงยุคของ Rolex Submariner ก็คือ Oyster Ref.2533 ที่คนรักนาฬิกาเห็นก็คงต้องคิดว่ามันคือ Panerai Radiomir ขนาด 47 มม. ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว Rolex ได้ออกแบบตัวเรือนทรงหมอนและหูสายแบบหูกระทะมานานตั้งแต่ปี ค.ศ.1935 โดยใช้วิธีประยุกต์ง่าย ๆ จากการนำนาฬิกาพกมาหมุนหน้าปัด 90 องศา ติดตั้งเม็ดมะยมแบบขัดเกลียวลงไป แล้วต่อหูสายแบบหูกระทะ ก็ได้มาเป็น Ref.2533 เรียบร้อย และในวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ.1935 คุณ Guido Panerai จากเมืองฟลอร์เรนซ์ (ขณะนั้นชื่อเมือง Firenze) ประเทศอิตาลี ได้มีคำสั่งซื้อ Oyster Ref.2533 ที่ตัวเรือนทำด้วยทอง 9k ไป 1 เรือน ก่อนที่จะมีคำสั่งซื้อนาฬิกากันน้ำที่ดัดแปลงมาจากนาฬิกาพกเรือนนี้ในตัวเรือนสตีลอีกหลายเรือน จนในที่สุดนาฬิกาดำน้ำ Rolex Oyster แต่ยี่ห้อ Panerai ภายใต้รหัส 3646 ก็ได้รับการผลิตเป็นลำเป็นสันเพื่อรับใช้ราชนาวีแห่งประเทศอิตาลี

Rolex Oyster Ref.2533 ที่ Panerai สั่งซื้อไปเป็นตัวอย่างสำหรับนาฬิกากันน้ำแห่งราชนาวีอิตาลี ซึ่ง Rolex ดัดแปลงมาจากนาฬิกาพกขนาด 47 มม. (Source: perezcope.com)

Rolex ทิ้งช่วงการพัฒนานาฬิกาดำน้ำไปนานถึงเกือบ 10 จนวันนึงในช่วงปี 1950 นักประดาน้ำมืออาชีพชาวฝรั่งเศส René-Paul Jeanneret และเพื่อนสนิทของเขา Jacques-Yves Cousteau นักสำรวจใต้น้ำ ได้มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้บริหารของ Rolex และมีการเสนอให้สร้างนาฬิกาที่เหมาะสำหรับกิจกรรมกลางแจ้ง แต่ยังสามารถดูสง่างามเมื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าพูดแบบสั้น ๆ ความต้องการของสองคนนี้คือนาฬิกาสำหรับดำน้ำที่ดูดีนั่นเอง


Rolex จึงนำไอเดียนี้ ดึงเอา Rolex รุ่น Turn-O-Graph Ref.6202 ที่มีขอบหน้าปัดแบบหมุนได้อยู่แล้ว มาดัดแปลงแต่งกายใหม่โดยการตัดจุด Minute Scale ที่ Bezel ออกให้เหลือแต่หลัก 5 นาที แล้วยกเข็มชั่วโมงแบบ Mercedes เปลี่ยนเป็นเข็มทรงดินสอ จากนั้นดึงตุ่มวินาทีแบบ Lollipop ให้ยืดออกไปสุดขอบหน้าปัด แล้วตั้งเป็น The First Rolex Submariner Ref.6204 ด้วยความสามารถกันน้ำเพียง 100 เมตร แถมยังไม่แน่ใจเรื่องชื่อ Submariner ในบางประเทศอย่างอังกฤษ ก็ใช้ชื่อ Rolex Sub-Aqua แทน

(ซ้าย) Rolex Oyster Turn-O-Graph Ref.6202 / (ขวา) Rolex Submariner Ref.6204 ในตัวเรือนขนาด 37 มม. (Source: monochrome-watches.com)

ปี 1954 Rolex ได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างดีจึง Upgrade การกันน้ำให้ดียิ่งขึ้นเป็นสองเท่าใน Ref.6200 ที่ระดับ 200 เมตรที่เพียงพอต่อนักดำน้ำทั่วไป แม้แต่ราชนาวีแห่งสหราชอาณาจักรยังไว้วางใจใน Rolex Submariner จนนำไปแจกจ่ายให้เหล่าทหารกล้าได้ใช้กันระหว่างปฏิบัติงานตั้งแต่ปี 1954 เป็นต้นมา ในรุ่นที่เรียกว่า Military Submariner หรือ ‘MilSub’ สิ่งที่เป็นมาตรฐานของ Rolex Submariner ยุคนั้นคือเป็นนาฬิกาดำน้ำที่ไม่มีวันที่, Bezel แบบหมุนได้ และระดับการกันน้ำอยู่ระดับ 200 เมตร

Original Rolex Military Submariner - MilSub A/6538 (Source: revolution.watch)

อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงช่วงกลางยุค 1960 Rolex ต้องการอะไรที่ทนทานและไปได้ลึกยิ่งกว่านั้น


หลังจากผ่านศึก Rolex Deepsea Special ปี 1960 ไปก้นมหาสมุทร ที่ความลึกระดับ 11,000 เมตรได้แล้ว ความท้าทายอีกขั้นได้มาเยือน เมื่อนักประดาน้ำมืออาชีพ ที่มีความสนิทสนมกับผู้บริหาร Rolex ต้องการนาฬิกาสำหรับทีมจะไปกับเรือดำน้ำ Deep Star 4000 จึงปรึกษากับ Rolex เพื่อผลิตนาฬิกาดำน้ำให้นักสำรวจใต้น้ำที่จะต้องใช้ชีวิตอยู่ในห้องปรับความดันบนเรือนานราวหนึ่งเดือนเต็ม อย่างไรก็ตาม Rolex ได้เริ่มพัฒนานาฬิการุ่นใหม่ไปก่อนหน้านี้แล้ว จากประสบการณ์ของทีม SEALAB แห่งกองทัพเรือสหรัฐ ในการทดลองใช้อากาศหายใจจากส่วนผสมของก๊าซที่ประกอบไปด้วยออกซิเจนและฮีเลียม นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นตำนานเรื่องใหม่ของนาฬิกาดำน้ำที่ดีที่สุดเรือนหนึ่งของโลก



The First Rolex Sea-Dweller Single Red

Rolex ได้ทำการซุ่มวิจัยนาฬิกาดำน้ำภายใต้คำแนะนำของ Jacques-Yves Cousteau มาตั้งแต่ก่อนจะมี Submariner ถึงแม้เคยสร้าง Rolex Deep Sea Special ทั้ง No.1,3 และ 5 มาแล้วแต่นั่นเป็นนาฬิกาที่สุดขีดเกินกว่าจะนำมาใช้งานได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขนาดของกระจกที่หนาถึง 18 มม. ทำให้การนำ Rolex Deepsea Special มาใช้งานจริงได้ค่อนข้างยาก แม้แต่ในรุ่นกระจกบางอย่าง DSS No.1 ก็ยังเทอะทะเกินไป ความคิดที่จะนำนาฬิกาขนาดปกติอย่าง Submariner มาปรับปรุง และอยู่ในสายการผลิตจริง เริ่มค่อย ๆ เป็นรูปเป็นร่างขึ้น ภายใต้เงื่อนไขการออกแบบหลายจุด


จุดแรกที่ต้องมีก่อนคือ การใส่ฟังก์ชันวันที่ลงไปในตัวนาฬิกา เนืองจากการไปสำรวจใต้น้ำ นักสำรวจยากที่จะรับรู้กลางวันกลางคืน เนื่องจากสภาวะของยานที่พานักดำน้ำหรือผู้เชี่ยวชาญลงไปมักจะเป็นสภาวะที่ปิด และแต่ละโครงการใช้เวลาอยู่ใต้น้ำนานหลายสัปดาห์นี่ จึงทำให้ต้องเติมฟังก์ชันวันที่เข้าไปในนาฬิกาของทีมนี้ก่อนเป็นอันดับแรก ต่อมาการใส่เลนส์ Cyclops มาช่วยในการขยายช่องบอกวันที่ เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้กับ Sea-Dweller ในขณะนั้น เนื่องจากมีรายงานว่า เลนส์ Cyclops ซึ่งจะถูกติดกับกระจกด้านบน (กระจกพลาสติกในขณะนั้น) มักจะหลุดออกเมื่อทดสอบความดันใต้น้ำในระดับที่สูงขึ้น อีกทั้งการใส่เลนส์แว่นขยายลงไปบนกระจกจะทำให้อ่านเวลาโดยรวมยากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะตำแหน่งที่ 3 นาฬิกา ที่เป็นเริ่มของ 15 นาทีสุดท้ายของการปรับตัวเข้าสู่ภาวะ Decompression ดังนั้นนาฬิกาเรือนนี้เลยมีกระจกที่ราบเรียบและเห็นทุกสิ่งบนหน้าปัดได้อย่างง่าย มีการออกแบบพื้นที่และการขยายเส้นขีดนาที (Minute Ring) ให้ใหญ่ขึ้นกว่า Submariner อย่างชัดเจน


เรื่องสำคัญมากคือการกันน้ำ ถึงแม้ว่า Sea-Dweller รุ่นแรกมีแผนจะนำไปใช้ในภารกิจ Deep Star 4000 ที่มีส่งแทงค์ดำน้ำลงไปที่ความลึก 1,220 เมตร หรือ 4000 ฟุต ถึงไม่ได้มีแผนจะส่งคนออกไปดำน้ำระดับความลึกนั้นก็ตามแต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีการทดลองศักยภาพของอุปกรณ์ดำน้ำต่าง ๆ ภายใต้ความกดดันที่ระดับ 300 เมตรหรือมากกว่า ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดที่มนุษย์กบหมวกเหล็ก (Atmospheric Diving) เคยทำได้ การออกแบบนาฬิกาเรือนนี้จึงต้องเผื่อไว้ตามสไตล์ของ Rolex และเป้าหมายอยู่ที่ 500 เมตร


จุดสำคัญสุดท้ายต่อมา ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทีมนักวิจัยคาดการณ์ไว้แล้วคือปัญหาเรื่อง ก๊าซฮีเลียม ที่กระทำต่อกระจกช่วงปรับตัวขึ้นสู่ผิวน้ำ (Decompression) ซึ่งจากบันทึกการทดสอบโครงการ SEALAB 1 ของกองทัพเรือสหรัฐ แหลมเบอร์มิวดา ที่มีเป้าหมายหลักคือการทดสอบสภาพความเป็นอยู่ของลูกเรือในแทงค์ที่ใช้การผสมอากาศชนิดต่าง ๆ เพื่อสร้างทฤษฎีในการดำน้ำลึกระยะยาว (Saturation Diving) นาฬิกา Rolex Submariner Ref.5512 ที่ลูกเรือใช้เกิดปัญหากระจกระเบิดออกจากตัวเรือน ในช่วงปรับตัวขึ้นสู่ผิวน้ำ ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่เคยคาดคิดไว้ก่อน

ห้องทดลองใต้น้ำโครงการ SEALAB 1 ปี 1967

ก๊าซฮีเลียมกับการดำน้ำ


เรื่องนี้เราต้องแยกออกมาเป็นหัวข้อใหม่ เนื่องจากเป็นสิ่งที่คนอาจจะเข้าใจผิดว่า กระจกหน้าปัดนาฬิกาจะระเบิดออกในน้ำ แท้จริงแล้วปัญหากระจกระเบิดจะเกิดในห้องโดยสารของเรือสำรวจใต้น้ำเอง ภายใต้สภาวะปรับความดันเป็นเวลานาน (Saturation Diving) ในช่วงต้นยุค 1960 นักวิทยาศาสตร์พบว่า อากาศที่เราหายใจปกติ ที่มีส่วนผสมของไนโตรเจนมากถึง 78% นั้น จะก่อให้เกิดอันตรายเมื่อความดันเปลี่ยนแปลงที่ความลึกระดับ 30 เมตรขึ้นไป นักสำรวจที่เดินทางลงใต้ท้องทะเลในห้องโดยสารที่ปรับความดัน หากใช้อากาศที่มีไนโตรเจนในความดันมาก ๆ จะกลายเป็นก๊าซพิษที่ส่งผลต่อระบบประสาทและการตัดสินใจ และเลวร้ายที่สุดคือการหมดสติไปในระหว่างภารกิจ ทางแก้ไขในทางการแพทย์คือแทนที่ไนโตรเจนด้วยฮีเลียม เพื่อใช้เป็นอากาศที่ใช้หายใจในระหว่างภารกิจดำน้ำลึก หรือเรียกว่า ‘Heliox’ (Helium+Oxygen) การดำน้ำแบบใช้ Heliox เริ่มขึ้นครั้งแรกในเดือนสิงหาคม ปี 1962 ซึ่งต่อมาได้เป็นมาตราฐานอากาศสำหรับการดำลึกน้ำเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะอยู่ในห้องปรับความดัน เรือสำรวจใต้น้ำ หรือแม้แต่ในชุดดำน้ำ ก๊าซฮีเลียม (He) เป็นก๊าซมีโมเลกุลขนาดเล็กที่สุดในบรรดาก๊าซชนิดต่างๆ และเมื่อใช้ผสมกับออกซิเจนเป็น Heliox ทำให้มันสามารถพาออกซิเจนแทรกซึมเข้าไปยังเนื้อเยื่อของมนุษย์ได้อย่างดี และส่งผลกระทบน้อยกว่าไนโตรเจน แต่ข้อดีของฮีเลียม กลับส่งผลร้ายต่อนาฬิกาของเหล่าผู้ปฏิบัติการใต้น้ำ ก๊าซพวกนี้ไม่ได้สร้างปัญหาอะไรในเรือสำรวจใต้น้ำหรอกค่ะ ถ้านาฬิกาของพวกเขายังคงดำดิ่งลงใต้น้ำ โมเลกุลเล็กของฮีเลียมก็จะหาทางแทรกซึ่มเข้าไปยังทุกจุดที่มันจะไปได้รวมทั้งภายในตัวเรือนนาฬิกาด้วย แต่เมื่อนาฬิกานี้เข้าสู่ขั้นตอนการปรับความดันเพื่อกลับสู่ผิวน้ำ แรงดันภายนอกจะเริ่มลดลง สิ่งที่ตามมาคือก๊าซฮีเลียมนี้จะขยายตัวขึ้นภายในตัวเรือนแทน และมันจะดันจนกระทั่งกระจกหน้าปัดระเบิดออกจากตัวเรือน ปัญหานี้เกือบทั้งหมด พบในถังปรับความดันที่นักสำรวจใต้น้ำใช้ในการขึ้นสู่ผิวน้ำ แต่จะไม่เกิดหากนักดำน้ำใส่นาฬิกาออกไปสัมผัสตรงกับน้ำ เนื่องจากในน้ำทะเลไม่มีฮีเลียม จึงไม่มีปัจจัยใด ๆ ที่จะทำให้กระจกระเบิดออกมาเหมือนในห้องโดยสารของยานสำรวจใต้น้ำ


และเป็นคำตอบว่าทำไมนาฬิการะดับ Ultra-Deep อย่าง Rolex Deepsea Special, Rolex Sea-Dweller Deepsea Challenge หรือแม้แต่ Omega Ultra Deep Pro ที่ทนทานต่อความลึกระดับ 10 กิโลเมตร ถึงไม่มีวาล์วปล่อยแก๊สฮีเลียม


ปัญหาเรื่องฮีเลียมดันกระจกนาฬิกาถูกพบครั้งแรกในโครงการ SEALAB1 โดยผู้ประสบเหตุขณะนั้นคือนาวิกโยธิน Robert A. Barth ลูกเรือของ SEALAB ผู้สวมใส่นาฬิกา Rolex Submariner Ref.5512 เกิดภาวะกระจกหน้าปัดระเบิดคาข้อมือเขาขณะยานกำลังลอยตัวขึ้นสู่ผิวน้ำ Barth ได้เขียนรายงานเสนอให้มีการเจาะช่องปล่อยก๊าซออกจากตัวเรือนนาฬิกาและแชร์ข้อมูลนี้กับ T.Walker Lloyd เพื่อนร่วมงานในโครงการ SEALAB1 นี้ จน Lloyd ได้นำไอเดียเรื่องวาล์วปล่อยก๊าซนี้เข้าไปคุยกับ Rolex และสุดท้าย Rolex ได้จ้าง Lloyd เป็นที่ปรึกษาด้านมหาสมุทรศาสตร์


Barth ยังได้ส่งรายงานเรื่องนี้กับหัวหน้าโครงการ กัปตัน ดร.George F. Bond ต่อมา Bond ได้หารือต่อกับ ดร.Ralph Werner Brauer ศาสตราจารย์ด้านสรีรวิทยาและนักชีวการแพทย์ทางทะเล ดร.Brauer จึงได้สร้างต้นแบบของ ‘วาล์วปล่อยก๊าซ’ (Gas Escape Valve – GEV) ขึ้นมาเป็นครั้งแรก แต่บังเอิญว่าในขณะนั้น ดร. Brauer ก็อยู่ในทีมที่ปรึกษาของ COMEX Hyperbaric Center จากประเทศฝรั่งเศส


Rolex ไม่รอช้า จึงได้ติดต่อ Compagnie Maritime d'Expertises (COMEX) บริษัทสัญชาติฝรั่งเศสที่เชี่ยวชาญในวิศวกรรมศาสตร์และการสำรวจใต้ทะเลลึก และขอความร่วมมือในการพัฒนาระบบวาล์วปล่อยก๊าซทิศทางเดียวในนาฬิกาข้อมือที่ใช้ในภารกิจสำรวจทะเลน้ำลึก และต่อมาได้ขอยื่นจดสิทธิบัตรหมายเลข CH482246 Gas Escape Valve: GEV ในเดือนพฤศจิกายน ปี 1967


GEV: Gas Escape Valve เป็นวาล์วสำหรับปล่อยก๊าซแบบทิศทางเดียว หมายความว่าวาล์วนี้ถูกออกแบบมาให้ปล่อยก๊าซออกอย่างเดียวและไม่ว่าก๊าซหรือสสารใดที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่กว่าก๊าซฮีเลียม เช่น น้ำ หรืออากาศที่เราหายใจกันอยู่ จะไม่สามารถเข้าไปยังตัวเรือนผ่านวาล์วนี้ได้ วาล์วนี้จะระบายก๊าซฮีเลียมที่กำลังขยายตัวออกไปจากตัวเรือนแบบอัตโนมัติ ตัวสปริงที่อยู่ภายในวาล์วนี้จะทำงานและเปิดวาล์วด้วยตัวมันเอง เมื่อความแตกต่างของแรงดันทั้งภายนอกและภายในตัวเรือนมันถึงจุดที่ทำให้ตัวสปริงนั้นทำงาน

GEV อัตโนมัติของ Rolex เป็นแป้นทรงกลมขนาดเล็กที่ถูกติดตั้งไว้อยู่ที่ด้านข้างของตัวเรือนบริเวณ 9 นาฬิกา วาล์วชนิดนี้แบนราบเรียบไปกับตัวเรือน และไม่เกะกะเหมือน Manual HEV ในนาฬิกาแบรนด์อื่น ๆ

โครงสร้าง HEV ของ Rolex (ซ้าย) / HEV ที่ด้านข้างตัวเรือนของ Rolex (ขวา)

แต่ก่อนที่สิทธิบัตร GEV ของ Rolex นี้จะผ่านกระบวนการรับเรื่องพิจารณา ซึ่ง Rolex ต้องรอสิทธิบัตรนี้นานเกือบ 3 ปี Rolex ก็ได้สร้าง Rolex Sea-Dweller รุ่นแรกขึ้นแล้วใน Ref.1665 ขนาดหน้าปัด 40 มม. คุณสมบัติเด่นคือรับรองการกันน้ำได้ลึกมาก 500 เมตร มีฟังก์ชันวันที่ แต่ผลิตและแจกจ่ายไปเฉพาะบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับโครงการสำรวจใต้น้ำต่าง ๆ เท่านั้น มันจึงมีชื่อว่า Rolex Sea-Dweller Single Red ‘Mark 00’ เพราะเป็นรุ่น Prototype ที่ทั้งรุ่นมีวาล์วหรือไม่มีวาล์วปล่อยก๊าซก็เป็นได้ คาดว่า Rolex คงยังไม่พร้อมที่จะเปิดตัวนวัตกรรมที่ตัวเองค้นพบก่อนที่จะได้เป็นเจ้าของสิทธิบัตรนี้ อย่างไรก็ตาม Rolex Sea-Dweller Red Sea ต้นแบบเรือนแรกนี้ นอกจากจะดูสวยงามอย่างลงตัวแล้ว มันยังออกแบบจากทีมวิศวกรเพื่อให้มันเป็น Diving Tool Watch อย่างแท้จริงอีกด้วยค่ะ


ข้อมูลจากเวปไซต์ Bob’s Watches ประเมินว่า Single Red Sea-Dweller (SRSD) ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะมี GEV หรือไม่ก็ตาม เหลืออยู่เพียง 12 เรือนในโลกเท่านั้น ดังนั้นโอกาสที่ใครจะไปเจอของแท้ในร้านนาฬิกามือสองแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยค่ะ

The First Sea-Dweller “Single Red” Ref.1665 (เครดิตภาพ: perezcope.com)

Rolex Sea-Dweller Double Red

Rolex Sea-Dweller Ref.1665 ‘Double Red’ Mark II

หลังจาก Rolex ได้ยื่นจดสิทธิบัตร ‘วาล์วปล่อยก๊าซ’ และมีการออกหมายเลขรับ CH492246 เป็นที่เรียบร้อย ก็ไม่รอช้าที่จะผลิต Rolex Sea-Dweller Ref.1665 ภายใต้ชื่อเล่น ‘Double Red’ หรือ DRSD ขึ้นมาเพื่อวางจำหน่ายในรหัสเดิม Ref.1665 (เลยอาจจะทำให้หลายสำนักตีความว่า Double Red คือ Sea-Dweller รุ่นแรก) แต่คราวนี้เพิ่มคุณสมบัติการกันน้ำเป็น 610 เมตร เพื่อตรงกับตัวเลขมาตราฐานอเมริกันที่มีหน่วยนับเป็นฟุตที่ 2,000 ฟุตพอดี คราวนี้การติดตั้งวาล์วปล่อยก๊าซฮีเลียมทำกันอย่างเต็มที่ ส่วนหนึ่งคงเพื่อหวังผลทางการตลาดว่านี่คือ Diving Tool Watch อย่างแท้จริง เพราะได้รับการพัฒนาจากทีมงานนักประดำ นักสำรวจ และนักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องจริง ๆ เอกลักษณ์เฉพาะอยู่ที่ตัวอักษรสีแดงสองบรรทัดบนหน้าปัดที่เขียนว่า Sea-Dweller / Submariner 2000 เปิดตัวขายครั้งแรกในปี 1967 และมีการทำตลาดต่อเนื่องมาถึง 10 ปี จนถึงปี 1977 อย่างไรก็ตาม Ref.1665 ถูกส่งต่อให้กับพิมพ์สุดท้ายภายใต้ชื่อเล่น Sea-Dweller - Great White เนื่องจาก Font สีแดงถูกเปลี่ยนเป็นสีขาวทั้งหมด พร้อมกับตัดคำว่า Submariner 2000 ออกไปเพื่อยุติความเกี่ยวพันกับญาติผู้พี่ Submariner และใช้ชื่อ Sea-Dweller เดี่ยว ๆ อย่างเต็มภาคภูมิ


ว่ากันว่า ชื่อ ‘Great White’ อาจจะมาจากเจ้าฉลามขาว The Great White Shark ขนาด 25 ฟุต จากหนังสุดคลาสสิก JAWS เมือปี 1975 ก็เป็นได้

Rolex Sea-Dweller Ref.1665 ‘Great White’ Mark IV

ต่อมาในปี 1978 ความสามารถกันน้ำของ Rolex Sea-Dweller ถูกพัฒนาเพิ่มขึ้นสองเท่าเป็น 1,220 เมตร หรือ 4,000 ฟุตตามมาตราฐานอเมริกัน และมี GEV ขนาดใหญ่ขึ้นใน Ref.16660 จนกระทั่งปี 1988 Rolex ได้ออก Sea-Dweller Ref.16600 ที่ใช้เครื่อง Caliber 3135 ซึ่งเป็นเครื่องที่ใช้กันอย่างแพร่หลายแม้แต่ใน Submariner Date เซรามิก

Rolex Sea-Dweller Ref.16660 (ซ้าย) / Sea-Dweller Ref.16600 (ขวา)

Rolex Sea-Dweller Deep Sea Ref.116660 – 44mm


และแล้วในปี 2008 Rolex ได้ทำอะไรที่เหนือความคาดหมาย โดยออกนาฬิการุ่นใหม่ ที่มีชื่อว่า Rolex Sea-Dweller Deep Sea ตัวเรือนขนาด Extra-large ที่ใหญ่ถึง 44 มม. และยังมีความสามารถกันน้ำที่มากขึ้นหลายเท่า Rolex Sea-Dweller Deep Sea Ref.116660 เปิดตัวในปี 2008 มีตัวเรือนแบบ Oyster ทำจาก 904L Steel ขนาด 44 มม. หนา 17.7 มม. กระจกหน้าปัดเป็นคริสตัลแซฟไฟร์หนาถึง 5.5 มม. แถมกระจกยังนี้ถูกล๊อคด้วยวงแหวนครอบตัวเรือนด้านในหรือ Ring Lock System ทำขึ้นจาก Nitrogen-alloyed Stainless Steel เจ้าวงแหวนนี้เป็นเหมือนกระดูกสันหลังให้กับนาฬิกาโดยเป็นตัวรองรับกระจกหน้าปัดเพื่อรับมือกับแรงดันใต้น้ำ เม็ดมะยมเป็นระบบป้องกันน้ำสามชั้น(Triplock) ส่วนฝาหลังทำจาก Titanium เกรด 5 ที่มีน้ำหนักเบา เพื่อลดน้ำหนักนาฬิกาไม่ให้มีน้ำหนักที่มากเกินไปสำหรับการสวมใส่ในชีวิตประจำวัน แต่ด้วยขนาดหน้าปัดที่ใหญ่ถึง 44 มม. ก็อาจจะไม่เหมาะกับคนข้อมือเล็ก อย่างชาวเอเชียแบบเราๆ กลไกภายในเป็นระบบขึ้นลานอัตโนมัติ Caliber 3135 เช่นเดิม และใช้สาย Glide Lock รุ่นพิเศษ ที่สามารถปรับเข้าออกได้ 1.5 ซม.ได้โดยไม่ต้องถอดนาฬิกาออกจากข้อมือเลย ซึ่งมีให้ใช้เฉพาะในรุ่น Deepsea เท่านั้น อีกหนึ่งคุณสมบัติที่ถูกอัพเกรดขึ้นมาคือความสามารถกันน้ำที่ถือว่าเป็นสามเท่าของนาฬิกาสำหรับดำน้ำของ Sea-Dweller รุ่นก่อน เพราะ Sea-Dweller Deepsea สามารถกันน้ำได้ถึง 12,800 ฟุต (3,900 เมตร) ด้วยระดับความลึกขนาดนี้ ถ้าใครจำได้จากตอนที่แล้ว เท่ากับว่า Sea-Dweller Deepsea เรือนนี้ สามารถกันน้ำได้ลึกกว่า Deepsea Special No.3 ในปี 1960 เสียอีก อาวุธลับที่สำคัญของ Sea-Dweller ทุกรุ่นยังคงเป็นวาล์วปล่อยก๊าซฮีเลียม (HEV) เมื่อนักสำรวจกำลังจะขึ้นสู่ผิวน้ำในถังปรับความดัน สามารถป้องกันไม่ให้กระจกหน้าปัดระเบิดออกจากตัวเรือนจนเกิดความเสียหายนั้นเองค่ะ

Rolex Sea-Dweller Deep Sea Ref.116660 ขนาด 44 มม.

การกลับมาของ Rolex Sea-Dweller 40 มม.


นาฬิกาเจ้าสมุทรขนาด 40 มม. ก็ได้หายไปจากสายการผลิตไปพร้อมกับการมาของ Deepsea เป็นเวลาเกือบ 6 ปี แต่แล้ว Sea-Dweller ก็ได้หวนคืนสู่วงการอีกครั้งในปี 2014 ในรุ่น Sea-Dweller 4000 Ref.116600 ที่ยังคงรักษารูปลักษณ์ตามแบบฉบับ Sea-Dweller ด้วยตัวเรือน Stainless Steel ขนาด 40 มม. สามารถกันน้ำที่ความลึกระดับ 4,000 ฟุต(1,220 เมตร) พร้อมกับอาวุธประจำ Sea-Dweller ทุกรุ่นคือ วาล์วปล่อยก๊าซฮีเลียม วาล์วนี้ยังคงถูกติดตั้งไว้ที่ด้านข้างของตัวเรือน ณ ตำแหน่ง 9 นาฬิกาเหมือนเช่นเคย ส่วนภายในเป็นระบบขึ้นลานอัตโนมัติ Caliber 3135 เป็นเครื่องเดียวกันกับ Sea-Dweller Ref.16600 และ Ref.116660- Deepsea

Rolex Sea-Dweller 4000 Ref.116600 ขนาด 40 มม. ที่สามารถสังเกตได้ง่าย ๆ จาก Minute Scale รอบ Bezel

อย่างไรก็ตาม Sea-Dweller 4000 ได้มีการอัพเกรดองค์ประกอบใหม่ๆเพิ่มเข้ามาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น สายแบบ Glidelock แบบเดียวกับ Rolex Submariner Ref.116610 ยอดนิยม ที่ผู้สวมใส่สามารถปรับความยาวของสายได้ง่ายๆด้วยมือเปล่า ได้ถึง 15 มม. (แต่ต้องถอดนาฬิกาออกจากข้อมือก่อนปรับ ซึ่งเป็นคนละรุ่นกับที่ใช้ใน Deepsea) แถมยังเพิ่มข้อสายที่พับกางออกได้อีก 2 ซม แบบเดียวกับ Ref.16600 ซึ่งออกแบบมาให้นาฬิกาสามารถใส่นอกชุดดำน้ำแบบ full body wet-suit ได้ มีการใช้ขอบเซรามิก แทนที่ขอบ Stainless Steel ของ Sea-Dweller รุ่นก่อนหน้า เซรามิกมีข้อดีตรงที่มันสามารถป้องกันการเกิดรอยขีดข่วนและการจางลงของตัวเลขบนขอบได้ แต่การเปลี่ยนวัสดุขอบไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่ากับตัวเลขและขีดบอกนาทีบนขอบค่ะ

เปรียบเทียบขีดบอกนาทีบน Bezel ของ Sea-Dweller ตามมาตรฐาน ISO-6425

ขีดบอกนาทีบนขอบไม่ได้ทำขึ้นมาเพื่อความสวยงามเพียงเท่านั้น ขีดและตัวเลขบนขอบพวกนี้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ISO 6425 ที่กำหนดให้นาฬิกาดำน้ำต้องมีขอบแบบหมุนได้ทิศทางเดียวพร้อมกับ มาตราส่วนนาที (Minute Scale) ประกอบด้วยหลักอารบิคกำกับทุก 5 นาทีและขีดย่อยกำกับทุก 1 นาทีจนครบรอบวง 60 นาที เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักประดาน้ำสำหรับจับเวลาใต้มหาสมุทร อย่างไรก็ตาม นาฬิกาดำน้ำหลายแบรนด์ไม่ได้ออกแบบขอบนาฬิกาให้เป็นไปตามข้อกำหนดของ ISO 6425 โดยมีเพียงขีดกำกับทุก 1 นาที แค่ในช่วง 15 นาทีสุดท้ายเท่านั้น Sea-Dweller ในรุ่นก่อนหน้าปี 2008 ตามภาพด้านบน นาฬิกา 2 เรือนแรกคือ Sea-Dweller รุ่นเก่าที่มีขีดกำกับทุกนาทีถึงแค่ตำแหน่ง 15 นาที ส่วนที่เหลือเป็นหลักกำกับทุก 5 นาที ต่างกับเรือนที่ 3-5 ที่มีขีดกำกับทุก 1 นาทีจนครบรอบวง และ Rolex เพิ่งจะมาตื่นตัวกับข้อกำหนดของ ISO 6425 ตอนปี 2008 จึงได้ผลิตขอบนาฬิการูปแบบดังกล่าวในนาฬิกาดำนำตั้งแต่นั้นมา เช่นในรุ่น Sea-Dweller Deep Sea Ref.116660


แต่การกลับมาของ Rolex Sea-Dweller 4000 Ref.116600 เป็นช่วงเวลาที่สั้นเพียงชั่วพริบตาเดียว หลังจากที่ถูกผลิตมาเป็นระยะเวลา 3 ปีเท่านั้น Sea-Dweller 4000 ได้หยุดผลิตในปี 2017 นับได้ว่าเป็น Sea-Dweller รุ่นสุดท้ายที่มีตัวเรือนขนาด 40 มม. จากนั้นได้ถูกแทนที่โดย Rolex Sea-Dweller Ref.126600 ที่เปิดตัวในปี 2017 มักเป็นที่รู้จักในชื่อ “Red Sea” ในวาระเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีของจุดกำเนิด Sea-Dweller เรือนแรก ที่มีคำว่า Sea-Dweller แถวเดียวสีแดง มาพร้อมกับดีไซน์ที่ต่างออกไป ไม่ว่าจะเป็น ตัวเรือนขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 43 มม. และเป็น Sea-Dweller รุ่นแรกที่ใช้เลนส์ขยายวันที่ (Cyclops) แหวกประเพณีการออกแบบของ Sea-Dweller ที่ผ่านมาอย่างน่าตกใจ นอกจากรูปลักษณ์ภายนอก ตัวเครื่องภายในก็ถูกปรับเปลี่ยนเช่นกัน จาก Caliber 3135 Ref.126600 ได้อัพเกรดตัวเครื่องเป็น Caliber 3235 ที่สำรองพลังงานได้นานกว่าจาก 48 ชั่วโมง (Caliber 3135) เป็น 70 ชั่วโมง (Caliber 3235) และสามารถต้านทานคลื่นแม่เหล็กได้ดีกว่าเครื่องเก่า แต่ความสามารถในการกันน้ำยังคงเท่ากับ Sea-Dweller 4000 Ref.116600 ที่ระดับ 4,000 ฟุต(1,220 เมตร)

Rolex Sea-Dweller Ref.126600

มาถึงจุดนี้แล้ว ทุกคนคงเห็นภาพรวมที่มาของนาฬิกาดำน้ำทั้งหมดของ Rolex รวมถึงความพยายามในการสร้าง Rolex Sea-Dweller มาตั้งแต่รุ่นแรก Single Red ข้อสงสัยเกี่ยวกับที่มาของการออกแบบ รวมถึงความเข้าใจที่ถูกต้องของก๊าซฮีเลียมอีกด้วย ในตอนต่อไป เราจะพูดถึงการเดินทางครั้งล่าสุดของชายผู้หนึ่ง ที่ไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับศาสตร์แห่งการดำน้ำใด ๆ แต่กลับได้ไปพิชิตก้นมหาสมุทรได้อีกครั้งภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานอิสระหลายองค์กร และแน่นอน หนึ่งในนั้นคือ Rolex อีกเช่นเคย



อ้างอิงจาก

https://beckertime.com/blog/the-history-of-rolex-dive-watches/ https://newsroom-content.rolex.com/-/media/project/rolex/newsroom/rolex/rolex-newsroom-int/watches/thematic-presskit/rolex-Deep Sea-challenge/en_02_rolex_Deep Seachallenge_2020_en.pdf https://www.bobswatches.com/rolex-blog/resources/helium-release-valve-work-need-one.html https://www.ana-digi.com/helium-valve/ https://en.wikipedia.org/wiki/Helium_release_valve https://www.thehourglass.com/th/new-watch/50-years-of-the-rolex-sea-dweller/ https://www.bobswatches.com/watch-resources/pvd-and-dlc-coating-worth-it https://millenarywatches.com/rolex-chromalight/ http://www.Deep Seachallenge.com/the-sub/then-and-now/ https://www.nationalgeographic.com/news/2012/3/120325-james-cameron-mariana-trench-challenger-deepest-returns-science-sub/ https://www.rolex.com/th/watches/sea-dweller/m126660-0002.html https://www.sanook.com/movie/31738/ https://monochrome-watches.com/understanding-bezels-and-all-the-different-scales/ https://www.vintage-db.com/the-rolex-milsub/ https://thewatchlounge.com/vintagewatchfridays-rolex-milsub-submariner-ref-5513-circa-1974/



Comentarios


Featured Posts
Recent Posts
bottom of page