top of page

Rolex Day-Date: สัญลักษณ์ของความมั่งคั่งในยุค Gen X


2019: Rolex Day-Date 36mm

Rolex เมื่อหลายสิบปีก่อนกลุ่ม Sport Watch อย่าง Submariner, Sea Dweller, Explorer หรือแม้แต่ Daytona ยังไม่ได้รับความนิยมนัก เนื่องจากมีคู่แข่งคู่บุญอย่าง Omega ที่ได้เดินทางไปดวงจันทร์ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 70 ดังนั้น ผู้สวมใส่ Rolex และต้องการแสดงถึงความมั่งคั่ง ตัวเลือกที่นิยมในขณะนั้นคือ Day-Date นาฬิกาที่มีฟังก์ชั่นบอกวันที่และวันของสัปดาห์ แต่สิ่งที่โดดเด่นและสำคัญที่สุดคือการใช้โลหะมีค่าทั้งเรือนและสร้างลักษณะเฉพาะอย่างสายนาฬิกาที่เห็นแค่นั้นก็รู้แล้วว่านี่คือ Rolex Day-Date


เรื่องราวต้นกำเนิดของ Day-Date นาฬิกาที่เป็นดั่งสัญลักษณ์ของความหรูหราและมั่งคั่งเริ่มขึ้นและดำเนินไปอย่างไรในช่วงเวลา 60 กว่าปีที่ผ่านมา เกร็ดประวัติศาสตร์เล็ก ๆ น้อย ๆ และเรื่องราวเฉพาะรุ่นของ Day-Date จะมีอะไรบ้าง บทความนี้จะพาทุกท่านไปชมวิวัฒนาการของคอลเลคชั่นนี้กันค่ะ


Rolex Day-Date ที่มาที่แสนเรียบง่าย


ในปี 1945 Rolex เปิดตัว Datejust นาฬิการะบบออโต้รุ่นแรกที่มีฟังก์ชั่นบอกวันที่ ณ ตำแหน่ง 3 นาฬิกา แต่ดูเหมือนว่า Rolex ต้องการมากกว่านั้น เพื่อรากเหง้าที่มีเอกลักษณ์และดูหรูหราตั้งแต่ต้น คอลเลคชั่น Day-Date นาฬิกาที่มีวันที่และวันแสดงบนหน้าปัดจึงถือกำเนิดขึ้นในปี 1956 และดำรงตำแหน่งเรือธงของแบรนด์ตั้งแต่นั้นมา


1956: Rolex Day-Date Ref.6511 และ Ref.6510 Yellow gold 18K สองรุ่นแรก

Rolex Day-Date ถือเป็นนาฬิการุ่นแรกที่สามารถบอกได้ทั้งวันที่และวัน ณ ตำแหน่ง 3 และ 12 นาฬิกาตามลำดับ โดยรุ่นแรกคือ Ref.6511 ขอบหยัก และ Ref.6510 ขอบเรียบ ซึ่งทั้งคู่ใช้ Cal.1055 ความพิเศษของเรือธงตระกูลนี้อยู่ที่การมีเครื่องเฉพาะเป็นของตัวเอง เป็นผลจากฟังก์ชั่นที่ไม่เหมือนใคร และมีขนาด 36มม เท่านั้น รูปลักษณ์คล้ายกับ Datejust มากพอสมควร อย่างไรก็ตาม Day-Date เป็นรุ่นที่เกิดมาเพื่อแสดงถึงความหรูหรา ตัวเรือนจึงทำจากโลหะมีค่าเท่านั้นอย่างทองคำ 18K ทั้ง Yellow gold, White gold, Rose gold และ แพลทตินัม แถมยังโดดเด่นเรื่องสายนาฬิกาที่ในภายหลังถูกตั้งชื่อว่า “President” เมื่อมีบุคคลสำคัญอย่างประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาเป็นผู้สวมใส่ ความพิเศษของสายนาฬิการุ่นนึ้คือจะใช้กับ Day-Date เท่านั้น รวมถึง Lady Datejust ด้วยหากเป็นรุ่นที่ทำจากทองคำ


อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อบกพร่องของ Cal.1055 ที่ระบบเปลี่ยนวันที่และวันส่งผลต่อการทำงานของระบบโดยรวม ทำให้ Day-Date รุ่นแรกทั้ง Ref.6510 และ Ref.6511 มีอายุไขเพียง 1 ปีก็ถูกแทนที่ด้วย Ref.6611 ในปี 1957 ซึงยังคงใช้เครื่องเดิม แต่มีการปรับปรุงประสิทธิภาพด้วยการใช้ Free Sprung Balance แถมยังมีการผลิตรุ่นที่เป็นสแตนเลสสตีลเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว ขัดกับภาพลักษณ์ของ Day-Date ที่ขึ้นชื่อเรื่องตัวเรือนทำจากโลหะมีค่า โดยผลิตมาเพียง 6 เรือนจึงกลายเป็นของหายากอย่างไม่ต้องสงสัย ถึงจะเป็นเช่นนั้น รุ่นนี้ก็อยู่ในไลน์การผลิตสั้นพอ ๆ กับรุ่นแรก เพราะเพียง 2 ปีก็ต้องบอกลาตลาดไป


Day-Date รุ่นที่ 3 กับเครื่องรุ่นใหม่ที่ลงตัว


1960: Rolex Day-Date Ref.1803 รุ่นสุดท้ายที่มีหน้าปัด Pie-Pan

ในปี 1960 Rolex Day-Date เปิดตัวซีรี่ส์ใหม่คือ Ref.180X เลขรุ่น 4 หลักจะเปลี่ยนเลขตัวท้ายตามแต่วัสดุที่ใช้ โดยรุ่นที่นิยมที่สุดของตระกูลนี้คือ Ref.1803 มากับ Cal.1555 กลไกใหม่ เพิ่มความถี่จาก 18,000 vph เป็น 19,600 vph และเปลี่ยนเข็ม Alpha ทรงใบไม้อย่างตัวต้นแบบมาเป็นเข็มตรงแทน ถัดมาในปี 1965 ก็มีการเปลี่ยนเครื่องเป็น Cal.1556 และพัฒนาให้มีกลไก Hacking mechanism เมื่อปี 1972 กล่าวคือ เมื่อดึงเม็ดมะยมออกเพื่อตั้งเวลา เข็มวินาทีจะหยุดเดินเพื่อให้การตั้งเวลาแม่นยำมากขึ้น นอกจากนี้ Ref.1803 ยังเป็นรุ่นสุดท้ายที่มีหน้าปัด Pie-Pan หมายถึงขอบของหน้าปัดเว้าลึกลงไป ส่วนรุ่นหลัง ๆ จะมีหน้าปัดเรียบเสมอกันทำให้ดูมีขนาดใหญ่ขึ้นแม้ว่ายังคง 36มม เท่าเดิม นอกจากนี้ ช่องแสดงวันตรง 12 นาฬิกาจะมีทั้งหมด 24 ภาษา


Day-Date กับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่


1982: Rolex Day-Date Yellow gold Ref.18038 และ 1981: Oysterquartz White gold Ref.19019

หลังจาก Ref.18XX ที่อยู่ในการผลิตถึง 2 ทศวรรษได้ทำการบอกลาไป ในปี 1978 -1988 Rolex Day-Date รุ่น 5 หลัก Ref.180XX ก็รับไม้ต่อทันที โดยเลข 2 หลักสุดท้ายจะหมายถึงชนิดของ Bezel และวัสดุ ส่วนเรื่องรูปร่างหน้าตายังคงคล้ายกับ Ref.180X แต่เลิกใช้หน้าปัด Pie-pan และเป็น Day-Date รุ่นแรกที่ใช้คริสตัลแซฟไฟร์ สิ่งที่เปลี่ยนไปมากที่สุดคือประสิทธิภาพการใช้งานที่เหนือกว่า เพราะรุ่นนี้มากับเครื่องใหม่อย่าง Cal.3055 เพิ่มความถี่เป็น 28,800 vph และมี Quickset mechanism หรือ กลไกการเปลี่ยนวันที่เพียงแค่หมุนเม็ดมะยม ไม่ต้องคอยหมุนเข็มนาฬิกาให้ผ่านเวลาเที่ยงคืน เรียกว่าสะดวกกว่าแบบเดิมมากทีเดียว แต่สำหรับฟังก์ชั่นวัน ยังคงต้องอาศัยเข็มชั่วโมงและเข็มนาทีในการตั้งค่าซึ่งในรุ่นนี้มีการเพิ่มภาษาขึ้นมาอีก 1 รวมเป็น 25 ภาษา แต่ในปัจจุบันเพิ่มเป็น 26 ภาษาแล้ว


ในช่วงเวลาเดียวกัน เพราะการมาของควอทซ์ทำให้ Rolex ก็ผลิตนาฬิกาที่ใช้ระบบนี้และนำมาใช้กับ Day-Date ด้วย ปี 1977-2001 กินเวลาสิบกว่าปีที่มีการผลิต Day-Date Oysterquartz Ref.190XX ขับเคลื่อนด้วย Cal.5055 มีขนาดหน้าปัดและฟังก์ชั่นต่าง ๆ เหมือนกับระบบจักรกล แต่จะทำจาก White gold และ Yellow gold เท่านั้น


ตัดกลับมาที่ระบบจักรกล ในปี 1988 Day-Date รุ่นใหม่อย่าง Ref.182XX มีการเปลี่ยนเครื่องเป็น Cal.3155 และทำในสิ่งที่หลายคนเฝ้ารอซึ่งก็คือ Double Quickset ทำให้สามารถตั้งค่าวันที่และวันแยกกันอย่างอิสระเพียงหมุนเม็ดมะยม


ศตวรรษใหม่ของ Day-Date


ต้อนรับปี 2000 Rolex เปิดตัว Day-Date Ref.118XXX พร้อมพ่วงรุ่นแยกย่อยตามแต่วัสดุและขอบจะเป็นไปอย่างที่เคยทำมา แต่ยังคงใช้ Cal.3155 เจ้าเก่าเจ้าเดิม หากพูดตามตรงก็เป็นรุ่นที่ไม่ได้เปลี่ยนอะไรไปมาก หน้าปัดและวัสดุรวมถึงเพชรก็มีให้เลือกมากมายแบบรุ่นเก่า ๆ เพียงแค่เพิ่มสายหนังเข้ามาและพัฒนาสายนาฬิกาให้แข็งแรงมากขึ้น


2008: Rolex Day-Date II Rose gold 41มม Ref.218235 และ 2015: Day-Date Platinum 40มม Ref.228206

สิ่งที่เปลี่ยนไปมากที่สุดเกิดขึ้นในปี 2008 Rolex เปิดตัว Day-Date II Ref.218XXX ที่มีหน้าปัด 41มม ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทำหน้าปัดขนาดใหญ่เช่นนี้ เพราะโดยปกตินาฬิกาตระกูลนี้จะมีแค่ขนาดเดียวคือ 36มม เมื่อหน้าปัดใหญ่ขึ้น เครื่องก็ต้องใหญ่ขึ้นตาม รุ่นนี้จะใช้ Cal.3156 สำรองพลังงาน 48 ชั่วโมง แต่ก็ไม่สามารถไปต่อได้นานนักเพราะแค่ 7 ปีก็หยุดการผลิตลง และมีการเปิดตัว Day-Date 40 Ref.228XXX เข้ามาแทนในปี 2015 โดยเลข 40 เป็นการเน้นย้ำถึงขนาดหน้าปัดที่เปลี่ยนไป รุ่นนี้เปลี่ยนมาใช้ Cal.3255 เพิ่มการสำรองพลังงานเป็น 70 ชั่วโมง และความเที่ยงตรง +/-2 วินาทีต่อวัน ถือเป็นการปรับเปลี่ยนที่ได้รับความนิยมมาก จนอาจทำให้หลายคนคิดว่ารุ่น 36มม จะโบกมือลาตลาดไปหรือเปล่า เรื่องนี้ยังสบายใจได้เพราะเมื่อปี 2019 ที่ผ่านมายังมีการเปิดตัว Day-Date ขนาด 36มม พร้อมอัปเดตเครื่องมาใช้ Cal.3255 ตาม Day-Date 40


Day-Date Signature Models


1972: Rolex day-Date Stella Ref.1803 Green Dial และ 2013: Stella Ref.118138 สายหนัง

หน้าปัดของนาฬิกาคอลเลคชั่นนี้เป็นสิ่งที่สะดุดตาพอ ๆ กันกับ Datejust รุ่นข้างเคียง เพราะมีการเล่นสีและเปลี่ยนวัสดุมากมายตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเริ่มจากปี 1970s Day-Date Stella เป็นหน้าปัดที่สีสดและฉูดฉาดมากที่สุดตั้งแต่ทำมาเลยก็ว่าได้ ทำจากแร่หินชนิดต่าง ๆ แล้วเคลือบอีนาเมล (Enamel) โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือประเทศตะวันออกกลางและแถบเอเชีย แต่ผิดคาดเพราะนาฬิการุ่นนี้ไม่ได้รับความนิยมทำให้หยุดการผลิตลงในเวลาอันสั้น ซ้ำร้าย Rolex ถึงกับทำลายโมเดลที่เหลือทิ้งด้วย อย่างไรก็ตาม หน้าปัด Stella ก็กลับมาในปี 2013 เพราะรุ่นเก่ากลายเป็นของหายากและกลายเป็นของนิยมเสียอย่างนั้น Rolex จึงลองใหม่อีกครั้งกับสีสันสดใสพร้อมสายหนังจระเข้สีเดียวกัน


Day-Date 40 Ref.228396TBR Platinum with ice blue Dial และ Ref.228206 Platinum with an ice blue and diagonal-motif dial

ต่อมาคือหน้าปัด Ice Blue เป็นหน้าปัดที่ถูกสงวนไว้ให้กับรุ่นทำจาก 950 platinum เท่านั้น ซึ่งเป็นโลหะที่หนักที่สุดและราคาแพงมากที่สุดแม้สีจะคล้ายกับ White gold และสแตนเลสสตีลก็ตาม หน้าปัดสีฟ้าอ่อนนี้มีหลากหลายลวดลาย ไม่ว่าจะเป็นแบบไล่สี Ombre, ลายทาง, และลายตาข่าย


Day-Date Ref.18038 Wood dial, Ref.118239 Lapis Lazuli Dial และ Day-Date 40 Ref.228235 Olive Green Dial

สีและวัสดุที่ใช้ทำหน้าปัดของ Day-Date ยังมีปลีกย่อยอีกพอสมควร ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงปี 70s หน้าปัดลายไม้ถูกนำมาใช้กับ Day-Date Ref.18038 ความพิเศษคือลายของแต่ละเรือนจะไม่เหมือนกันอีกด้วย อีกสีหนึ่งคือ หน้าปัดสี Lapis Lazuli เป็นแร่หินสีน้ำเงินเข้มโดดเด่นและมีประวัติยาวนานว่าจัดเป็นอัญมณีนับหลายพันปีก่อนราว ๆ 7,000BC ใช้ในรุ่น Day-Date และ Datejust มักจะมากับหลักเพชร และสีที่สร้างมาในโอกาสพิเศษคือ หน้าปัด Anniversary ครบรอบ 60 ปีของ Day-Date โดย Rolex ได้ทำการเฉลิมฉลองไปในปี 2016 ด้วยหน้าปัดสีของแบรนด์ซึ่งก็คือสีเขียวแต่ออกไปโทนโอลีฟ


2018: Day-Date 40 Ref.228206 Platinum Arabic calendar and numerals

นอกจากเรื่องสีสันของหน้าปัดแล้ว การตกแต่งและส่วนประกอบบนแผ่นวงหน้าปัดนี้ก็มีอย่างอื่นให้ปรับแต่งอีกมากอย่างเช่นหลักเวลา เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายตะวันออกกลางในช่วงปี 1950s มีการผลิตหน้าปัด Arabic ซึ่ง Rolex เป็นผู้บุกเบิกการทำหน้าปัดนี้เป็นเจ้าแรก แม้ประเทศตะวันออกลางจะเป็นภูมิภาคของความมั่งคั่ง แต่ด้วยกฎของผู้ชายที่นับถือศาสนาอิสลามห้ามใส่เครื่องประดับที่เป็นทองคำ ดังนั้นตัวเรือนของ Day-Date Arabic Dial จึงทำจากแพลทตินัม และในช่วงต้นของปี 1980s นาฬิการุ่นนี้ก็หายไปจากหน้าแคตตาล็อก และทิ้งช่วงไปเกือบ 40 ปี Rolex จึงกลับมาทำรุ่นนี้อีกครั้งในปี 2016 ในรุ่น Day-Date 40 ตัวเรือนแพลทตินัมและใช้หน้าปัดสี Ice Blue


Rolex President Day-Date Yellow Gold and White Gold Myriad Diamond Dials

ถัดมาคือการใช้เพชรเป็นลูกเล่นด้วยหน้าปัด Myriad Diamond โดยปกติแล้ว Rolex จะนำเพชรมาประดับที่ขอบหรือหลักเวลา แต่สำหรับ Myriad Diamond คือการนำเพชรมาเรียงที่ขอบนอกหน้าปัด ทับด้วยหลักโรมันและเลขอารบิกตามแต่รุ่นไป และมีแค่รุ่น Day-Date และ Datejust เท่านั้น

1980s: Rolex Day-Date Tridor Ref.18239 3 กษัตริย์

นอกเหนือจากหน้าปัดที่ Day-Date สรรหาสีและวัสดุมาใช้แล้ว เรื่องสายนาฬิกาก็มีลูกเล่นเช่นกัน ในปี 1980s Day-Date Tridor เปิดตัวพร้อมสายนาฬิกาที่แปลกตา ซึ่งนาฬิการุ่นนี้คือ Ref.18239 เป็นไลน์ย่อยของตระกูล Ref.18XXX จึงใช้ Cal.3055 เครื่องเดียวกัน หมายความว่ามี Double Quickset ปรับวันที่และวันแยกกันอิสระเพียงหมุนเม็ดมะยม Day-Date รุ่นนี้ตัวเรือนเป็น White gold 18k มีหน้าปัดและวัสดุหลากหลายแบบ แต่จากรูปด้านบนคือหน้าปัดสีเงินตัดกับสีทองของขอบหยัก Yellow gold และหลักขีดรวมถึงเข็ม สิ่งที่เป็นไฮไลท์คือสายนาฬิกา Tridor ที่ทำจากทองคำ 3 ชนิดตรงกลางสาย โดยแบ่งแถบสีชัดเจนเรียงจาก Rose gold, Yellow gold, และ White gold ต่างจาก Rolesor ที่ทองแต่ละชนิดจะถูกผสมเข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์ Tridor ใช้แนวทางที่แตกต่างออกไป ลายของทองคำ 3 สีถูกหลอมรวมกันให้อยู่ในเส้นเดียวแต่แยกแถบสีกันอย่างชัดเจนตลอดความยาวของสายนาฬิกา อย่างไรก็ตาม นาฬิการุ่นนี้ก็ได้หยุดการผลิตลงช่วงปี 2000s


เหล่าคนดังที่เลือกสวม Rolex Day-Date


1. Lyndon B. Johnson


1965: Rolex Day-Date Yellow gold 18K ของประธานาธิบดี Johnson และโปสเตอร์ Rolex Day-Date ปี 1966

Rolex Day-Date เป็นตัวเลือกของเหล่าผู้นำและประธานาธิบดีทั่วโลก โดยประธานาธิบดีคนแรกที่สวมนาฬิการุ่นนี้ออกสื่อขณะดำรงตำแหน่งคือ ลินดอน บี. จอนห์นสัน (Lyndon B. Johnson) ในปี 1965 เขาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 36 ของสหรัฐอเมริกา และเลือกใส่รุ่นที่ทำจาก Yellow gold จนช่วงนั้นผู้คนเรียก Day-Date ว่า Rolex President ทำให้ Rolex มีการทำโปสเตอร์โฆษณาว่านี่คือนาฬิกาที่ประธานาธิบดีและผู้นำประเทศเลือกใส่ แต่สุดท้ายชื่อ President ก็กลายเป็นแค่ชื่อสายนาฬิกา 3 ข้อที่ทำจากโลหะมีค่าซึ่งสงวนไว้ให้กับเรือธง Day-Date เท่านั้น ในปัจจุบันมีการเพิ่มสายเต้าหู้ หรือสาย Oyster และสายหนังจระเข้เข้ามาด้วย แต่ Day-Date กับสาย President ก็เป็นของคู่กันอยู่ดี


2. Donald Trump


Donald Trump และ Rolex Day-Date Yellow gold

หลังจากข่าวการเลือกตั้งของอเมริกาและทรัมป์พ่ายแพ้ให้กับโจ ไบเดรชน (Joe Biden) ผู้เลือกสวม Omega Seamaster แต่ย้อนไปช่วงที่ทรัมป์ยังคงดำรงตำแหน่งหรือย้อนไปแม้กระทั่งช่วงหาเสียง นาฬิกาบนข้อมือของเขาคือ Rolex Day-Date Yellow gold และมักจะเป็นที่รู้กันว่าเขาใส่เรือนนี้อยู่บ่อยครั้ง ดั่งว่าเป็นเอกลักษณ์ของประธานาธิบดีอเมริกาที่ต้องใส่นาฬิการุ่นนี้และสีนี้


3. Warren Buffet


Warren Buffett และ Rolex Day-Date Yellow gold 18k ของเขา

เจ้าพ่อนักลงทุน หรือ เทพพยากรณ์แห่งโอมาฮา วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) เขาคือนักธุรกิจและนักลงทุนชาวอเมริกัน ติดอันดับบุคคลที่รวยที่สุดในโลกเป็นอันดับสาม บัพเฟตต์นั้นขึ้นชื่อเรื่องความเป็นอยู่ที่ไม่หวือหวาเพราะทุกวันนี้เขายังอาศัยอยู่ที่บ้านหลังเดิมที่เขาซื้อมาตั้งแต่ปี 1958 ในโอมาฮา (Omaha) และขับรถคาดิลแลคคันเดิมเป็นสิบปีก่อนจะเปลี่ยนคันใหม่เมื่อปี 2016 ที่สำคัญ เขาเลือกสวมนาฬิกา Rolex Day-Date Yellow gold 18k เรือนเดิมหลายทศวรรษ บ่งบอกถึงความโปรดปรานที่มีต่อรุ่นนี้เป็นพิเศษ นอกจากนี้เขาถึงกับเคยคิดจะซื้อบริษัท Rolex อีกด้วย แต่ก็ถูกปฏิเสธไป ทำให้เขาทำได้แค่ครอบครองนาฬิกาจากแบรนด์นี้แทน


4. Bruno Mars


Bruno Mars และ Rolex Day-Date Yellow Gold Black dial ใน MV เพลง 24K Magic

ข้ามฟากจากเหล่าผู้ทรงอิทธิพลด้านการเมืองและเศรษฐกิจมาสู่ผู้ทรงอิทธิพลด้านอุตสาหกรรมวงการเพลงอย่างบรูโน่ มารส์ (Bruno Mars) นักร้องชาวอเมริกันจากเกาะฮาวายเจ้าของรางวัล Grammy Award เขาดูโปรดปราน Rolex Day-Date Yellow gold มากพอสมควร เพราะมีภาพมากมายที่นาฬิกาเรือนนี้อยู่บนข้อมือเขา และที่สำคัญเขาใส่เรือนที่เป็น Yellow gold หน้าปัดสีดำใน MV เพลง 24K Magic ที่ล่าสุดยอดวิวทะลุไป 1.3 พันล้านวิวเรียบร้อยแล้ว


Day-Date New Update


2019: Day-Date 36mm latest models

รุ่นใหม่ล่าสุดของ Day-Date เปิดตัวเมื่อปี 2019 และนำความแฟนซีกลับคืนมาอีกครั้งและพร้อมกับขนาดหน้าปัดดั้งเดิม 36มม เริ่มจากรุ่นแรกใช้หน้าปัดสี Ombré มีให้เลือกทั้งสีเขียวและสีน้ำตาล หน้าปัดลักษณะนี้จะไล่สีสว่างจากตรงกลางและเข้มตรงขอบ รุ่นถัดมาคือหน้าปัด Diamond Pavé มาในตัวเรือน White gold ref.128349RBR, Yellow gold ref.128348RBR และ Rose gold ref. 128345RBR มีแบบทั้งเพชรบนวงขอบ Bezel และไม่มี เป็นรุ่นที่ประดับเพชรทั้งหน้าปัด หลักเวลาเป็นแซฟไฟร์ไล่สีรุ้ง จนอาจจะเรียกหน้าปัดนี้ว่า Rainbow Dial ระยิบระยับไปแทบทุกภาคส่วน และสองเรือนสุดท้ายใช้หน้าปัดแร่หิน ได้แก่ Turquoise Ref.128348RBR เป็นรุ่นที่หน้าปัดทำจากแร่หินสีฟ้าเทอร์ควอยซ์ คล้ายกับหน้าปัด Stella ที่ Rolex เคยทำมาในอดีต ใช้หลักโรมันประดับเพชร หน้าปัดแร่หินอีกอย่างคือ Opal สีชมพูอ่อน ref. 128349RBR และมีหลักเวลาแบบเดียวกัน


-------


และนี่คือเรื่องราวทั้งหมดของ Rolex Day-Date ที่นับตั้งแต่เปิดตัวในฐานะเรือธงของแบรนด์ก็ปรากฎอยู่บนข้อมือของเหล่าคนมีชื่อเสียงและทรงอิทธิพลต่อโลกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ด้วยรูปลักษณ์และฟังก์ชั่นที่คล้ายกับ Datejust ซึ่ง Day-Date เปิดตัวตามหลัง Datejust เพียงหนึ่งทศวรรษเท่านั้น อาจทำให้หลาย ๆ ท่านคิดสงสัยว่าเหตุใด Rolex ถึงไม่เพิ่มฟังก์ชั่นบอกวันลงบนหน้าปัดของ Datejust แต่กลับเลือกสร้างคอลเลคชั่นใหม่อย่าง Day-Date แทน จุดนี้สันนิษฐานได้ว่า หาก Datejust เปลี่ยนมาผลิตจากโลหะมีค่าอย่างทองคำเพียงอย่างเดียวก็เสี่ยงว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะผู้คนติดกับภาพลักษณ์ของนาฬิการุ่นนี้ที่เป็นสแตนเลสสตีลไปแล้ว และขัดกับความตั้งใจของแบรนด์ที่ต้องการนาฬิการะดับพรี่เมี่ยม หรูหราในทุกแง่มุม ดังนั้น Day-Date จึงเป็นการตลาดที่คิดมาอย่างรอบคอบและอยู่เคียงคู่แบรนด์มากว่า 60 ปี


อ้างอิง


Featured Posts
Recent Posts
bottom of page