top of page

The Watch Winder กุญแจไขข้อสงสัยการใช้งานกล่องหมุนนาฬิกา

คำถามที่นักสะสมนาฬิกามักจะสงสัยว่า เราควรใช้กล่องหมุนนาฬิกา (Watch Winder) ในการเก็บนาฬิกาที่ใช้ระบบกลไกลานอัตโนมัติ (Automatic Watch) หรือไม่? กลุ่มที่ไม่ใช้ จะมีเหตุผลว่า กล่องหมุนจะทำให้ระบบเฟืองลานชำรุดเร็วบ้าง หรืออาจจะทำให้ลานตึงตลอดเวลา ส่งผลให้ระบบลานล้า และสุดท้าย นาฬิกาก็จะเดินไม่ตรงเพราะกำลังเครื่องอ่อนตามความล้าของสปริง ส่วนคนที่ใช้กล่องหมุน ก็มักจะให้เหตุผลด้านความสะดวก และมีนาฬิกาหลายเรือน หากเก็บไว้ในตู้เซฟอยู่นิ่ง ๆ ก็กลัวเครื่องหนืด กำลังเครื่องตก และปัญหานาฬิกาก็จะหยุดเดินเพราะไม่ได้นำมาใส่นาน แถมต้องเสียเวลา มาตั้งค่าทั้งเวลา หรือวันที่ใหม่ทุกครั้ง

คำตอบเหล่านี้ ส่วนใหญ่ก็ยังหาหลักฐานเป็นงานวิจัยไม่ได้ เนื่องจากนาฬิกาแต่ละเรือนมีการออกแบบ ระบบที่ต่างกันออกไป หลายคนเป็นสายลุย ใส่ทุกวัน นาฬิกาก็ยังเดินดีต่อเนื่องนานนับสิบปี ในขณะที่อีกหลายคน และน่าจะเป็นคนส่วนใหญ่ เก็บนาฬิกาในตู้เซฟหรือกล่องนาฬิกาธรรมดาทั่วไปจนลืมนำออกมาใช้ ปรากฎว่า พอหยิบมาใช้ แต่นาฬิกากลับเดินไม่ตรงอย่างมาก ทั้ง ๆ ที่เป็นนาฬิกาในตำนานหลักล้านบาท ต้องส่งไปเซอร์วิส เสียเงินมากมาย เพื่อให้นาฬิกากลับมาเดินตรงดังเดิม ปัญหาทั้งหมดอาจจะหาทางออกได้โดยการเดินสายกลางค่ะ


คำแนะนำสั้น ๆ จากลัดดาคือ พยายามทำความเข้าใจกับกล่องหมุน คุณไม่จำเป็นต้องซื้อมาครบกับจำนวนนาฬิกาที่มี และไม่จำเป็นต้องใช้ตลอดเวลา ซึ่งวันนี้เราจะมาอธิบายว่า แนวทางของพวกเราเป็นอย่างไรค่ะ


การหมุน สำคัญต่อนาฬิกาอัตโนมัติอย่างไร?

Patek Philippe Caliber 324 SC

แต่ก่อนที่เราจะไปทำความรู้จักกับกล่องหมุนนาฬิกา เราขออธิบายการทำงานของนาฬิการะบบขึ้นลานอัตโนมัติ (Automatic Watch) ซึ่งถ้าคุณมีความเข้าใจอยู่แล้วก็อาจจะข้ามส่วนนี้ไปได้เลยค่ะ นาฬิกาที่ใช้ระบบขึ้นลานอัตโนมัติ (Automatic Movement) เป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “Self-winding Movement” แปลอย่างตรงตัวได้ว่าระบบกลไกที่กวัดแกว่งด้วยตัวมันเอง ซึ่งเป็นหัวใจหลักของกลไกชนิดนี้ ระบบขึ้นลานอัตโนมัติมีกลไกการทำงานที่คล้ายกับนาฬิการะบบไขลาน แต่สิ่งที่ทำให้มันแตกต่างคือ การเพิ่มเข้ามาของชิ้นส่วนโลหะรูปทรงครึ่งวงกลมขนาดเล็ก ที่เรียกว่า “โรเตอร์ (Rotor)” มีหน้าที่กวัดแกว่งไปมาเพื่อสร้างพลังงานให้นาฬิกาทำงานได้อย่างคงที่


โรเตอร์ที่เป็นดั่งเครื่องปั่นไฟขนาดจิ๋วในกลไกนาฬิกานี้ต้องอาศัยการเคลื่อนไหวข้อมือโดยธรรมชาติของผู้สวมใส่เอง วัสดุที่สามารถนำมาผลิตโรเตอร์ได้มีอยู่หลากหลายชนิด ซึ่งวัสดุของโรเตอร์ก็เป็นอีกหนึ่งจุดขายที่ผู้ผลิตนาฬิกามักจะเลือกใช้โลหะนานาชนิดในตารางธาตุมาใช้ผลิตทั้งตัวเรือน และกลไกภายใน เพื่อแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพอันสูงสุดของนาฬิกาตน สำหรับโรเตอร์ทั่วไป มักจะผลิตขึ้นจาก Stainless Steel แต่สำหรับนาฬิกาแบรนด์หรูอย่าง Patek Philippe ที่ถึงแม้จะมีนาฬิกาหลายรุ่นบนแคตตาล็อกที่มีตัวเรือนและสายทำขึ้นจาก Stainless Steel แต่ภายในนั้นประกอบด้วยกลไกขึ้นลานอัตโนมัติที่ติดตั้งโรเตอร์จากทองคำ 21k-22k ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าสตีลธรรมดาในขนาดที่เท่ากัน ส่งผลให้โรเตอร์ที่ทำขึ้นจากทองคำสร้างพลังงานได้ดีกว่าสตีล หากโรเตอร์ทำขึ้นจากโลหะที่มีความหนาแน่นน้อยและน้ำหนักเบา อาจส่งผลให้โรเตอร์มีแรงเหวี่ยงน้อย ทำให้เติมลานได้ไม่ค่อยเต็ม จนต้องไขลานด้วยมือแทน


ถึงแม้กลไกขึ้นลานอัตโนมัติจะขึ้นชื่อว่าเป็นกลไกระบบ “Self-winding” ที่ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อให้นาฬิกาสามารถสร้างพลังงานได้ด้วยตัวมันเองโดยไม่ต้องไขลาน แต่อย่างที่เราได้อธิบายให้ทุกคนได้ทราบกันไปแล้วว่านาฬิการะบบนี้ต้องอาศัยการเคลื่อนที่ของข้อมือผู้สวมใส่เพื่อสร้างพลังงานอยู่ดี หมายความว่า หากเราเคลื่อนไหวข้อมือไม่เพียงพอที่จะทำให้โรเตอร์หมุนทำงานได้ จะส่งผลให้นาฬิกาหยุดเดินระหว่างวัน และถ้าคุณพึ่งพาการดูนาฬิกาข้อมือเพื่อรักษาเวลา อาจจะเกิดความผิดพลาดในนัดหมายต่าง ๆ ได้ค่ะ และการเก็บนาฬิกาทิ้งไว้ในกล่องหลายอาทิตย์โดยไม่นำออกมาใส่เลย แน่นอนค่ะว่านาฬิกาจะหยุดทำงานไปอย่างแน่นิ่ง ส่งผลให้สุดท้ายแล้วเราก็ต้องพากันกลับไปตายรัง ใช้วิธีการไขลานและตั้งเวลาหรือวันที่ใหม่ทั้งหมดทุกครั้งเมื่อต้องการนำมาใส่


นอกจากการไขลานด้วยมือ ยังมีอีกหนึงวิธีที่คุณสามารถทำเพื่อเติมลานให้กับนาฬิกาได้ คือ “การเขย่าหรือหมุน” แต่ใช่ว่าจะหมุนอย่างไรก็ได้แล้วลานนาฬิกาจะเต็มจนมีพลังงานเดินต่อได้ทั้งวันนะคะ คุณต้องเขย่านาฬิกาให้ถูกวิธีตามทิศทางการหมุนของลานด้วย ไม่เช่นนั้น ก็อาจจะเขย่าให้เมื่อยมือเสียเปล่าๆ โดยไม่ได้ช่วยเติมพลังงานให้นาฬิกาของคุณแต่อย่างใด แถมการเขย่านาฬิกาที่แรงจนเกินไป อาจส่งผลให้ชิ้นส่วนเล็กๆภายในนาฬิกาหลุดออกและชำรุดได้ค่ะ การเขย่านาฬิกาที่ถูกต้อง คือ ถือนาฬิกาเป็นแนวนอนเพื่อระนาบเป็นแนวเดียวกันกับแผ่นโรเตอร์ จากนั้นหมุนข้อมือเป็นวงกลม ด้วยความเร็วและแรงที่ไม่มากจนเกินไป การเขย่าที่ถูกต้องเช่นนี้ จะช่วยให้โรเตอร์สามารถหมุนครบรอบวงและเพิ่มพลังงานให้กับนาฬิกาได้ แต่ถ้าไม่อยากเสียเวลาขึ้นลานด้วยตนเองด้วยวิธีการเขย่าหรือไขลานด้วยมือ กล่องหมุนนาฬิกาอัตโนมัติเป็นทางออกที่จะช่วยให้คุณสะดวกสบายมากขึ้นเป็นกองและบรรเทาปัญหานาฬิกาหยุดเดินได้ หากใช้งานได้อย่างถูกต้องและสม่ำเสมอค่ะ


แนวทางการเลือกใช้กล่องหมุนและการเก็บรักษานาฬิการะบบอัตโนมัติ


ถึงแม้ว่าคุณจะมีนาฬิการะบบออโตเมติกอยู่หลายเรือน คุณไม่จำเป็นต้องซื้อกล่องหมุนมาให้ครบตามจำนวนนาฬิกาที่คุณมี แค่กล่องหมุนเล็กๆเพียงกล่องเดียวก็เพียงพอแล้วค่ะ เพราะในสัปดาห์หนึ่ง คุณอาจจะอยากใส่นาฬิกามากกว่า 1 เรือน สลับกันไป กล่องหมุนจะช่วยให้คุณสลับนาฬิกาได้ในระหว่างสัปดาห์ โดยไม่ต้องมานั่งตั้งเวลาใหม่ทุกครั้ง เนื่องจากลานของนาฬิการะบบออโตเมติกจะเดินได้โดยไม่ต้องเติมลานประมาณ 2-3 วัน


แต่ถ้าคุณไม่อยากหาซื้อกล่องหมุนมาใช้งาน ก็ควรเก็บนาฬิกาไว้ในที่ที่ปลอดภัย เช่น ตู้เซฟ อย่างไรก็ตาม คุณควรนำนาฬิกาออกมาเวียนใส่บ้าง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เครื่องหนืด กำลังเครื่องตก จากระบบน้ำมันที่ไม่ได้ทำงานเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่เหล่านักสะสมนาฬิกามักนิยมใช้กล่องหมุนเพื่อช่วยให้กลไกภายในนาฬิกาได้ทำงานบ้างเป็นครั้งคร่าว ถึงแม้จะไม่ได้นำออกมาสวมใส่ อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า ภายในตู้เซฟอาจจะมีสภาพแวดล้อมที่ทำลายนาฬิกาเสียเอง โดยเฉพาะนาฬิกาสายหนังที่ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะถ้าหากทิ้งไว้กับความชื้นนาน ๆ สายนาฬิกาจะขึ้นราได้ค่ะ แต่ถ้าหากว่าคุณเริ่มตัดสินใจใช้กล่องหมุน แล้วต้องการใช้งานคู่กับตู้เซฟก็สามารถทำได้ค่ะ กล่องหมุนทั่วไปมีทั้งแบบใช้ถ่านที่สามารถใส่เข้าไปในตู้เซฟได้เลย และกล่องหมุนที่ต้องใช้งานกับสาย Micro USB หรือ สาย Adapter หากคุณต้องการใช้กล่องรูปแบบนี้ อาจจะต้องปรึกษากับผู้จำหน่ายตู้เซฟอีกทีว่าตู้เซฟสามารถเจาะรูเล็กๆเพื่อใส่สายของกล่องหมุนเข้าไปได้หรือไม่ค่ะ

กล่องหมุนที่ใช้งานคู่กับสาย Adapter

ส่วนขนาดของกล่องหมุน ถ้าเป็นสำหรับ 1 เรือน ควรเลือกกล่องที่ขนาดกระทัดรัด ขนาดยิ่งเล็ก การใช้งานจะยิ่งง่าย แถมวางจัดเก็บตรงไหนก็ไม่เปลืองเนื้อที่ ไม่ว่าจะเก็บไว้ในตู้เซฟ บนโต๊ะทำงาน บนหัวเตียงนอน ที่สำคัญ ควรเลือกกล่องที่มีระบบมอเตอร์ที่หมุนทำงานเงียบ ไม่ส่งเสียงรบกวนด้วยค่ะ นอกจากนี้ จากประสบการณ์ของเราเอง ถ้าได้ลองเจาะลึกๆ ลงไปถึงระบบกลไกข้างใน เราพบว่ากล่องหมุนที่ออกแบบมาขนาดเล็ก มักจะมาพร้อมกับมอเตอร์ที่ล้ำสมัยกว่าค่ะ

ต่อมา ในเรื่องของฟังก์ชันการหมุน กล่องหมุนเกือบทุกยี่ห้อในตลาด สามารถหมุนสองทิศทางได้ ซึ่งจำเป็นมาก กล่องหมุนที่ดีควรหมุนได้ 3 รูปแบบ ทั้งแบบตามเข็มนาฬิกา ทวนเข็มนาฬิกา และหมุนได้สองทิศทาง เพราะนาฬิการะบบอัตโนมัติแต่ละรุ่นของหลากหลายแบรนด์มีกลไกภายในที่ต้องการทิศทางในการหมุนและรอบในการหมุนต่อวัน (TPD: Turns Per Day) ไม่เท่ากัน ดังนั้น เราควรเลือกกล่องหมุนนาฬิกาที่สามารถปรับการตั้งค่าได้หลายระดับ ให้เหมาะกับรุ่นนาฬิกาของคุณค่ะ หากเลือกกล่องที่หมุนได้รูปแบบเดียวและปรับระดับรอบการหมุนต่อวันได้เพียงไม่กี่ระดับ เท่ากับว่าพลาดอย่างแรงค่ะ เพราะการตั้งค่าที่ไม่เหมาะสม แทนที่กล่องหมุนจะช่วยถนอมนาฬิกา กลับกลายเป็นทำลายระบบกลไกเสียเอง กล่องหมุนควรปรับ รอบหมุนต่อวันได้ประมาณ 5 ระดับ ตั้งแต่ระดับช้าสุดที่ 400 รอบต่อวัน ไปจนถึงระดับเร็วสุด ที่ไม่ควรเกิน 1,200 รอบต่อวันค่ะ เพราะนาฬิกาสวิสเกือบทั้งหมด ต้องการรอบหมุนไม่เกินจากนี้


นอกจากการทำงานที่เงียบสงัด ไร้การส่งเสียงรบกวนระหว่างทำงาน ความสามารถในการหมุนหลายทิศทางและปรับระดับรอบการหมุนได้หลายรูปแบบ อีกหนึ่งคุณสมบัติที่ดีของกล่องหมุนนาฬิกา คือ ระบบกลไกภายในกล่องหมุนที่ฉลาดและล้ำสมัยมากพอที่จะทำให้นาฬิกาหยุดหมุนอย่างตั้งตรงที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกาเสมอ (12 O’clock Stop) เราจึงสามารถดูเวลาจากนาฬิกาข้อมือภายในกล่องหมุนได้ราวกับนาฬิกาตั้งโต๊ะ ซึ่งเป็นเสน่ห์หนึ่งของกล่องหมุนนาฬิกา ต่างกับกล่องหมุนที่มีระบบมอเตอร์ธรรมดาๆที่อาจจะหยุดหมุนที่ตำแหน่งคว่ำหรือเอียง จนคุณไม่สามารถใช้ดูเวลาจากนาฬิการาคาแพงของคุณได้ ส่วนในเรื่องของรูปลักษณ์ ความสวยงามของกล่อง ทางเราจัดไว้เป็นปัจจัยอันดับสุดท้ายที่จะมีส่วนในการตัดสินใจเลือกซื้อกล่องหมุน เพราะปัจจัยทางด้านบนในเรื่องของฟังก์ชันการทำงานน่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญอันดับต้นๆ แต่ใช่ว่ารูปลักษณ์ภายนอกจะไม่สำคัญเลยนะคะ เพราะกล่องหมุนที่ใส่นาฬิกาเรือนแพงของคุณ จะทำให้คุณเพลิดเพลินกับนาฬิกาที่ถึงแม้จะไม่ได้ใส่บนข้อมือ แต่ก็ยังดูสวยงามอยู่ตรงหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกนาฬิกาที่มีระบบปฏิทินขั้นสูงอย่าง Annual Calendar อยู่ในกล่องหมุนแบบ 12 O’clock Stop ย่อมสร้างความสุขเล็กๆบนโต๊ะทำงานของคุณ โดยที่คุณยังคงสามารถใช้ดูเวลาได้ในขณะเดียวกัน ไม่แพ้ตอนสวมใส่บนข้อมือเลยทีเดียวค่ะ

การหยุดหมุนที่มุมตั้งตรง 12 O’clock Stop

Boxy Fancy Watch Winder จาก WatchbyLadda

ถ้าใครกำลังตัดสินใจหาซื้อกล่องหมุนนาฬิกาเล็กๆซักกล่อง ที่ราคาไม่สูงมากแต่มีฟังก์ชันการตั้งค่าครบครันเหมาะกับนาฬิกาอัตโนมัติหลากหลายรุ่น เราขอแนะนำ Boxy Fancy Watch Winder กล่องหมุนนาฬิกานำเข้าจากประเทศไต้หวัน มีรูปทรงลูกบาศก์ขนาดเล็กเพียง 10x10x10 เซนติเมตร สามารถจัดเก็บได้อย่างไม่รบกวนพื้นที่ในตู้เซฟหรือโต๊ะทำงานของคุณ มีให้เลือกมากถึง 6 สี ประกอบด้วย กล่องรุ่นหนังเทียม PU สีดำ ส่วนอีก 5 สีที่เหลือ ทั้งสีขาว แดง ส้ม เขียว และฟ้า เป็นรุ่นหุ้มสติกเกอร์ มีผิวสัมผัสที่มันวาว คุณสามารถเลือกสรรค์ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์และตกแต่งพื้นที่ส่วนตัวของคุณได้ด้วยกล่องหมุน Boxy


โดยปกติแล้ว Boxy แต่ละกล่องใช้แหล่งพลังงานโดยตรงจากสาย Adapter จ่ายไฟขนาด 5 โวลท์ 2 แอมแปร์ ซึ่งเป็นขนาดไฟที่ปลอดภัยสำหรับการใช้งานในครัวเรือน หากใช้งานกล่องคู่กับสาย Adapter ของแท้ที่ให้มาในกล่อง Full Box Set นอกจากนี้ Boxy ยังสามารถใช้แหล่งพลังงานได้จากแท่นวางแบบ 2 กล่องหรือ 4 กล่อง ที่มีจำหน่ายแยกค่ะ แต่ถ้าหากคุณไม่สะดวกใช้แท่นวาง เพราะกังวลว่าอาจจะกินเนื้อที่การจัดเก็บมากเกินไป แต่ยังต้องการใช้งานกล่องหมุน Boxy พร้อมกันหลายๆกล่องอยู่ คุณสามารถซ้อนกล่องเป็นแนวตั้งได้มากถึง 3 ชั้นเพื่อแชร์พลังงานจากการใช้ Adapter เพียงตัวเดียวและยังประหยัดพื้นที่จัดเก็บในแนวราบอีกด้วยค่ะ อย่างไรก็ตาม คุณต้องระมัดระวังการซ้อนกล่องในแนวตั้ง เพราะระหว่างการทำกิจกรรมต่าง อย่างการทำความสะอาดพื้นที่จัดเก็บ คุณอาจจะเผลอไปกระแทกกับกล่องที่ซ้อนกันอยู่จนเสียการทรงตัวและล้มลง และอาจเกิดความเสียหายได้ค่ะ ที่สำคัญไม่ควรซ้อนกล่องเกิน 3 ชั้น เนื่องจากการทรงตัวและน้ำหนักที่กล่องด้านล่างสุดต้องรองรับ


นอกจากนี้ ถ้าคุณไม่ใช่สาย Beater ที่ใส่นาฬิกาออกไปลุยแทบทุกวัน แต่มักจะเก็บนาฬิกาไว้อยู่กับที่เป็นเวลานาน ทำให้ฝุ่นและสิ่งสกปรกต่างๆอาจมาจับตัวบนนาฬิกาได้ ถึงแม้จะเก็บรักษาไว้ภายในกล่องหมุนก็ตาม แต่ภายใน Boxy Full Box Set ของเรามีฝาครอบทรงโดมแบบใส ช่วยป้องกันฝุ่นให้มาด้วย คุณสามารถใส่เข้าหรือถอดออกได้ตามต้องการ

กล่องหมุน Boxy พร้อมฝาครอบทรงโดมใส ป้องกันฝุ่น

ส่วนในเรื่องของฟังก์ชันการหมุน Boxy สามารถตั้งค่าการหมุนได้โดยการเลื่อนปุ่มเล็ก ๆ สีดำด้านล่างกล่อง ที่สามารถเลื่อนได้ 3 ตำแหน่งเพื่อเลือกทิศทางในการหมุน ทั้งการหมุนแบบ ทวนเข็มนาฬิกา ตามเข็มนาฬิกา และการหมุนสองทิศทาง โดยเครื่องจะทำการสลับหมุนให้ทั้งสองแบบค่ะ เมื่อหมุนครบรอบ ระบบการหมุนของ Boxy จะหยุดอยู่ที่ตำแหน่งตั้งตรง 12 นาฬิกา (12 O’clock Stop) อยู่เสมอ ทำให้ผู้ใช้สามารถอ่านเวลาได้อยู่ถึงแม้จะไม่ได้ใส่บนข้อมือก็ตาม ต่อมา การตั้งค่ารอบในการหมุน Boxy สามารถตั้งค่าการหมุนได้ด้วย Dip Switch หรือสวิชสีขาวขนาดเล็ก 4 ชุดด้านล่างกล่อง ทำให้สามารถตั้งค่าความเร็วในการหมุนได้มากถึง 15 Steps ซึ่งมากที่สุดในตลาดกล่องหมุน คุณสามารถตั้งค่าการหมุน(TPD: Turns Per Day)ได้ตามคู่มือการใช้งานที่ให้มาภายในกล่อง แต่ก่อนที่จะปรับการตั้งค่าใดบนกล่อง คุณสามารถหาข้อมูลทิศทางและรอบในการหมุนที่เหมาะสมกับรุ่นนาฬิกาคุณได้ที่เว็บไซต์นี้ค่ะ : https://watch-winder.store/watch-winding-table/แต่ถ้าหากคุณไม่ทราบว่านาฬิกาของคุณใช้ค่าการหมุนแบบใดและในเว็บไซต์ไม่มีข้อมูลของนาฬิกาคุณเช่นเดียวกัน ให้ปรับไปที่ 1,150 TPD และหมุนสองทิศทางค่ะ ส่วนวิธีการใช้งานกล่อง Boxy อย่างละเอียด สามารถศึกษาได้ในคลิปด้านล่างนี้ค่ะ



-----------------------------------------------------------


เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับทิปเล็ก ๆ น้อย ๆ เรื่องการเลือกใช้กล่องหมุนนาฬิกาหรือ Watch Winder จาก WatchbyLadda หวังว่าข้อมูลของเราจะช่วยไขข้อสงสัยเกี่ยวกับกล่องหมุนและวิธีการเก็บรักษานาฬิการะบบอัตโนมัติให้กับทุกคนได้บ้างนะคะ และอย่าลืมปัจจัยการเลือกซื้อกล่องหมุนนาฬิกาที่สำคัญที่สุด คือ กล่องต้องมีระบบการตั้งค่าที่สามารถหมุนได้ทั้ง 3 รูปแบบ ตามเข็มนาฬิกา ทวนเข็มนาฬิกา และหมุนได้สองทิศทาง และตั้งค่ารอบการหมุนต่อวัน (TPD) ได้หลายระดับ เพราะนาฬิกาแต่ละรุ่นจากหลากหลายแบรนด์มีกลไกที่ต้องการค่าการหมุนที่แตกต่างกันออกไป เพราะ การเลือกกล่องผิด ก็เหมือนการทานยาผิดชนิดกับโรคที่เป็น แทนที่จะช่วยรักษา กลับกลายเป็นอาจจะสร้างผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์แทนค่ะ สุดท้ายนี้ หากคุณต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Boxy Fancy Watch Winder จาก WatchbyLadda สามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมได้ตามลิ้งค์นี้เลยค่ะ https://www.watchbyladda.com/product-page/boxy-fancy-watch-winder


อ้างอิงจาก


https://watch-winder.store/watch-winding-table/





Featured Posts
Recent Posts
bottom of page