top of page

ในวันที่ต้องเลือกนาฬิกา: จากหลักพัน พลิกผันเป็นหลักแสน


คุณให้ค่าศิลปะและผลงานจากฝีมือคนมากแค่ไหน? คำถามที่หลายคนมองข้ามไปหากเป็นเรื่องของนาฬิกา นั่นก็อาจเป็นเพราะตั้งแต่เล็กจนโต นักเรียนก่อนวัยทำงาน Gen Z คงไม่คุ้นเคยกับนาฬิกาที่ต้องไขลาน หรือต้องเขย่าก่อนใช้ เนื่องจากหลังยุค Quartz Crisis เป็นต้นมานาฬิกาที่ประชากรส่วนใหญ่ของโลกใช้ คือนาฬิกาที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่


การที่นาฬิกาจักรกลคือสิ่งประดิษฐ์จากยุคอดีตและนาฬิกาควอทซ์คือเทคโนโลยีที่เกิดในยุคโมเดิร์น ทำให้เกิดความลังเลใจในเรื่องความคุ้มค่าและการใช้งานว่าจะเลือกกลไกใหม่หรือย้อนไปใช้กลไกเก่า บทความนี้จึงเขียนขึ้นเพื่อบอกเล่าคุณค่าของนาฬิกาจักรกล และคลายข้อสังสัยหากต้องตัดสินใจมีเก็บไว้สักเรือน


จุดกำเนิดของนาฬิกาจักรกล


นาฬิกาจักรกล (Mechanical watch) หมายถึง นาฬิกาที่ใช้พลังงานจากการคลายตัวของสปริงในตลับลาน และใช้การเต้นของจักรกลอก (Escapement and Balance Wheel) เป็นตัวควบคุมความเที่ยงตรง ซึ่งต่างจากนาฬิการะบบควอทซ์ ซึ่งใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ นาฬิกาจักรกลแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ นาฬิกาไขลาน และนาฬิกาออโตเมติก (Self-winding) วิวัฒนาการของนาฬิกาจักรกลนั้นเริ่มมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงนาฬิกาพกระบบไขลานเท่านั้น


นาฬิกาพกที่ถูกเรียกว่า Henlein pocket watch ตั้งอยู่ที่ Germanisches Nationalmuseum

นาฬิกาเรือนแรกที่สามารถพกพาติดตัวได้ถูกคิดค้นโดยช่างนาฬิกาชาวเยอรมันนามว่า ปีเตอร์ เฮนไลน์ (Peter Henlein) ในปี 1510 หรือกว่า 500 ปีก่อน ไขลาน 2 รอบต่อวันและมีเพียงเข็มชั่วโมง ใช้พกไว้ในเสื้อผ้าหรือห้อยคอ ในยุคศตวรรษหลัง ๆ ก็มีการทำหลายรูปทรง เช่น ดาว ดอกไม้ หรือแม้กระทั่งผลไม้ อย่างไรก็ตามนาฬิกาพกในช่วงแรกนั้นแทบจะไม่ได้มีไว้เพื่อดูเวลาเป็นหลักเพราะขาดความเที่ยงตรงอย่างมาก จึงกลายเป็นเครื่องประดับสำหรับหญิงชนชั้นสูงเท่านั้น


ปี 1571 นาฬิกาข้อมือเรือนแรกถูกสร้างขึ้นให้กับพระราชินีอลิซาเบธที่ 1 (Queen Elizabeth I) แห่งอังกฤษ เป็นผลงานของโรเบิร์ต ดัดลีย์ (Robert Dudley) แต่ก็ไม่ได้สานต่อเพราะเวลานั้นนาฬิกาพกคือสิ่งที่ผู้หญิงนิยม จนศตวรรษที่ 17 ผู้ชายเริ่มหันมาใช้นาฬิกาพกบ้างแต่ใส่ไว้ที่กระเป๋าเสื้อแทนและที่สำคัญมีการเพิ่มเข็มนาทีเข้ามาให้สอดคล้องกับกลไกที่พัฒนาขึ้นเพื่อความเที่ยงตรง


หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็กำเนิดแบรนด์นาฬิกามากมายในศตวรรษที่ 18 แต่ช่วงรุ่งเรืองสุดขีดคือศตวรรษที่ 19 เพราะมีแบรนด์นาฬิกาที่เป็นดาวเด่นในปัจจุบันมากมายก่อตั้งขึ้นในเวลานี้ เช่น Patek Phillippe (1839) และ Omega (1848) ซึ่งยังคงผลิตแต่นาฬิกาพก


จุดเปลี่ยนสู่นาฬิกาข้อมือ


นาฬิกาทหารในสงครามโลกครั้งที่ 1 ติดตั้งตะแกรงปกป้องหน้าปัด และนาฬิกาของ Steve Trevor จากภาพยนตร์ Wonder Woman

เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 หรือปี 1900 เป็นต้นมา ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งมีฉนวนเหตุเกิดในยุโรป นาฬิกาพกไม่ตอบโจทย์กับการปฏิบัติภารกิจในสนามรบได้ เหล่าทหารจึงหันมาใส่ไว้ที่ข้อมือแทน และนั่นส่งผลให้นาฬิกาข้อมือเริ่มเป็นที่นิยม โดยช่วงแรก ๆ มันคือการนำนาฬิกาพกคล้องสายหนังแล้วรัดไว้ที่ข้อมือ เรื่องราวนี้ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ Wonder Woman ปี 2017 ด้วย โดยคริส ไพน์ (Chris Pine) ผู้รับบทเป็นสตีฟ เทรเวอร์ (Steve Trevor) นายทหารในสงครามโลกครั้งที่ 1 เขาได้รับนาฬิกาพกจากพ่อและได้เปลี่ยนมันเป็นนาฬิกาข้อมือภายหลังตรงกับประวัติศาสตร์ที่กล่าวมา ผู้ที่นำกระแสนาฬิกาข้อมือแบรนด์แรก ๆ คือ Rolex ที่หลังจากก่อตั้งในอังกฤษแล้วก็ย้ายมาสวิสเซอร์แลนด์ถาวร เพราะในช่วงสงครามโลก อังกฤษเก็บภาษีนำเข้าสูงจนไม่อาจรับไหว นอกจากนี้ สาเหตุที่ทำให้สวิสเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่ก้าวหน้าในศาสตร์การทำนาฬิกาก็เป็นเพราะสงครามโลกครั้งที่ 2 กล่าวคือ ในขณะที่ชาติอื่นในยุโรปเน้นผลิตอาวุธสงคราม สวิสที่มีนโยบายเป็นกลางจึงมุ่งผลิตและพัฒนานาฬิกา ดังนั้นนาฬิกาจากสวิสจึงมีคุณภาพสูงและเป็นผู้ถือครองสัดส่วนตลาดนาฬิกาโลกถึง 50% จนถึงปี 1970


ราคาของนาฬิกาจักรกลในอดีตนั้นถูกกว่าปัจจุบัน แต่ก็ถือว่าเป็นนาฬิการาคาแพงสำหรับคนทั่วไปอยู่ดีเพราะย้อนไปในช่วงปี 1970s คุณสามารถซื้อ Rolex Submariner ในราคาประมาณ 300 เหรียญสหรัฐ เทียบเป็นค่าเงินปัจจุบันก็อยู่ประมาณพันกว่าเหรียญสหรัฐ หรือ 30,000 บาทขึ้นไป หากเป็นรุ่นยอดนิยมอย่าง Daytona ก็อยู่ที่ 100,000 บาท สะท้อนให้เห็นว่าไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบันนาฬิกาจักรกลก็เจาะกลุ่มตลาดบนไม่เปลี่ยนแปลง อีกข้อสังเกตุนึงคือ ในช่วงยุค 1950-1960s เริ่มมีนาฬิกาจักรกลระบบออโต้และแต่ละแบรนด์จะเต็มไปด้วย Tool Watch อย่างเช่น Rolex ก็มี Submariner ไว้ตอบโจทย์การดำน้ำ และ GMT Master ที่เอาไว้ดูเวลา 2 ไทม์โซน หรืออย่าง Omega ที่ทำ Speedmaster ไว้เพื่อจับเวลาแต่ดันได้เอาไปใช้ถึงดวงจันทร์ ทั้งหมดนี้คือการทำนาฬิกาเพื่อการใช้งานอย่างแท้จริง


Quartz Crisis: วิกฤตการณ์ที่ทำนาฬิกาจักรกลเกือบล่มสลาย


1969: Seiko Astron นาฬิกาข้อมือควอทซ์เรือนแรกของโลก

ในปี 1969 เป็นปีที่ Omega Speedmaster ได้ไปเหยียบดวงจันทร์กับบัซ อัลดริน (Buzz Aldrin) และ นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) ในวันคริสต์มาสปีเดียวกัน Seiko ทำในสิ่งที่ทุกคนไม่คาดฝันและต้องจารึกลงไปในหน้าประวัติศาสตร์ด้วยการเปิดตัว Astron นาฬิกาข้อมือระบบควอทซ์เรือนแรกของโลก ไม่มีการใช้ชิ้นส่วนโลหะนับร้อย มีแต่แบตเตอรี่เท่าเม็ดกระดุมและแร่ควอทซ์ที่ขับให้เข็มนาฬิกาเดินไปได้ แถมยังมีความเที่ยงตรงสูงคลาดเคลื่อนเพียง 1 นาทีต่อปี นอกจากนี้ แม้ว่าในช่วงแรกนาฬิกาควอทซ์มีราคาสูงพอ ๆ กับรถยนต์แต่ก็มีการพัฒนาให้ผลิตได้อยู่ระดับ Mass Production จนราคาถูกลงมาก ก็ยิ่งทำให้ผู้คนเริ่มหันหลังให้กับนาฬิกาจักรกล บริษัทนาฬิกาสวิสและยุโรปที่เคยรุ่งเรืองปิดตัวลงไปมากกว่าครึ่ง ทุกคนหมดหวังและคิดว่าศาสตร์ของนาฬิกาจักรกลได้จบลงแล้ว


การยืนหยัดและการกลับมาของนาฬิกาจักรกล


ผลของการมาของควอทซ์ตั้งแต่ปี 1970 กินระยะเวลาล่วงเลยมาเป็นสิบปี ในระหว่างนั้นผู้ผลิตนาฬิกาจักรกลก็หาทางผลิตเครื่องควอทซ์ของตัวเองบ้างเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยังคงมีผู้ที่ยืนหยัดในศาสตร์การทำนาฬิกา และออกจะไม่ชอบใจกับนาฬิกาแบตเตอรี่มากเสียด้วย เพราะมองว่าเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้ามากกว่าเป็นนาฬิกา


ปัจจัยที่ทำให้นาฬิกาจักรกลฟื้นคืนสู่ตลาดอีกครั้งมีมากมาย เริ่มจากกระแสความนิยมนาฬิกาวินเทจที่คงเป็นเพราะคนคิดว่าอีกไม่นานนาฬิกาจักรกลจะเลิกผลิตและกลายเป็นของหายาก จึงมีการประมูลจากหลายสำนัก และนักทำนาฬิกาอิสระจำนวนหนึ่งก็หันมารับสั่งทำนาฬิกาเรือนเฉพาะซึ่งผลตอบรับก็ดีพอสมควร สะท้อนให้เห็นว่ายังมีผู้คนที่หลงใหลและยอมจ่ายเพื่อนาฬิการะบบนี้ รวมถึงหนึ่งแบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่าง Rolex ก็ทำเครื่องควอทซ์ในช่วงต้น แต่เพราะมีนาฬิกาคู่บุญ Daytona ซึ่งเป็นที่นิยมมากในวงการงานประมูลโดยเฉพาะในอิตาลี ทำให้แบรนด์ยังคงคิดไปต่อได้กับจักรกลดั้งเดิม


1989: Patek Philippe Calibre 89 นาฬิกาพกที่มีฟังก์ชั่นซับซ้อนที่สุดอันดับสองของโลก เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 150 ปี

ทุกอย่างที่กล่าวมาข้างต้นล่อเลี้ยงให้นาฬิกาจักรยังอยู่ในกระแส แต่ยังไม่มากพอที่จะกลับมาครองตลาดอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม Patek Phillippe แบรนด์นาฬิกาสวิสอนุรักษ์นิยม มีผู้กุมบังเหียนคือฟิลิปส์ สเติร์น (Phillippe Stern) มองการณ์ไกลและคิดหาสิ่งที่จะฉลองครบรอบ 150 ปีของแบรนด์ในอีก 10 ปีข้างหน้าซึ่งตรงกับปี 1989 ผลลัพธ์ที่ได้คือ Calibre 89 นาฬิกาพกที่มีฟังก์ชั่นซับซ้อนมากที่สุดในโลกในขณะนั้น (แต่ปัจจุบันตกมาอยู่อันดับที่สองรองจาก Vacheron Constantin Ref.57260) โดยมีถึง 33 ฟังก์ชั่นประกอบจากชิ้นส่วน 1,728 ชิ้น สร้างความตื่นเต้นและน่าทึ่งกับความมหัศจรรย์ของศาสตร์แห่งจักรกลจนเกิดกระแสข่าวแพร่สะพัดไปทั่ว ทำให้ผู้คนให้ความสนใจกับนาฬิกาจักรกลอีกครั้ง


สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปกับการผลิตนาฬิกาจักรกลคือ แม้ว่าจะใช้องค์ความรู้เก่าจากอดีตมาสร้างนาฬิกาจักรกล แต่กลวิธีในการผลิตใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างคอมพิวเตอร์และเครื่องจักรเข้าช่วย


สุดท้ายหลังปี 1990s เป็นต้นมา นาฬิกาจักรกลก็กลับเข้ามาสู่วงโคจรได้อีกครั้งแต่มีราคาสูงขึ้นหลายเท่าตัว และอยู่ในฐานะนาฬิกาที่บ่งบอกถึงความมั่งคั่งและมั่นคง ไม่ได้เจาะกลุ่มลูกค้าทั่วไปแบบที่นาฬิกาควอทซ์ทำ ด้วยเหตุนี้หลาย ๆ คนอาจลังเลใจว่าจะคุ้มค่าหรือคิดถูกหรือไม่ที่จะซื้อนาฬิกาจักรกลสักเรือน หากได้อ่านเหตุผลด้านล่างนี้อาจทำให้คุณตัดสินใจได้ไวขึ้น


เหตุผลที่คุณควรเลือกนาฬิกาจักรกล


1. นาฬิกาจักรกลมีคุณภาพที่ยอดเยี่ยม


ทองคำและอัญมณี รวมถึงขอบนาฬิกาของ Rolex

แม้ว่าหลาย ๆ คนมองว่านาฬิกาควอทซ์เหนือกว่าด้านความเที่ยงตรง แต่หลังการปรับเปลี่ยนการผลิตมาใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย นาฬิกาจักรกลก็มีประสิทธิภาพและคุณภาพสูงมากขึ้น เริ่มจากการใช้วัสดุที่จะต้องมีคุณภาพสูง คัดมาแล้วว่ามีความทนทานและเหมาะสมกับการทำนาฬิกา ไม่ว่าจะเป็นโลหะมีค่า อย่างเช่น ทองคำผสมสูตรต่าง ๆ อาทิเช่นทองผสม 18 กะรัต หากเป็น Rolex จะใช้วิธีหลอมจากสูตรผสมของตัวเองขึ้นทั้งสิ้น วัสดุผสมพิเศษที่ได้มานั้นถูกนำไปใช้ตั้งแต่ตัวเรือน สาย แม้แต่กระทั้งน๊อต และไปจนถึงชิ้นส่วนของเครื่องนาฬิกา หากเป็นโลหะสตีลอัลลอย แบรนด์อย่าง Rolex ก็จะเลือกใช้แต่โลหะผสมสูตร 904L ซึ่งถูกใช้ในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ทนทานต่อการผุกร่อนและมีความงดงามเมื่อผ่านการขัดเงา และช่วงสหัสศวรรษที่ 2000 ก็เริ่มมีการใช้วัสดุที่ทนทานต่อการขีดข่วนมากขึ้นอย่าง Cerachrome และกระจก Sapphire ซึ่งหากไม่ถูกกระแทกอย่างรุนแรง ก็จะสามารถคงสภาพเหมือนใหม่ได้หลายร้อยปี


นอกจากนี้ อัญมณีที่นำมาประดับก็คัดจากเกณฑ์ที่แต่ละแบรนด์สร้างขึ้นอย่างเข้มงวด ไม่ได้มีเพียงเพชร แต่หลากหลายมากจนไปถึงหินอุกาบาต Meteorite ที่ Rolex ก็เป็นเจ้าแรกที่นำหินชนิดนี้มาแล่เป็นแผ่นบาง ๆ เพื่อทำหน้าปัด ส่วน Omega จะใช้หินจากดวงจันทร์มาทำแทนเพราะแบรนด์โด่งดังกับภารกิจสู่ดวงจันทร์มาตั้งแต่อดีต


ถัดจากวัสดุแล้ว การทำงานของนาฬิกาก็พัฒนาเช่นกัน ทั้งการสำรองพลังงานและความเที่ยงตรงที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันสามารถคลาดเลื่อนเพียง -/+ 2 วินาทีต่อวันซึ่งเมื่อนำมาใช้จริงอาจจะมากขึ้นเล็กน้อย จริงอยู่ว่าฟันเฟืองและชิ้นส่วนโลหะภายในเครื่องจะไม่สามารถทำให้นาฬิกาจักรกลเดินเที่ยงตรงได้เท่าควอทซ์ แต่ในชีวิตจริงนั้นระดับความเที่ยงตรงที่จักรกลมีให้ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว


และเมื่อผลิตออกมาก็ใช่ว่าจะจำหน่ายได้ทันที มีการทดสอบการทำงานหลายด้าน เช่น นำนาฬิกาไปแช่น้ำและรับแรงดันมากกว่า 10% ของความสามารถที่รับประกันไว้ ส่วนมากจะสามารถทนแรงดันน้ำ 100 เมตรเป็นอย่างต่ำ สำหรับ Rolex จะมีหุ่นยนต์เลียนแบบการเคลื่อนไหวของมือมนุษย์ทั้งรูปแบบปกติอย่างในชีวิตประจำวันและการออกกำลังกาย หุ่นยนต์เหล่านี้ถูกออกแบบให้จำลองการใส่นาฬิกาเป็นเวลานับปีภายในหนึ่งอาทิตย์เพื่อที่จะให้ข้อมูลแก่นักออกแบบในเวลาอันรวดเร็ว และจะได้คาดคะเนว่าการทำงานของนาฬิกาจะเป็นอย่างไร และยิ่งหากเป็นรุ่นที่ทำเพื่อดำน้ำลึกก็เจอสิ่งที่โหดขึ้นกว่าเกณฑ์ปกติ โดยจะทดสอบในถังจำลองแรงดันเทียบเท่าความลึกเกือบ 5,000 เมตร แรงดันนี้จะมีค่าเท่ากับน้ำหนัก 4.5 ตัน ซึ่งหากนาฬิกามีข้อพกพร่องเพียงเล็กน้อย แน่นอนว่ารอยต่อระหว่างกระจก หรือเม็ดมะยมจะมีการรั่วไหลให้เห็นได้ชัดอย่างทันที ที่กล่าวมานี้คือตัวอย่างแบบทดสอบนาฬิกาซึ่งมีแตกต่างกันไปบ้างตามแนวทางของแต่ละแบรนด์ แต่ก็มี COSC สถาบันทดสอบนาฬิกาของสวิสเป็นมาตรฐานที่กำหนดไว้เป็นหลักของนาฬิกาจักรกล


2. นาฬิกาจักรกลคือผลผลิตขององค์ความรู้ที่สั่งสมและสืบทอดมาหลายร้อยปี


จากประวัติที่เล่ามายืดยาวด้านบนทำให้เห็นแล้วว่านาฬิกาจักรกลถูกคิดค้นมาไม่ต่ำกว่า 500 ปี และยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน ผ่านการคิดค้นหานวัตกรรมเพื่อแก้ไขความเที่ยงตรงจากช่างทำนาฬิกายุโรปมากมายที่เพิ่มขึ้นมาในแต่ละศตวรรษ ต้องลองผิดลองถูกมานับครั้งไม่ถ้วน และที่สำคัญคือเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นในยุคไร้เทคโนโลยีเอื้ออำนวย ความยากลำบากที่ผู้ผลิตนาฬิกาสมัยนี้พบเจออาจเทียบไม่ได้เลยกับช่างนาฬิกในศตวรรษก่อน ๆ


การประกอบชิ้นส่วนนาฬิกาจักรกล

ความน่าทึ่งของชิ้นส่วนเล็ก ๆ นับร้อยชิ้นถูกขัดแต่งให้ได้รูปทรงและองศาที่ถูกต้องวางประกอบกันอย่างเบามือ อาศัยความรู้ทั้งด้านคณิตศาสตร์และฟิสิกส์เข้าช่วย เพราะเพียงคำนวณผิดเล็กน้อย ระบบภายในก็ไม่อาจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้กว่าจะได้นาฬิกาจักรกลแต่ละเรือนต้องใช้เวลาผลิตนานและอาศัยความเชี่ยวชาญขั้นสูง ซึ่งการจะได้เป็นช่างทำนาฬิกาหรือประดับอัญมณีได้นั้นต้องเรียนจบจากสถาบันสอนทำนาฬิกาเฉพาะทางและมีอยู่ไม่กี่แห่งในโลก อย่างที่สหรัฐอเมริกาก็มีเพียง 3 แห่งเท่านั้น ความรู้ที่ได้จากโรงเรียนนั้นมีแค่ 60% ส่วนที่เหลือคือต้องใช้เวลาในการฝึกฝนเก็บประสบการณ์เองอีก 5-10 ปี จึงมั่นใจได้ว่าในทุกขั้นตอนที่ต้องอาศัยฝีมือของมนุษย์ จะมีผู้เชี่ยวชาญมากประสบการณ์เหล่านี้เป็นผู้ลงมือทำในแต่ละเรือน


3. สุนทรียภาพที่ได้จากนาฬิกาจักรกล


Audemars Piguet Royal Oak Perpetual Calendar Openworked Ceramic (Ref. 26585CE.OO.1225CE.01)

มากกว่าการบอกเวลา คือการได้เสพงานศิลปะชั้นยอด ขณะที่นาฬิกาทั่วไปถูกใส่และถอดวางทิ้งไว้เพื่อรอวันใหม่ให้กลับมาใส่อีกครั้ง นาฬิกาจักรกลทั้งแบบไขลานและออโต้ล้วนอาศัยการไขลานด้วยมือเพื่อปลุกให้เข็มเดินอยู่เสมอ บางคนอาจมองว่ายุ่งยากและเสียเวลา แต่หากได้ลองใช้แล้วจะพบว่า การได้ดูแลและไขลานนาฬิกาเป็นหนึ่งในกิจวัตรที่มอบโอกาสให้เราได้ใช้เวลาชื่นชมงานศิลปะ การแกว่งไปมาของจักรกลอก หรือการจัดวางชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่นำมาซึ่งสุนทรียภาพ เกิดปฏิสัมพันธ์และความผูกพันธ์ระหว่างผู้ใช้และกับนาฬิกา เพราะนาฬิกาจักรกลถูกสร้างขึ้นด้วยความประณีต จึงควรถูกดูแลรักษาและสวมใส่อย่างประณีตเช่นกัน


4. นาฬิกาจักรกลสามารถเก็บเพื่อส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น หรือเพื่อการลงทุน


หากว่าคุณค่าทางศิลปะและประวัติศาสตร์ยังไม่เพียงพอ นาฬิกาจักรมีคุณค่าที่จับต้องได้ทางเงินตรา เพราะมีอายุการใช้งานยาวนานหลายสิบปีจนสามารถส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นหากดูแลรักษาเป็นอย่างดี นั่นก็เพราะคุณภาพและวัสดุที่ใช้ซึ่งกล่าวไปในข้างต้น และหากชิ้นส่วนกลไกชิ้นใดชำรุดก็สามารถซื้อเปลี่ยนใหม่ได้ ไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่ยกเรือน เป็นจุดที่นาฬิกาควอทซ์ให้ไม่ได้เพราะเมื่อใช้ไปไม่กี่ปีถ่านหรือแบตเตอรี่ของนาฬิกาจะเสื่อมสภาพต้องถอดเปลี่ยนทั้งหมด และหากถึงตอนนั้นตัวเรือนก็คงเก่ามากจนควรซื้อเรือนใหม่จะดีกว่า


การส่งต่อนาฬิกาให้กับลูกหลานหรือคนสำคัญย่อมมีคุณค่าทางจิตใจ แต่ในด้านการลงทุน นาฬิกาจักรกลก็เป็นอีกหนึ่งทางที่เพิ่มพูนความมั่งคั่งได้หากเป็นรุ่นที่นิยม เรื่องนี้ต้องศึกษาและดูทิศทางของตลาดว่าเป็นไปอย่างไร ไม่ใช่ว่าทุกรุ่นจะให้ผลตอบแทนกลับมา แต่หากพูดกันตามตรงแค่เรื่องวัสดุและคุณภาพของนาฬิกาจักรกลก็ถือว่าคุ้มค่าคุ้มราคาแล้ว


-----


นาฬิกาจักรกลคือผลลัพธ์ของความพยายามที่สำเร็จได้ด้วยสติปัญญาและสองมือของมนุษย์ ประวัติศาสตร์ที่ยาวนานหล่อหลอมให้เกิดเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสิ่งประดิษฐ์นี้ หวังว่าบทความนี้จะทำให้หลาย ๆ ท่านมองเห็นถึงคุณค่าของนาฬิกากลไกนี้ได้ลึกขึ้น เพราะการซื้อนาฬิกาจักรกลไม่ได้หมายความว่าคุณซื้อแค่เครื่องบอกเวลา แต่หมายรวมถึงการได้ครอบครองผลงานศิลปะที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ องค์ความรู้ และศักยภาพของฝีมือมนุษย์


อ้างอิง


Featured Posts
Recent Posts
bottom of page