top of page

Non-Rolex Deep Sea Part 1: นาฬิกาดำน้ำลึก ไม่ได้มีแค่ Rolex

การดำน้ำอาจไม่ใช่เรื่องใกล้ตัวเราสักเท่าไหร่ นอกเสียจากว่าคุณต้องการดำน้ำเชิง นันทนาการ (Recreation) แบบเรียบง่ายในระดับน้ำที่ไม่ลึกมาก เช่น การดำน้ำระดับผิวน้ำ (Snorkeling) หรืออาจจะไปถึงระดับดำน้ำโดยใช้ถังออกซิเจน (Scuba Diving) อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณต้องการดำน้ำที่ระดับความลึกเกิน Free Dive ทั่วไป (ความลึกประมาณ 10 เมตร) เป็นจุดเริ่มต้นของความซับซ้อนเนื่องจากท่านจำเป็นต้องใช้ทักษะวิทยาศาสตร์ทางการกีฬาและอุปกรณ์การดำน้ำที่มากชิ้นเพื่อความปลอดภัย หนึ่งในอุปกรณ์การดำน้ำที่สำคัญ คือ นาฬิกาข้อมือ เหล่านักดำน้ำใช้นาฬิกาสำหรับดูเวลาเมื่ออยู่ใต้ท้องทะเลเพื่อคำนึงถึงปริมาณอากาศที่เหลืออยู่และเพื่อกะประมาณเวลาสำหรับเตรียมตัวปรับสภาพก่อนขึ้นจากผิวน้ำ ดังนั้น “เวลา” อาจจะสำคัญพอ ๆ กับระดับความลึกเลยทีเดียว แต่อีกระดับความลึกหนึ่ง นาฬิกาที่สามารถผจญภัยไปพร้อมกับนักประดาน้ำมืออาชีพที่จำเป็นต้องดำรงชีวิตอยู่ใต้ทะเลเป็นเวลานาน (Saturation Diving) ที่ความลึกระดับ 30 เมตรขึ้นไป ต้องมีคุณสมบัติอย่างไรถึงแข็งแรงทนทานต่อสภาวะสุดโหดใต้มหาสมุทร วันนี้เรามาร่วมท่องเวลาตั้งแต่ช่วงปี 1960 หลังจากที่ Rolex ได้สร้างตำนานนาฬิกาดำน้ำ Deep Sea Special จนเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก จนถึงยุคปัจจุบัน วิศวกรแห่งโลกเวลาได้สร้างนาฬิกามีขีดความสามารถกันน้ำจนคุณอาจคาดไม่ถึง


จุดเริ่มต้นจากความคิดของผู้อื่น

Rolex Oyster นาฬิกากันน้ำเรือนแรกของโลก

ก่อนที่เราจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับนาฬิกาดำน้ำที่มีขีดความสามารถกันน้ำที่ความลึกระดับ 1,000 เมตรเป็นต้นไป เรามาย้อนรอยดูต้นกำเนิดนาฬิกากันน้ำเรือนแรกของโลก ที่มีนามว่า “Rolex Oyster” เปิดตัวในปี 1926 นอกจากตัวเรือนที่มีฝาหลังแบบขันเกลียว (Screw-down Case Back) ของ Rolex Oyster ที่ถูกประกอบเข้ากันอย่างแนบสนิทราวกับฝาหอยนางรมสมชื่อ เพื่อความสามารถกันน้ำที่ดีขึ้น อีกหนึ่งคุณสมบัติที่ทำให้มันกันน้ำได้ คือ เม็ดมะยมแบบขันเกลียว (Screw-down Crown) ถึงแม้ Rolex จะเป็นเจ้าของนาฬิกากันน้ำเรือนแรกของโลก แต่ทว่า องค์ประกอบสำคัญอย่างเม็ดมะยมแบบขันเกลียว แท้จริงแล้วเป็นความคิดริเริ่มจากผู้อื่น


ในปี 1925 ก่อนหน้าการกำเนิดของ Rolex Oyster มีผู้ผลิตนาฬิกาสองท่านคือคุณ พอล เปอริโกต์ (Paul Perregaux) และ คุณจอร์จ เพอเรต (Georges Perret) ร่วมคิดค้นเม็ดมะยมแบบขันเกลียว เพื่อป้องกันความชื้น ฝุ่นและน้ำไม่ให้เข้าไปยังตัวเรือนและกลไกภายในผ่านทางเม็ดมะยม ทั้งสองได้จดสิทธิบัตรเม็ดมะยมแบบใหม่นี้ในปีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ด้วยธรรมชาติของสิ่งประดิษฐ์ที่เพิ่งถูกคิดค้นเป็นครั้งแรก การทำให้มันไร้ที่ติตั้งแต่แรกเริ่มคงเป็นไปได้ยาก เม็ดมะยมแบบขันเกลียว ฉบับแรกนี้ยังมีข้อบกพร่องอยู่ จากภาพด้านล่าง ตรงตำแหน่งเลขที่ 16 คือ ชิ้นส่วนกันรั่ว (Seal) องค์ประกอบนี้ถูกติดตั้งไว้ที่ด้านนอก ระหว่างตัวเรือนและเม็ดมะยม มันทำหน้าที่เป็นด่านป้องกันสิ่งแปลกปลอม ก็ต่อเมื่อเม็ดมะยมถูกขันลงจนสุดและเสมอกับชิ้นส่วนนี้เท่านั้น และด้วยขีดความความสามารถของการผลิตที่จำกัดในสมัยก่อน ชิ้นส่วนกันรั่วจึงทำขึ้นจากวัสดุธรรมดาทั่วไป เช่น หนังสัตว์ ไม้ก๊อก และผ้าสักหลาด(ผ้ากำหยี่) วัสดุเหล่านี้มีความคงทนต่ำ ผนวกกับการที่ชิ้นส่วนกันรั่วถูกออกแบบให้ติดตั้งอยู่ภายนอกตัวเรือนจึงทำให้มันสึกหรอและเสื่อมสภาพลงได้ง่ายมากขึ้น ส่งผลให้ผู้สวมใส่ต้องนำนาฬิกาไปเปลี่ยนชิ้นส่วนกันรั่วอยู่บ่อยครั้ง

โครงสร้างเม็ดมะยมแบบขันโดย Perregaux and Perret: ตำแหน่งที่ 16 คือ ชิ้นส่วนกันรั่ว(Seal) ถูกติดตั้งที่ด้านนอกของตัวเรือน

ต่อมา Hans Wilsdorf ผู้ก่อตั้ง Rolex ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของนวัตกรรมเม็ดมะยมแบบขันเกลียว ที่ถูกคิดค้นโดย Paul Perregaux และ Georges Perret เขาจึงมีความคิดขึ้นมาว่าการผสมผสานระหว่างตัวเรือนที่ปิดผนึกฝาหลังด้วยวิธีขันเกลียว และเม็ดมะยมแบบขันเกลียวนี้อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและทำให้นาฬิกามีความสามารถในการกันน้ำที่สูงขึ้น เขาจึงรีบไปติดต่อขอซื้อใบอนุญาตกับผู้คิดค้นทั้งสอง หลังจากนั้น Wilsdorf ได้แก้ไขข้อบกพร่องของเม็ดมะยมรูปแบบเก่าที่ติดตั้งชิ้นส่วนกันรั่วไว้ที่ด้านนอกของตัวเรือน โดยการย้ายองค์ประกอบนี้เข้าไปอยู่ภายใน Crown Tube แทน การย้ายตำแหน่งนี้ทำให้องค์ประกอบดังกล่าวคงทนและมีอายุการใช้งานยาวนานมากยิ่งขึ้น เขาได้จดสิทธิบัตรเม็ดมะยมแบบขันเกลียวฉบับปรับปรุงนี้เป็นของตนเองในสิทธิบัตรหมายเลข CH 120848

โครงสร้างเม็ดมะยมแบบขันเกลียวฉบับปรับปรุงโดย Rolex

ปัจจุบันนี้ Rolex ได้พัฒนาและออกแบบเม็ดมะยมรูปแบบอื่นๆให้มีความสามารถกันน้ำขั้นกว่า เช่น เม็ดมะยมแบบ Triplock ที่ใช้ระบบกันน้ำสามชั้น ประกอบด้วยปะเก็นหรือวงแหวนยางจำนวนมากอยู่ภายใน ทำหน้าที่เป็นด่านกั้นน้ำ นาฬิกาดำน้ำจาก Rolex หลากหลายรุ่นใช้เม็ดมะยม Triplock เพื่อความสามารถกันน้ำที่มีประสิทธิภาพ เช่น ใน Rolex Sea-Dweller Deepsea Challenge นาฬิกาทดลองที่ Rolex ผลิตขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อเข้าร่วมโครงการสำรวจใต้น้ำ Deepsea Challenger Expedition ในปี 2012 เป็นการร่วมมือระหว่าง National Geographic Society, ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง James Cameron และ Rolex ปฏิบัติการครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งที่ 2 ของ Rolex ที่ส่งนาฬิกาไปร่วมภารกิจดำน้ำสู่ Challenger Deep จุดที่ลึกที่สุดของมหาสมุทร ในร่องลึกมหาสมุทรมาเรียนา นาฬิกาเรือนดังกล่าวได้ผ่านบททดสอบสมรรถภาพที่ความลึกระดับ 10,908 เมตรโดยที่กระจกหน้าปัดไม่ได้รับความเสียหายและสามารถทำงานได้ตามปกติแม้ต้องเผชิญกับน้ำลึกและแรงดันมหาศาล 15,751 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว (psi) แต่ถ้าหากท่านได้ติดตามบทความภาคต่อเรื่อง “Rolex Sea Dweller Deep Sea: เจาะลึกไปกับจุดลึกสุดใต้ท้องทะเล” ทั้ง 4 ภาคของเรา ท่านคงได้ทำความรู้จักและตราตรึงไปกับนาฬิกาดำน้ำในตำนานอีกเรือนหนึ่ง Rolex Deep Sea Special เป็นนาฬิกาดำน้ำเรือนแรกที่ Rolex ส่งไปปฏิบัติภารกิจดำน้ำในปี 1960 ที่จุด Challenger Deep เช่นเดียวกัน การสำรวจครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษย์และวงการนาฬิกา เนื่องจาก Jacques Piccard และ Lt. Don Walsh ลูกเรือทั้งสองของเรือดำน้ำ Trieste ที่ใช้ในภารกิจดำน้ำครั้งนี้ เป็นสองคนแรกของโลกที่ได้ไปท่องใต้มหาสมุทรที่จุด Challenger Deep เช่นเดียวกันกับ Rolex ก็เป็นแบรนด์นาฬิกาแบรนด์แรกที่มีโอกาสส่งนาฬิกาไปทดสอบประสิทธิภาพและความสามารถกันน้ำที่จุดที่ลึกที่สุดในโลก แต่ภายหลังจากการดำน้ำครั้งประวัติศาสตร์ในปี 1960 มีอีกหลากหลายแบรนด์นาฬิกาที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการผลิตนาฬิกาดำน้ำที่สามารถกันน้ำได้ที่ความลึกระดับ 1,000 เมตรขึ้นไป



ท่องเวลาในโลกใต้ท้องทะเล


1964 ------------------------------------

The First Ever Dive Watch ที่ความลึกระดับ 1,000 เมตร

Jenny Caribbean 1000 Ref.702

1960s Jenny Caribbean 1000

Jenny Caribbean อาจจะเป็นแบรนด์นาฬิกาที่ไม่คุ้นหูเท่าไหร่นัก แต่แบรนด์ดังกล่าวกลับเปรียบเป็นเครื่องหมายที่สำคัญในประวัติศาสตร์ของนาฬิกาดำน้ำ Jenny & Cie S.A. ก่อตั้งโดย Paul Gustav Jenny ในปี 1963 เป็นบริษัทน้องที่อยู่ภายใต้แบรนด์ Doxa ซึ่ง Jenny เป็นแบรนด์ที่มุ่งผลิตแต่นาฬิกาดำน้ำตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งแบรนด์นี้ได้ขึ้นแท่นเป็นแบรนด์นาฬิกาแรกของโลกที่ผลิตนาฬิกาดำน้ำที่สามารถกันน้ำที่ความลึกระดับ 1,000 เมตร นาฬิการุ่นดังกล่าวคือ “Jenny Caribbean 1000” สามารถใช้งานได้จริงและประชาชนทั่วไปสามารถหาซื้อได้


อย่างไรก็ตาม นาฬิการุ่นดังกล่าวไม่ใช่นาฬิกาดำน้ำเรือนแรกที่ไปได้ไกล 1,000 เมตร เพราะ ก่อนหน้า Jenny Caribbean 1000 มี Rolex Deep Sea Special ในปี 1960 ที่สามารถกันน้ำระดับลึกมากกว่า 10,000 เมตร แต่ Deep Sea Special เป็นเพียงนาฬิกาทดลองเท่านั้น ไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามหน้าร้าน แต่กระจกหน้าปัดที่หนาถึง 18มม. ทำให้มันไม่เหมาะแก่การใช้งานในชีวิตประจำวันอยู่ดีค่ะ


Jenny Caribbean 1000 เปิดตัวในปี 1964 ตัวเรือนทำขึ้นจาก Stainless Steel ขนาด 40 มม. หนา 15.5 มม. สามารถกันน้ำได้ที่ความลึกระดับ 1,000 เมตร (3,300 ฟุต) กระจกหน้าปัดทำจาก Plexiglass หน้าปัดสีเหลืองอมส้ม ทำขึ้นจากวัสดุที่เหลือบสะท้อนแสง (Scotchlite Material) วัสดุดังกล่าวเกิดจากการนำแผ่นฟิล์มไปชุบกับลูกปัดแก้วขนาดเล็ก หน้าปัดชนิดนี้เอื้ออำนวยต่อการอ่านเวลาในที่แสงน้อย โดยเฉพาะใต้ท้องทะเล เข็มและหลักเป็นสีดำแต่งด้วยสารเรืองแสง Tritium ภายในเป็นระบบขึ้นลานอัตโนมัติ Caliber ETA 2472 มีฟังก์ชันเข็มชั่วโมง นาที วินาทีและช่องหน้าต่างบอกวันที่ที่ตำแหน่ง 3 นาฬิกา สามารถสำรองพลังงานได้ 42 ชั่วโมง หนึ่งในเอกลักษณ์พิเศษของ Jenny Caribbean คือตัวเรือนแบบ “Monobloc Triple Safe” ที่ได้ผ่านการจดสิทธิบัตร ตัวเรือนดังกล่าวถูกออกแบบให้เป็นชิ้นส่วนเดียวแทนการประกอบร่างของหลายชิ้นส่วนแยกกัน ผนวกกับชิ้นส่วนกันรั่วสามชั้น (Triple Seals) ตัวเรือนชนิดนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกันน้ำของนาฬิกา Jenny Caribbean 1000


อีกส่วนประกอบหนึ่งที่แตกต่างจากนาฬิกาดำน้ำทั่วไป คือ ขอบของนาฬิกาเป็นขอบประเภท “Decompression Scale” ต่างจากขอบนาฬิกาดำน้ำทั่วไป ตรงที่มันไม่ได้มีเพียงหน้าที่จับเวลาที่นักประดาน้ำดำอยู่ใต้ทะเลเท่านั้น ขอบของนาฬิกาดำน้ำทั่วไป มักจะเป็นขอบประเภท “Count-Up” ขอบชนิดนี้ประกอบด้วยหลักขีดและหลักเลขอารบิก แทนเวลาตั้งแต่ 5 – 60 นาที สำหรับจับเวลาที่อยู่ใต้น้ำ ต่างกับขอบของ Jenny Caribbean 1000 ขอบ Decompression Scale สามารถบอกระยะเวลาที่นักประดาน้ำควรใช้เตรียมตัวสำหรับกระบวนการ Decompression หรือการกลับขึ้นสู่ผิวน้ำ ขอบชนิดนี้เป็นตัวช่วยให้นักดำน้ำขึ้นฝั่งได้อย่างปลอดภัยด้วยระยะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งระยะเวลาที่ใช้ในการกลับขึ้นสู่ผิวน้ำขึ้นอยู่กับระดับความลึกของการดำน้ำและระยะเวลาที่นักประดาน้ำอยู่ใต้น้ำ แต่หากมองถึงหลักความเป็นจริง ตัวเลขขนาดเล็กที่ยิบย่อยอยู่บนขอบนาฬิกา บวกกับสภาวะแสงน้อยใต้มหาสมุทร ขอบนาฬิกา Decompression Scale ก็คงใช้งานได้ยากอยู่พอสมควรค่ะ

ขอบ Decompression Scale ของ Jenny Caribbean 1000 (ซ้าย) / ขอบ Count-up Bezel ใน Rolex Sea-Dweller Ref.16600 (ขวา)


1964 ------------------------------------

Ollech & Wajs Caribbean 1000 Ref.702

เรือนถัดมา เรายังอยู่ในปี 1964 เหมือนเช่นเคย ในยุคนั้น หลากหลายแบรนด์ผลิตนาฬิกาดำนำออกมาพร้อมกับใส่คำว่า “Caribbean” ลงไปในชื่อรุ่นเพื่อแสดงให้เห็นถึง สายเลือดแห่งท้องทะเล และสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าว่านาฬิกาของตนมาพร้อมกับขีดความสามารถในการกันน้ำที่มีประสิทธิภาพ แต่ในช่วงเวลานั้น มีนาฬิกาเพียงไม่กี่รุ่นที่สามารถกันน้ำได้ที่ความลึกระดับ 1,000 เมตร แต่นอกจาก Jenny Caribbean 1000 ที่สามารถกันได้ถึงระดับ 1,000 เมตร ยังมี “Ollech & Wajs Caribbean 1000” ที่สามารถกันน้ำได้ที่ความลึกระดับเดียวกัน แถมยังเปิดตัวในปีเดียวกันอีกด้วย ด้วยระยะเวลาเปิดตัวที่ใกล้เคียงกันและชื่อที่คล้ายกันอย่างกับแกะ บางท่านอาจสงสัยว่า Ollech & Wajs คงทำเลียนแบบ Jenny หรือทั้งสองแบรนด์มีความเกี่ยวข้องกัน?


คำตอบคือ Ollech & Wajs Caribbean 1000 เป็นผลผลิตของความร่วมมือระหว่าง Ollech & Wajs และ Jenny ในปี 1964 Caribbean 1000 ของ Ollech & Wajs ใช้ตัวเรือน Jenny 702 ตัวเรือนดังกล่าวคือตัวเรือนขนาด 38 มม. รูปแบบ Monobloc ตัวเรือนแบบชิ้นส่วนเดียวที่ทำจาก Stainless Steel ตามแบบฉบับของ Jenny ที่ช่วยให้นาฬิกามีประสิทธิภาพในการกันน้ำ สายข้อมือผสมผสานระหว่างสายแบบ Oyster ที่ข้อรอบนอกและสายแบบ Beads of Rice เลียนแบบเมล็ดข้าวที่ข้อตรงกลาง แต่การขัดแต่งสายแบบเงาของข้อตรงกลาง คงไม่เหมาะกับการใช้ดำน้ำสักเท่าไหร่ เพราะข้อเสียของมันคือสามารถเป็นรอยได้ง่ายกว่าสายข้อมือ Steel แบบขัดด้าน นอกจากนี้สายสตีลไม่ใช่ทุกรุ่นที่มีระบบปรับสายได้ ถึงแม้ปรับได้ ก็ปรับยืดและหดได้ไม่มากนัก ในขณะที่นักประดาน้ำต้องสวมนาฬิกาข้อมือนอกชุดดำน้ำแบบ Full Wetsuit แน่นอนว่าขนาดข้อมือของนักดำน้ำจะใหญ่ขึ้นเมื่อสวมชุดดังกล่าว ดังนั้นสายสตีลที่ปรับไม่ได้หรือปรับได้เล็กน้อยอาจจะไม่เหมาะกับการใช้งานทั้งชีวิตประจำวันและกิจกรรมในน้ำ วัสดุที่เหมาะสมต่อการทำสายนาฬิกาดำน้ำมากที่สุดคือ “ยาง” สายข้อมือแบบยางนอกจากจะทนทานต่อสภาวะน้ำทะเลแล้ว สายยางที่ปรับแบบเข็มขัดสามารถปรับระดับข้อมือได้ในช่วงกว้าง เครื่องภายใน ของ Ollech & Wajs เป็นระบบขึ้นลานอัตโนมัติ Caliber ETA 2452 สำรองพลังงานได้ 42 ชั่วโมง ขอบมีให้เลือกใช้ถึง 3 แบบคือ Decompression Scale, ขอบ GMT 12ชั่วโมง และขอบ Count-up 60 นาทีแบบนาฬิกาดำน้ำทั่วไป

Ollech & Wajs Caribbean 1000 Ref.702 พร้อมขอบ Decompression Scale

ถึงแม้ว่า Ollech & Wajs Caribbean 1000 จะผ่านการทดสอบภาคสนามโดย Roberto Dei นักสำรวจผู้นำ O&W Caribbean 1000 ไปผจญภัยร่วมกับเขาที่ขั้วโลกเหนือและทะเลแดง Red Sea อ่าวในมหาสุมทรอินเดีย มีร่องทะเลที่ลึกที่สุดประมาณ 2,500 เมตร แต่มีความลึกเฉลี่ยอยู่เพียง 500 เมตรเท่านั้น และ O&W Caribbean 1000 ยังผ่านการใช้งานจริงโดยทีมนักประดาน้ำมืออาชีพของบริษัทผลิตพลังงานและขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ Global Marine Incorporated อย่างไรก็ตาม ไม่มีการยืนยันจากสถาบันใด ๆ ว่า Ollech & Wajs หรือแม้แต่ Jenny ที่สร้างมาจากโครงสร้างเดียวกัน จะสามารถกันน้ำและทนแรงดันที่ระดับ 1,000 เมตรได้อย่างแท้จริง เนื่องจากยังไม่มีผลการทดลองจากห้องปฏิบัติการมาเปิดเผยเพื่อเป็นการยืนยันต่อสาธารณะชนอย่างแน่ชัด



1971 ------------------------------------

Omega Seamaster Ploprof 600

Omega Seamaster Ploprof 600

ในปี 1971 Omega ได้รังสรรค์สองพี่น้องตระกูล “Ploprof” ออกมา ประกอบด้วย Omega Seamaster Ploprof 600 (Ref.166.077) และ Omega Seamaster 1000 (Ref.166.093) ตัวเอกของเราที่มีความสามารถกันน้ำที่ความลึกระดับ 1 กิโลเมตร แต่เรามาทำความรู้จักกับ Seamaster 600 Ploprof กันก่อนค่ะ คำว่า “Ploprof” ที่พ่วงท้ายมา คือการรวมกันของคำว่า “Plongeur Professional” คำภาษาฝรั่งเศสที่มีความหมายว่า “นักดำน้ำมืออาชีพ” แล้ว Seamaster Ploprof 600 จะมีคุณสมบัติหรือนวัตกรรมพิเศษใดจนต้องกลายเป็นที่ยอมรับและถูกใช้งานจริงโดยเหล่านักประดาน้ำมืออาชีพของบริษัท COMEX บริษัทสัญชาติฝรั่งเศสที่เชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมและการสำรวจใต้ทะเลลึก


ตัวเรือนที่ทำขึ้นจากสตีลของ Ploprof 600 มีขนาด 55 มม. ต่างจากโครงสร้างของตัวเรือนนาฬิกาทั่วไปที่มักจะเป็นตัวเรือนที่มีฝาหลังแบบขันเกลียว เกิดจากการประกอบหลายชิ้นส่วน ตัวเรือนและฝาหลังเป็นองค์ประกอบที่แยกกัน แล้วนำมาขันเกลียวเข้าด้วยกัน อาจส่งผลให้มีช่องขนาดเล็กตามตัวเรือนที่น้ำและก๊าซอาจเล็ดลอดเข้ามาได้ ก๊าซที่เรากล่าวถึงคือ ก๊าซฮีเลียมที่อยู่ในส่วนผสมของ Heliox อากาศที่นักประดาน้ำที่ใช้วิธีการดำน้ำแบบระยะยาวใต้ทะเลลึกใช้กัน (Saturation Diving) Heliox เกิดจากการผสมออกซิเจนและฮีเลียมเข้าด้วยกัน และด้วยขนาดโมเลกุลของฮีเลียมที่มีขนาดเล็กจิ๋วที่สุดในบรรดาก๊าซอื่นใด มันสามารถแทรกซึมเข้าไปภายในนาฬิกาได้ผ่านช่องตามตัวเรือน ถ้าก๊าซเหล่านี้ได้เข้าไปในตัวเรือน ปัญหาจะเกิดขึ้นระหว่างนักดำน้ำกลับคืนสู่ฝั่ง ก๊าซฮีเลียมจะทำการขยายตัวจนดันกระจกหน้าปัดจนได้รับความเสียหาย หลากหลายแบรนด์นาฬิกาได้สรรหาวิธีแก้ไขด้วยนวัตกรรมต่างๆ เช่น วาล์วปล่อยก๊าซฮีเลียมใน Rolex Sea-Dweller แต่ Omega แก้ไขปัญหานี้ด้วยสถาปัตยกรรมตัวเรือน Monocoque หรือ Monobloc ตัวเรือนชนิดนี้ทำขึ้นเป็นชิ้นส่วนเดียวเหมือนอ่างสเตนเลส ไม่มีฝาหลัง และจะเปิดซ่อมได้เฉพาะจากด้านหน้าเท่านั้น Omega แก้ปัญหาการซึมของก๊าซฮีเลียมนี้ด้วยการทำให้เกิดรูโหว่ให้น้อยที่สุดเท่าที่ได้ และได้จดสิทธิบัตรให้กับตัวเรือนชนิดนี้เป็นสิทธิบัตรหมายเลข CH480680

ผู้ใช้ต้องกดปุ่มแดงนี้เพื่อปลดล็อคและปรับขอบนาฬิกา (ซ้าย) / เม็ดมะยมถูกปกป้องด้วยส่วนที่ยื่นออกจากตัวเรือน (ขวา)

นอกจากตัวเรือนชิ้นส่วนเดียวแบบ Monocoque Seamaster Ploprof ยังมีอีกนวัตกรรมหนึ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อความปลอดภัยของตัวนักประดาน้ำเอง จากภาพเราก็จะเห็นแล้วว่าตัวเรือนรูปทรงประหลาดต่างจากนาฬิกาเรือนกลมทั่วไป แต่ภายใต้ความแปลกไม่เหมือนใครนี้ มีกลไกล็อคขอบนาฬิกาซ่อนอยู่ (Bezel-locking Mechanism) โดยทั่วไป ขอบนาฬิกาแบบหมุนได้อาจถูกปรับหมุนโดยไม่ได้ตั้งใจระหว่างทำภารกิจใต้ท้องทะเล และฟังก์ชันหลักของขอบ Count-up ที่ประกอบด้วยตัวเลข 60 นาที คือมีไว้สำหรับจับเวลาอย่างที่เราทราบกันดี เมื่อนักดำน้ำลงไปทำภารกิจใต้มหาสมุทร พวกเขาจำเป็นต้องจับเวลาและทำทุกสิ่งให้เสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อความปลอดภัยของพวกเขาเอง และถ้าหากว่าขอบนาฬิกานั้นถูกปรับโดยไม่ได้ตั้งใจ หมายความว่าชีวิตของพวกเขาถูกแขวนไว้อยู่บนเส้นด้าย Omega จึงออกแบบนวัตกรรมนี้ขึ้นมาเพื่อป้องการเหตุการณ์เช่นนั้น นักประดาน้ำจะปรับขอบนาฬิกาได้ก็ต่อเมื่อกดปุ่มพลาสติกสีแดงที่อยู่ทางมุมบนขวามือของตัวเรือน ปุ่มนี้ต้องใช้แรงกดสักหน่อย ดังนั้นการที่ขอบจะถูกปรับโดยไม่ตั้งใจเป็นไปได้ยากอยู่พอสมควรค่ะ


ถึง Ploprof 600 จะมีปุ่มเม็ดมะยมอยู่ด้านซ้ายมือ ราวกับเป็นนาฬิกาสำหรับคนถนัดซ้าย แต่มันถูกออกแบบมาให้ใส่บนข้อมือซ้ายหรือสำหรับคนถนัดขวา จุดประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักดำน้ำให้ปรับใช้ระบบล็อคขอบนาฬิกาได้อย่างสะดวก และเมื่อใส่นาฬิกานี้บนข้อมือซ้าย เท่ากับว่าเม็ดมะยมที่ถูกติดตั้ง ณ ตำแหน่ง 9 นาฬิกาจะอยู่ด้านเข้าหาตัวนักประดาน้ำเอง แทนที่จะอยู่ด้านนอก (หากติดตั้งเม็ดมะยมที่ตำแหน่ง 3 นาฬิกาแบบทั่วไป) เพื่อเป็นการลดโอกาสที่เม็ดมะยมจะไปกระแทกกับสิ่งของใดระหว่างทำภารกิจจนปรับโดยไม่ตั้งใจ นอกจากนี้ ตัวเม็ดมะยมของ Ploprof 600 ยังมีส่วนป้องกัน หรือ Crown Guard ขนาดใหญ่ที่ยื่นออกมาจากตัวเรือน เครื่องภายในเป็นระบบขึ้นลานอัตโนมัติ Caliber 1002

โฆษณา Omega Seamaster Ploprof 600

นาฬิกาเรือนนี้ผ่านการทดสอบทั้งในห้องปฏิบัติการทดลองและการใช้งานจริง นักประดาน้ำในตำนานอย่าง

Jacques Cousteau ก็ยังไว้วางใจใน Ploprof 600 และนำมันไปร่วมภารกิจกับเขาในการทดสอบความสามารถในการทำงานของมนุษย์ที่ความลึกระดับ 458 เมตร (1,500 ฟุต) ถึงแม้จะถูกนำเสนอว่ามีความสามารถกันน้ำที่ความลึกระดับ 600 เมตร (2000 ฟุต) แต่มันได้ถูกทดสอบในถังความดันที่มีสภาวะความลึกสองเท่าจากที่ประกาศไว้ หรือประมาณ 1,200 เมตร และยังทดสอบในภาวะกดอากาศที่เบาบางในระดับความสูงห้าหมื่นฟุตจากระดับน้ำทะเลหรือสองเท่าของความสูงของยอดเขาเอเวอเรสต์อีกด้วย


Omega Seamaster 1000 “The Grand” (1972)

Omega Seamaster 1000

และแล้วเราก็เดินทางมาถึงปี 1972 ที่ Omega Seamaster 1000 ตัวเต็งของเราได้ถือกำเนิดขึ้น เป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “The Grand” ถึงแม้ว่า Seamaster 1000 รุ่นแรกที่ผลิตออกมาจำหน่ายให้คนทั่วไป จะเกิดหลัง Ploprof 600 อยู่หนึ่งปี แต่ความจริงแล้ว Seamaster 1000 ตัวต้นแบบได้ถูกผลิตขึ้นก่อน Ploprof 600 เสียอีก

Omega Seamaster 1000 ตัวต้นแบบ

ตัวเรือนทำขึ้นจากสตีลชิ้นเดียวรูปแบบ Monobloc เหมือนใน Seamaster Ploprof 600 ขนาด 54 x 38 มม. กระจกหน้าปัดทำจากมิเนอรัลคริสตัล เป็นวัสดุประเภทแก้ว ที่เป็นรอยยากกว่าอะคริลิค แต่ยังคงมีความแข็งน้อยและทนรอยขีดข่วนได้น้อยกว่าคริสตัลแซฟไฟร์ กระจกหน้าปัด Ploprof 1000 เกิดจากการนำชิ้นส่วนมิเนอรัลคริสตัล 2 ชิ้นมาติดผนึกเข้าด้วยกันเพื่อเพิ่มความแข็งแรง กระจกหน้าปัดถูกตบท้ายด้วยการปิดผนึกอย่างแน่นหนาด้วยวงแหวนหรือขอบที่ทับอยู่ด้านบน เม็ดมะยมถูกติดตั้งไว้ที่ตำแหน่ง 9 นาฬิกาเพื่อหลีกเลี่ยงการปรับโดยไม่ได้ตั้งใจระหว่างปฏิบัติการใต้น้ำ


ลักษณะด้านหลังของตัวเรือน Omega Seamaster 1000 ตัวต้นแบบจะแบนเรียบตรง ต่างจากตัวเรือนด้านหลังของรุ่นที่ทำออกขายทั่วไป ที่ถูกออกแบบมาให้มีความโค้งมนรับกับรูปข้อมือผู้สวมใส่ ทำให้ใส่สบายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ตัวเรือนด้านหลังของ Seamaster 1000 ตัวต้นแบบยังถูกออกแบบมาให้มีร่องแนวยาวเป็นแพทเทิร์นทั้งหมด ทำหน้าที่เป็นตัวกันลื่นให้กับตัวเรือนด้านหลัง จึงลดโอกาสที่นาฬิกาจะหมุนไปมารอบข้อมือให้รำคาญใจขณะสวมใส่ค่ะ ส่วนตัวเลขบนขอบนั้นเป็นไปตามตาราง Decompression ของเหล่านาวิกโยธินแห่งสหรัฐอเมริกา และภายในตัวต้นแบบเป็นระบบขึ้นลานอัตโนมัติ Caliber 552 สามารถสำรองพลังงานได้ 50 ชั่วโมง

ด้านหลังของตัวเรือนที่แบนเรียบ (ซ้าย) / พื้นผิวด้านหลังถูกทำให้เป็นร่องเพื่อกันลื่น (ขวา)

จากเนื้อหาโฆษณาของ Omega Seamaster Ploprof 600 ที่เราได้เห็นกันแล้วด้านบน ทางแบรนด์ได้ประกาศว่า Omega ได้ผลิตนาฬิกากันน้ำมานักต่อนักแล้ว และนาฬิกากันน้ำได้ทุกเรือนของ Omega ต้องผ่านการทดสอบหลายครั้งก่อนได้ออกจากโรงงานเพื่อมาอยู่บนข้อมือลูกค้า และแน่นอนว่าเมื่อมีโอกาส ทางแบรนด์ต้องไม่พลาดที่จะส่งนาฬิกาของตนไปเข้าร่วมการทดสอบในปฎิบัติการทางวิทยาศาสตร์หรือสถานการณ์จริงแทนการทดลองในแล็บตามประเพณีนิยม


ย้อนกลับไปยังปี 1968 ท่ามกลางการเติบโตและพัฒนาการของเทคนิคการดำน้ำแบบระยะยาว (Saturation Diving) Omega ได้เริ่มร่วมมือกับ COMEX ตั้งแต่ช่วงปี 1968 - 1971 เพื่อคิดค้นนาฬิกาดำน้ำที่สุดขีดมากพอสำหรับนำไปปฏิบัติการใต้ทะเล จนถือกำเนิดเป็น นาฬิกาตระกูล “Ploprof” ตัวต้นแบบ ประกอบด้วย “Ploprof 0” ที่กลายมาเป็น Seamaster 1000 ในภายหลัง และ “Ploprof 1” ที่กลายมาเป็น Seamaster Ploprof 600 ซึ่ง Omega ได้นำ Seamaster ทั้งสองรุ่นนี้ไปนำเสนอให้กับ COMEX แต่แทนที่จะเลือกเรือนที่เต็มไปด้วยนวัตกรรมอัจฉริยะ อย่างระบบล็อคขอบนาฬิกาที่ป้องกันการหมุนปรับขอบโดยไม่ได้ตั้งใจ ใน Ploprof 1 (Omega Seamaster Ploprof 600) แต่ COMEX กลับเลือก Ploprof 0 (ซึ่งต่อมาคือ Omega Seamaster 1000) ตัวเรือนทรงไข่ไก่ที่เรียบง่ายแทน COMEX ได้คัดเลือกนาฬิกาดำน้ำเรือนดังกล่าวเข้าร่วมโครงการทดลอง “Hydra I” ในปี 1968 โครงการนี้ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อทดสอบก๊าซ Heliox ที่เกิดจากการผสมผสานของออกซิเจนและฮีเลียม และก๊าซ Hydreliox ที่เป็นส่วนผสมของก๊าซฮีเลียม ออกซิเจนและไฮโดรเจน ก๊าซผสมเหล่านี้ถูกคิดค้นขึ้นมาสำหรับเป็นอากาศหายใจให้กับนักประดาน้ำที่ดำน้ำแบบระยะยาว เพื่อลดปัญหาการเกิดกลุ่มอาการประสาทเหตุความดันสูง (High-pressure Nervous Syndrome) ที่นักประดาน้ำต้องเผชิญกับ อาการสั่น, ความผิดปกติทางสายตา, อาการคลื่นไส้ และเวียนศรีษะ

Omega Seamaster Ploprof 600 (ซ้าย) / Omega Seamaster 1000 ตัวต้นแบบ (ขวา)

ต้นตอของ Seamaster 1000 เกิดจากการที่เจ้าชายแรนีเยที่ 3 แห่งโมนาโกได้ว่าจ้างให้ Omega ผลิตนาฬิกาข้อมือ 50 เรือน โดยให้โจทย์ว่า ต้องไม่ใช่ Omega Seamaster 600 Ref.166.075 ที่หาได้ทั่วไปในตลาด เพราะพระองค์มีความประสงค์ที่จะมอบเป็นของขวัญให้กับผู้ร่วมงานของสถาบันวิจัยและพิพิธภัณฑ์ทางสมุทรศาสตร์แห่งโมนาโก นาฬิกาเรือนดังกล่าวที่ผลิตขึ้นมาเพื่อการณ์นี้คือ Omega Seamaster 1000 Ref.166.093 ซึ่ง “The Grand” เรือนแรกได้ถูกมอบให้กับ Jacques Cousteau นักสำรวจชาวฝรั่งเศสที่วิจัยศึกษาทางสมุทรศาสตร์ ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการของสถาบันวิจัยแล้วพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวในช่วง 1957 – 1988


จนกระทั่งปี 1972 “The Grand” หรือ Omega Seamaster 1000 Ref.166.093 รุ่นที่ผลิตขายในตลาดทั่วไปก็ได้ถือกำเนิดขึ้น มีความสามารถในการกันน้ำที่ระดับ 1,000 เมตร ซึ่ง Seamaster 1000 ถูกแบ่งผลิตออกเป็นสองล็อต ทั้งสองล็อตต่างกันที่ตัวเครื่องที่ใช้อยู่ภายใน ล็อตแรกทั้งหมดประมาณ 150 เรือนถูกผลิตขึ้นในปี 1972 พร้อมตัวเครื่อง 1002 เป็นระบบขึ้นลานอัตโนมัติที่สำรองพลังงานได้ 42 ชั่วโมง และล็อตที่สองประมาณ 300 เรือนถูกผลิตขึ้นในปี 1976 ตัวเครื่องภายในคือ 1012 ระบบขึ้นลานอัตโนมัติที่สำรองพลังงานได้ 42 ชั่วโมงเช่นกัน แต่ Caliber 1002 และ 1012 ต่างกันที่จำนวนเม็ดทับทิมป้องกันการสึกหรอตามข้อต่อค่ะ เครื่อง 1002 มีทับทิม 20 เม็ด ส่วนเครื่อง 1012 มีทับทิม 23 เม็ด


ตัวเรือน Omega Seamaster 1000 ขนาด 43 มม. ทำขึ้นจาก Stainless Steel เป็นตัวเรือนชิ้นเดียวแบบ Monobloc เช่นเดียวกับตัวเรือนของ Seamaster Ploprof 600 อย่างที่เราทราบกันดีว่าคุณสมบัติเด่นของตัวเรือนชนิดนี้คือความสามารถในการกันน้ำและป้องกันการซึมเข้าของก๊าซฮีเลียม นับว่าเป็นการเลือกใช้นวัตกรรมที่ชาญฉลาด ต่างจากแบรนด์นาฬิกาอื่น เช่น Rolex คู่แข่งอันดับต้นๆของ Omega ที่ใช้เทคโนโลยีอย่างวาล์วปล่อยก๊าซฮีเลียม (HEV) ที่เข้ามาช่วยปลดปล่อยก๊าซฮีเลียมออกจากตัวเรือน แต่ Omega เชื่อว่าการใส่วาล์ว HEV เข้าไปที่ตัวเรือนนาฬิกา เท่ากับเป็นการเพิ่มรูหรือช่องโหว่ให้กับตัวเรือนนั้นแหละค่ะ วาล์วนี้อาจมีผลต่อความสามารถในการกันน้ำของนาฬิกาก็เป็นได้ Omega จึงเลือกใช้ตัวเรือน Monobloc เพื่อขัดขวางการซึมเข้าของก๊าซดังกล่าว พร้อมทั้งไม่เพิ่มความสุ่มเสี่ยงให้กับความสามารถในการกันน้ำของนาฬิกาอีกด้วยค่ะ ส่วนขอบของ Seamaster 1000 เป็นแบบ Count-up 60 นาทีสำหรับจับเวลา

Seamaster 1000 Ref.166.093 (ซ้าย) / เรือดำน้ำ Beaver Mark IV (ขวา)

ในปี 1973 Omega Seamaster 1000 ได้ถูกส่งไปทดสอบในปฏิบัติการใต้ทะเลอีกครั้ง กับบริษัทสัญชาติอเมริกัน International Underwater Contractors (IUC) ซึ่ง Seamaster 1000 รัดติดไว้กับแขนกลของเรือดำน้ำลึก Beaver Mark IV ปฏิบัติการดำน้ำครั้งนี้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อทดสอบผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับกระจกหน้าปัดนาฬิกาเมื่อต้องเผชิญกับระดับน้ำและความดันที่ความลึกระดับ 1,000 เมตร


Omega Seamaster 1000 ได้ดำรงตำแหน่งบนยอดสูงสุดของพีระมิดนาฬิกากันน้ำเท่าที่ Omega ได้มีมาในยุคนั้น สมชื่อ “The Grand” ผู้ยิ่งใหญ่ แต่ต่อมาในปี 2009 Omega Seamaster สามารถไปได้ไกลกว่าเดิมด้วยนาฬิกาดำน้ำรุ่น “Omega Seamaster Ploprof 1200” (Ref. 224.30.55.21.01.001) ตัวเรือนขนาด 55มม. ทำขึ้นจาก Stainless Steel ที่มีความสามารถกันน้ำสูงขึ้นเป็นระดับ 1,200 เมตร พอเห็นโฉมหน้าของ Ploprof 1200 ทุกท่านคงต้องคุ้นหน้าคุ้นตากันอย่างแน่นอน เพราะมันเป็นรุ่นที่ดีไซน์ขึ้นมาจาก Ploprof 600 รุ่นเก๋าที่เราได้นำมาให้ท่านได้เชยชมกันไปแล้วในตอนต้น ถึงจะหน้าตาดูคล้ายกันอย่างกับแฝด เนื่องจากมีระบบล็อคขอบนาฬิกาที่มาพร้อมปุ่มบนมุมขวาของตัวเรือนเช่นเดียวกัน แต่ Ploprof 1200 ก็มีสิ่งที่แตกต่างออกไปเช่นกันค่ะ ตัวเครื่องภายในเปลี่ยนจาก Caliber 1002 เป็น Caliber Omega 8500 เป็นระบบขึ้นลานอัตโนมัติที่ใช้จักรกลอกแบบ Co-Axial สำรองพลังงานได้ 60 ชั่วโมง อีกจุดที่เปลี่ยนไปคือ ตำแหน่งของช่องบอกวันที่ จากเดิมที่เคยติดตั้งไว้ที่ตำแหน่ง 3 นาฬิกา ก็ย้ายไปอยู่ที่ตำแหน่งระหว่าง 4 และ 5 นาฬิกาแทน และอีกส่วนที่เพิ่มเข้ามาคือวาล์วปล่อยก๊าซฮีเลียม (HEV) ซึ่งอาจจะดูขัดแย้งกับเจตจำนงในตอนแรกของ Omega ที่ว่าการใช้ตัวเรือนชิ้นเดียวแบบ Monobloc เป็นตัวเลือกที่เพียงพอและดีกว่าวาล์วปล่อยก๊าซในการแก้ไขปัญหาก๊าซฮีเลียม เนื่องจากอย่างที่เราเคยกล่าวไปแล้วว่าการใส่วาล์วเพิ่มเข้าไป เท่ากับว่าเราได้เพิ่มช่องเข้าไปที่ตัวเรือนด้วยซ้ำ การติดตั้งวาล์วเป็นเหมือนการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ จะไปสู้การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างการลดช่องโหว่ให้น้อยที่สุดได้อย่างไร แต่เราเดาว่า Omega คงไม่อยากน้อยหน้านาฬิกาดำน้ำที่ติดตั้งวาล์วปล่อยก๊าซฮีเลียมของแบรนด์อื่นๆ เช่น Rolex Sea-Dweller และ Breitling Avenger Seawolf

Omega Seamaster Ploprof 1200 (ซ้าย) / Omega Seamaster Ploprof 600 (ขวา)
วาล์วปล่อยก๊าซฮีเลียมใน Ploprof 1200

1982 ------------------------------------

IWC Porsche Design Ocean 2000

IWC Porsche Design Ocean 2000

จากแบรนด์รถสปอร์ตที่น้อยคนจะไม่รู้จัก ได้ผันตัวมาผลิตสินค้าไลฟ์สไตล์ชนิดอื่นเพิ่ม เราอาจจะได้เห็นสินค้าอื่นของ Porsche ผ่านตากันมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า, กระเป๋าเดินทาง, แว่นตา และนาฬิกาข้อมือ เป็นสินค้าภายใต้แบรนด์ “Porsche Design” ซึ่ง Porsche Design Studio (ชื่อปัจจุบันคือ Studio F.A. Porsche) ก่อตั้งขึ้นในปี 1972 ที่ประเทศเยอรมันโดยศาสตราจารย์ Ferdinand Alexander Porsche หลานชายของ Ferdinand Porsche ผู้ก่อตั้ง Porsche แต่ด้วยความที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์ และไม่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านการผลิตนาฬิกา Porsche จึงต้องร่วมมือกับผู้ผลิตนาฬิกาหลากหลายแบรนด์ เช่น Orfina, Eterna และ IWC


ในปี 1982 Porsche ได้ร่วมมือกับ IWC เพื่อผลิตนาฬิกาข้อมือที่มีความสามารถกันน้ำเหนือใครอื่นใดในยุคนั้น ขนาด Rolex ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกแห่งนาฬิกากันน้ำ ก็ยังไม่มีนาฬิกาดำน้ำรุ่นใดของ Rolex ที่ผลิตมาในปีใกล้เคียงกันและสามารถทำลายสถิติความลึกระดับ 2,000 เมตร ของ IWC Porsche Design Ocean 2000 ได้เลย อย่าง Rolex Sea-Dweller Ref.1665 มีความสามารถในการกันน้ำอยู่ที่ความลึกระดับ 610 เมตรเท่านั้น หรือแม้แต่ Rolex Sea-Dweller Ref.16600 ที่ผลิดช่วงท้าย ๆ ก่อนเข้าสหัสวรรษที่ 2000 ก็ยังสามารถกันน้ำได้ที่เพียงความลึกระดับ 1,220 เมตร


วัสดุที่ใช้ผลิตนาฬิการุ่นดังกล่าวคือ “ไทเทเนียม” ถึงแม้ไทเทเนียมอาจจะเป็นวัสดุทำนาฬิกาที่เราสามารถพบเห็นบ่อยในยุคปัจจุบันนี้ แต่ถ้าเทียบกับในช่วงเวลานั้น IWC Porsche Design Ocean 2000 นับว่าเป็นนาฬิกาสวิสเรือนแรก ๆ ที่มีการบุกเบิกนำไทเทเนียมมาใช้เป็นตัวเรือน

Ocean BUND Quartz (ซ้าย) / ฝาหลังสลักคำว่า “BUND” (ขวา)

จุดกำเนิดของ Ocean 2000 เริ่มจาก Ferdinand Alexander Porsche ได้ออกแบบนาฬิกาให้กับกองทัพเรือเยอรมันตะวันตกโดยเฉพาะ และนาฬิการุ่นดังกล่าวคือ “Ocean BUND” BUND ย่อมาจาก “Bundeswehr” คำภาษาเยอรมันที่แปลว่ากองกำลังสหพันธรัฐเยอรมัน ในช่วงปลายยุค 1970 กองทัพเยอรมันได้ส่งคำขอให้ IWC ผลิตนาฬิกาดำน้ำที่แข็งแรงทนทาน และที่สำคัญ มันต้องต้านแรงแม่เหล็กได้เป็นอย่างดี เนื่องจากนาฬิกาที่สั่งผลิตนี้จะนำไปมอบให้กับนักดำน้ำในเหมืองของกองทัพเรือเยอรมัน ภารกิจหลักของพวกเขาคือปลดหรือกู้อาวุธทุ่นระเบิดใต้น้ำ ซึ่งทุ่นระเบิดพวกนี้ค่อนข้างเซนซิทีฟ มันสามารถถูกกระตุ้นได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยของสนามแม่เหล็กรอบข้างมัน หากมีสิ่งใดก็ตามที่ทำขึ้นจากวัสดุที่มีคุณสมบัติเป็นแม่เหล็ก หรือเป็นสื่อกลางสนามแม่เหล็กได้ ถึงแม้จะเป็นสิ่งของขนาดเล็กอย่างนาฬิกาข้อมือ ก็สามารถทำให้ระเบิดทำงานได้


ทางแบรนด์จึงได้ผลิต Ocean BUND ตัวเรือนขนาด 42 มม. เป็นนาฬิกาที่ทำขึ้นจากไทเทเนียมซึ่งมีคุณสมบัติต้านแม่เหล็กขึ้นมาหลายโมเดลด้วยกัน เช่น Ref.3314 และ Ref.3319 ทั้งสองรุ่นเป็นระบบควอตซ์ ผลิตขึ้นมาเพียง 300 เรือน หรือ Ref.3509 ที่เป็นระบบขึ้นลานอัตโนมัติ รุ่นทั้งหมดที่กล่าวมา ถูกออกแบบให้กับทหารเยอรมันทั่วไปที่รบทางน้ำ แต่ตัวจริงที่ออกแบบมาให้กับนักดำน้ำในเหมืองคือ Ref.3519 เพราะเป็นรุ่นที่ต้านสนามแม่เหล็กได้อย่างสุดโต่ง เพราะองค์ประกอบของกลไกภายใน เช่น จักรกลอก ผลิตขึ้นจากโลหะเบริลเลียม ที่มีคุณสมบัติต้านแรงแม่เหล็กได้ดี

IWC Porsche Design Ref.3519 (Source: Yarek Baranik of The Watch Club)

Ocean BUND มีข้อแตกต่างจาก Ocean 2000 Ref.3500 รุ่นที่เปิดจำหน่ายให้บุคคลทั่วไป อยู่ที่ลักษณะของกระจกหน้าปัด Ocean Bund มีกระจกหน้าปัดที่เรียบแบน แต่กระจกหน้าปัดของ Ocean 2000 มีลักษณะเป็นโดมโค้งมน และอีกหนึ่งข้อแตกต่างที่สำคัญคือ ความสามารถในการกันน้ำของทั้งสองโมเดลค่ะ Ocean BUND กันน้ำได้ที่ความลึกระดับ 300 เมตรเท่านั้น แต่ Ocean 2000 กันน้ำได้ที่ความลึกระดับ 2,000 เมตร ตัวเรือน Ocean 2000 มีขนาด 42 มม. เช่นเดียวกับ Ocean BUND ส่วนเครื่องภายในของ Ocean 2000 Ref.3500 คือ Caliber 375 จาก IWC ระบบขึ้นลานอัตโนมัติ สำรองพลังงานได้ 42 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม Ocean 2000 ไม่ได้มีนวัตกรรมพิเศษใด อย่างตัวเรือน Monobloc ใน Omega Seamaster หรือ วาล์ว HEV ใน Rolex แต่ Ocean 2000 เป็นเพียงนาฬิกาดำน้ำธรรมดาๆที่ถูกประกอบเข้าด้วยกันอย่างแน่นหนาเท่านั้น นอกจากนี้ Ocean 2000 ยังมีฟังก์ชันที่ไม่ค่อยพบในนาฬิกาดำน้ำทั่วไป คือ ขอบนาฬิกาที่สามารถถอดออกได้โดยการใช้ไขควง ผู้ใช้สามารถถอดขอบออกมาทำความสะอาดได้ด้วยตนเอง


--------------------------


ตอนนี้ทุกท่านคงได้ทราบแล้วว่านาฬิกาสำหรับดำน้ำในตำนานก็ไม่ได้มีแค่ Rolex เท่านั้น เม็ดมะยมแบบขันเกลียวที่สามารถกันน้ำกันฝุ่นได้ ความจริงแล้ว มันถูกคิดค้นโดย Paul Perregaux และ Georges Perret ซึ่งถึงแม้ว่า Rolex จะเป็นผู้ผลิตเม็ดมะยมขันเกลียวให้กับนาฬิกากันน้ำเรือนแรกของโลก แต่ Rolex เป็นเพียงผู้ที่พัฒนามันต่อเท่านั้น นอกจากนั้น วาล์วปล่อยก๊าซฮีเลียม (HEV) ที่ Rolex ใช้ใน Rolex Sea-Dweller ก็ไม่ใช่อวัยวะของนาฬิกาดำน้ำที่ขาดไม่ได้เลยซะทีเดียว แต่จำเป็นสำหรับการดำน้ำระยะยาว (Saturation Diving) ที่นักดำน้ำต้องอาศัยก๊าซผสมที่มีส่วนประกอบของฮีเลียม ก๊าซที่มีอนุภาคขนาดเล็กพิเศษ ฮีเลียมจึงพร้อมแทรกซึมเข้าไปในตัวเรือนนาฬิกาได้ทุกเมื่อ แต่นาฬิกาดำน้ำหลายรุ่นที่เรายกตัวอย่างมานี้ใช้วิธีแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุที่เรียบง่าย โดยการปิดช่องทางเข้าให้น้อยที่สุด หรือการประกอบนาฬิกาให้แน่นหนามากพอเพื่อปิดช่องทางที่ก๊าซฮีเลียมสามารถซึมเข้าได้ให้ได้มากที่สุด เพียงเท่านี้ก็สามารถทำให้ก๊าซฮีเลียมเจ้าปัญหาไม่สามารถเข้ามาทำลายกระจกหน้าปัดได้แล้ว


บทความต่อไปในภาคที่ 2 เราจะมาพูดถึงนาฬิกาดำน้ำสมัยใหม่ ซึ่งถ้าการกันน้ำระดับ 1,000 เมตร เป็นเรื่องที่นาฬิกาช่วงปี 19xx ทำได้ เราจะมาดูว่า ยุคหลังสหัสวรรษที่ 2000 (Y2K) จะมีนาฬิกาดำน้ำเรือนไหนบ้างที่กันน้ำได้มากเกินกว่า 2,000 เมตรค่ะ



อ้างอิงจาก

https://wornandwound.com/review/jenny-caribbean-300-review/

https://shop.analogshift.com/products/ollech-wajs-caribbean-1000




Featured Posts
Recent Posts
bottom of page