top of page

Dark Side of the Moon : แฟนซีปาร์ตี้ใต้เงาพระจันทร์ของ Omega


Dark Side of the Moon : แฟนซีปาร์ตี้ใต้เงาพระจันทร์ของ Omega ถึง Omega จะพยายามรักษาความเป็น SpeedMaster ไว้ตั้งแต่รุ่นคุณนีล อาร์มสตรองไปเหยียบดวงจันทร์ในปี 1969 อย่างเหนียวแน่น ขณะเดียวกันก็ไม่รีรอที่จะประยุกต์ใช้เทคโนโลยี่ หรือวัสดุใหม่ ๆ เข้าไปกับนาฬิกาอย่างสม่ำเสมอ ยกตัวอย่างเช่น การใช้ซิลิก้อนมาทำชิ้นส่วน Balance Wheel ซึ่งต้องเคลื่อนไหวกว่าพันล้านครั้งตลอดอายุการใช้งานของนาฬิกา รวมถึงการริเริ่มใช้วัสดุที่ทนทานต่อการขีดข่วนอย่างเซรามิค ซึ่งหลายคนก็ยังกลัว ๆ กล้า ๆ ที่จะเลือกลงทุนกับนาฬิกาวัสดุแบบนี้อยู่

Omega - Dark Side of the Moon เป็นตัวอย่างที่ดี ของความตั้งใจทำนาฬิกาดี ๆ ขึ้นมาสักเรือน ส่วนตัวลัดดาต้องยอมรับว่า Omega ทำออกมาได้ดีแบบไม่กั๊ก เพราะนอกจากการริเริ่มใช้วัสดุเซรามิคมาทำตั้งแต่ ตัวเรือน ปุ่มกด เม็ดมะยม แล้วยังกล้าทำไปถึง เข็มขัดรัดสาย ซึ่ง Omega คงต้องมั่นใจในวัสดุเซรามิคนี้จริง ๆ แถม Dark Side of the Moon ยังใช้เครื่องรุ่น 9300 ที่เป็นการพัฒนาขั้นล่าสุดของ Omega เพราะจัดมาทั้งระบบฟันเฟืองสองระดับ สามกระเดื่องแบบ Co-Axial และ Silicon Balance Wheel ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลต่อความเที่ยงตรง และอายุการใช้งานของนาฬิกาอย่างมาก ทำให้ Dark Side of the Moon เคยเป็นดาวเด่นในงาน Basel World 2013 ที่คนกล่าวขวัญกันมากที่สุดในปีนั้น

ต้นปี 2015 นี้คอลเลคชั่น Dark Side of the Moon ได้ออกนาฬิกาใหม่ถึง 4 แบบ ซึ่งดูแล้วไม่ต่างจากงานปาร์ตี้แฟนซีเล็ก ๆ ในคืนแรม 15 ค่ำ ภาพที่เห็นนำมาจากเวปไซท์ Omegawatches.com จริง ๆ มีแค่ 4 เรือนใหม่ (C-F) แต่เราดึง 2 เรือนดั้งเดิมเข้ามาแปะประกอบในภาพด้วย เพื่อจะได้เห็นภาพรวมของนาฬิกาเซรามิคตระกูลนี้ทั้งหมด 6 รุ่นด้วยกัน เรามาดูกันเลยค่ะ ว่ามีอะไรบ้าง

A) Original - Dark Side of the Moon Ref.311.92.44.51.01.003 ตำนานบทแรกของ Dark Side of the Moon ที่ทำด้วยเซรามิคสีดำทั้งเรือน รวมถึงหน้าปัดเซอร์โครเนี่ยมออกไซด์ (ZrO2) ทั้งปุ่มกด เม็ดมะยม ก็จัดมาเป็นเซรามิกหมด แม้แต่หัวเข็มขัดที่สายก็ยังทำด้วยเซรามิกซึ่งอันนี้ถือว่าฮาร์ดคอร์สุด ๆ ค่ะ เข็มและหลักเวลาทำด้วย White Gold ทุกชิ้น Original Dark Side รุ่นนี้มีจุดด้อยอยู่ที่ขอบ Tachymeter มันไม่ได้เคลือบสารสะท้อนแสงเหมือน Moon Watch รุ่นหลัง ๆ ที่เพิ่งออกมา (เราบอกตรง ๆ ว่ามันไม่น่าจะจำเป็น เพราะมันทำให้ดูเวลากลางคืนลายตามาก ๆ) แต่เราอยากจะพูดถึงจุดแข็งต่างหากที่สำคัญ เพราะเครดิตของความเป็นรุ่นแรกและราคาที่ไม่แพงเท่ารุ่นใหม่ ๆ ทำให้หลายคนคงเก็งได้ว่า ต่อไปมูลค่าในอนาคตของ "Omega เซรามิกรุ่นแรกของโลก" ย่อมเป็นสัญญาณที่ดีกับการลงทุนอยู่แล้ว - รุ่นนี้มีเวอร์ชั่นใหม่ออกมาแล้วเป็น D-buckle ที่ทำด้วยไทเทเนี่ยม+ปุ่มเซรามิกด้วยนะคะ ต่างตรงเลข Ref ลงท้ายจาก 3 เป็น 7 แทนราคาในบูติคตั้งแพงขึ้นจากเดิม 3 หมื่นกว่าบาท ซึ่งเราดูว่ามันอาจจะแรงไปหน่อยค่ะ

B) Grey Side of the Moon Ref.311.93.44.51.99.001 จริง ๆ เรือนนี้ไม่เข้าพวกที่สุด เพราะเป็นแขกที่มาจากอีกด้านนึงของดวงจันทร์ หรือประมาณคืนข้างขึ้น 15 ค่ำ อะไรแบบนั้นค่ะ เป็นหนึ่งเดียวที่ไม่ได้มีตัวเรือนสีดำ แต่ด้วยความที่มันอยู่ในกลุ่ม Moon Watch เซรามิก เลยขอจับมาร่วมในปาร์ตี้นี้ด้วยนะคะ จุดเด่นคือสีของเซรามิกเป็นสีถ่านหิน และหน้าปัดทำด้วย Platinum ขัดทราย และขอบ Tachymeter เป็นเลขเรืองแสงแล้ว นอกนั้นยังคงคอนเซปเดิมคือเข็มขัดสายก็ทำด้วยเซรามิกสีเทาถ่านหิน แต่สายทำด้วยหนังจรเข้ที่หลายคนชอบมากว่าสายไนล่อนผสมหนังแบบ DSM ทำให้ราคาแพงกว่า Original DSM ประมาณ 7-8% ค่ะ

C) Pitch Black Ref.311.92.44.51.01.004 รุ่นใหม่ปี 2015 มาจากตัวเรือนต้นแบบ Dark Side of the Moon ยกมาเลยค่ะ แต่เปลี่ยนหน้าปัดเป็นสีดำสนิทขัดด้าน แต่เข็มทุกเข็ม หลักตัวเลขทั้งในหน้าปัดย่อยและ Tachymeter แต้มสารเรืองแสง Super-Luminova สีเขียว มาพร้อมกับสายหนังวัวเดินด้ายสีขาว และใช้ Foldover Clasp หรือแบบบานพับปิดทำด้วยไทเทเนี่ยมแต่ใช้ปุ่มปลดล๊อคเป็นเซรามิก

D) Vintage Black Ref.311.92.44.51.01.006 เรือนนี้ก็เช่นกัน มาจากตัวเรือนต้นแบบ Dark Side of the Moon ยกมาเหมือนกัน แต่เข็มทุกเข็ม หลักตัวเลขทั้งในหน้าปัดย่อยและ Tachymeter แต้มสารเรืองแสง Super-Luminova สีเหลืองครีมคัสตาร์ด ให้ความรู้สึกเหงา ๆ เก่า ๆ แบบย้อนยุค มาพร้อมกับสายหนังวัวสีน้ำตาลฟอกลายแบบ Vintage Look ใช้ Foldover Clasp หรือแบบบานพับปิดทำด้วยไทเทเนี่ยมแต่ใช้ปุ่มปลดล๊อคเป็นเซรามิก

E) Black in Black Ref.311.92.44.51.01.005 เรือนนี้ดำสนิทและอินดี้สุด ๆ ค่ะ มาจากตัวเรือนต้นแบบ Dark Side of the Moon ยกมาเลย แต่เข็มทุกเข็ม หลักตัวเลขทั้งในหน้าปัดย่อยและ Tachymeter ทำเป็นสีดำสนิท และขัดด้านหมดเลย เหลือไว้แต่เพียงเม็ดมะยม ปุ่มกด และพื้นที่ด้านข้างที่ขัดเงา ให้ความรู้สึกแวปแรก เหมือนเครื่องบินสอดแนม Stealth พรางการมองเห็น (แล้วจะมองเวลาอะไรออกไหม) แต่หลายยี่ห้อตอนนี้ก็ผลิตรุ่นดำสนิทออกมาเยอะนะคะ ไม่ว่าจะเป็น Hublot, Zenith ฯลฯ Black in Blakc มาพร้อมกับสายผ้าไนล่อน แต่ด้านในที่สัมผัสผิวหนังใช้หนังแท้ และใช้ Foldover Clasp หรือแบบบานพับปิดทำด้วยไทเทเนี่ยมแต่ใช้ปุ่มปลดล๊อคเป็นเซรามิก สีดำด้านเช่นกัน

F) Sedna Black Ref.311.63.44.51.06.001 เรือธงของคอลเลคชั่นนี้อย่างแท้จริง เนื่องจากเปิดตัวมาด้วยราคาแพงที่สุด โดยนำทองชมพู 18K ที่ Omega ผสมสูตรเองชื่อว่า Sedna Gold มาใช้เป็นส่วนประกอบทั้งขอบ Bezel เข็มและหลักเวลา ซึ่งถ้าใครชอบ Omega Apollo 11 45th Limited Edition ที่ยังเป็นที่ต้องการมาก ๆ เรือนนี้เราเรียกว่าเป็นคุณพี่ของรุ่นนั้นเลยค่ะเพราะหน้าตามาพิมพ์เดียวกันเลย เพียงแต่ Omega 45 ปี เป็นตัวแทนของปี 1969 ใช้เครื่องไขลานดั้งเดิม Caliber 1861 แต่เรือนนี้เป็นตัวแทนของปีปัจจุบัน ใช้เครื่องใหม่และวัสดุใหม่ล่าสุด เรือนนี้มาพร้อมกับสายหนังจรเข้สีเทาดำ ใช้ Foldover Clasp หรือแบบบานพับปิดทำด้วยไทเทเนี่ยมแต่ใช้ปุ่มปลดล๊อคเป็นเซรามิกเช่นกัน

ส่วนตัวชอบ รุ่นสุดท้ายมากที่สุดค่ะ ไม่ใช่เพราะแพงที่สุดแต่มันสวยจริง ๆ ค่ะ เราสัมผัสเรือนจริงๆ มาแล้วทุกรุ่น ถ้าคุณชอบ Omega Apollo 11 ครบรอบ 45 ปีรุ่นผลิตจำนวนจำกัดที่ยังหาซื้อไม่ได้ หรือใช้ไปแล้วไม่ชอบ เราคงแนะนำรุ่นนี้ ถึงราคาอาจจะแรงไปซักนิดนึง แต่ใช้ยาว ๆ ได้เลยเพราะด้วยกลไก Co-Axial 9300 ที่ดีที่สุดของ Omega ระบบเข็มขั่วโมงแบบตั้งเวลาแยกกับเข็มนาทีได้ ตัวเรือนเซรามิก ตัดขอบทอง 18k และสายหนังจรเข้ พร้อม D-Buckle ไทเทเนี่ยม เปิดฝาหลัง และการรับประกันเพิ่มเป็น 4 ปี คงคุ้มกับเงินอีกประมาณ 1 แสนกว่าบาทที่ต้องจ่ายเพิ่มแน่นอนค่ะ เพราะออกแบบมาได้ทั้งสวยและใช้งานได้ดีจริง ๆ

ราคาวันนี้โดยประมาณนะคะ A) 265,000 B) 285,000 C,D)290,000 E)315,000 F)365,000 ค่ะ ของมีอย่างละเรือนนะคะ


Featured Posts
Recent Posts
bottom of page