top of page

Rolex Explorer : นาฬิกา Rolex สำหรับคนที่ไม่ชอบ Rolex


ในชีวิตของคน ๆ หนึ่งอาจจะต้องการพิชิตอะไรสักอย่างหรือมีเป้าหมายแสนยากเย็นเพื่อที่จะเอาชนะ อย่างการพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์เพื่อให้ได้เป็นบุคคลที่เคยอยู่จุดที่สูงที่สุดในโลก ซึ่งนอกจากคนแล้ว โรเล็กซ์เองก็คิดอยากจะเป็นนาฬิกาที่เคยไปอยู่บนจุดที่สูงที่สุดในโลกเช่นกัน


ถ้าพูดถึงการพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์แล้ว เราคงต้องย้อนไปเมื่อ ปี 1841 นักสำรวจชาวอังกฤษกลุ่มแรกได้ค้นพบยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกนี้ นำทีมโดย Sir George Everest ซึ่งชื่อของเขาก็คือที่มาของยอดเขาสูงสุดลูกหูลูกตาแห่งนี้ แต่ถามว่าเหตุใดการสำรวจยอดเขาเอเวอเรสต์จึงเป็นประเด็นสำคัญเอาเสียมาก ๆ ตอบได้ว่าการสำรวจยอดเขาเอเวอเรสต์นั้นเป็นอะไรที่มากกว่าการผจญภัย และเป็นการท้าทายสำหรับนักปีนเขาจากทั่วโลก และโรเล็กซ์เองก็ได้ลงเดิมพันครั้งใหญ่ไว้กับภารกิจนี้เช่นกัน ไม่ใช่ว่าพวกเขาส่งคนไปปีนยอดเขาแต่อย่างใด แต่ในนามของแบรนด์นาฬิกาแล้ว แน่นอนว่าพวกเขาส่งนาฬิกาไปต่างหาก

Sir George Everest ชายผู้ค้นพบยอดเขาเอเวอเรสต์ในปี 1841 ก่อนที่ Hillary และ Norgay จะเข้ามาพิชิตยอดเขาในปี 1953

ความท้าทายในการพิชิตยอดเขาในฐานะ “นาฬิกาข้อมือ”

ก่อนอื่นเราจำเป็นต้องเกริ่นข้อมูลเบื้องต้นก่อน เพื่อให้เข้าใจว่าทำไมโรเล็กซ์จึงสนใจภารกิจสำรวจยอดเขาเอเวอเรสต์ เพราะยอดเขาเอเวอเรสต์นั้นเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก ถูกบันทึกไว้ในปี 1955 ความสูง 8,709 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล หรือเทียบเท่ากับตึกใบหยก 28 ตึกต่อกันเลยก็ว่าได้ และนอกจากเรื่องความสูงแล้ว มันยังมีสภาพแวดล้อมที่หฤโหดสุด ๆ ทั้งอุณหภูมิที่หนาวสุดขั้วถึงติดลบ 50 องศาเซลเซียส ระดับออกซิเจนที่ต่ำกว่าพื้นดินทั่วไปแค่ 1 ใน 3 และยังมีภัยพิบัติธรรมชาติอีกมากมายรอคอยนักเดินทาง เช่น พายุหิมะ หิมะถล่ม หุบเหวน้ำแข็ง และอีกมากมายที่รอการถูกทดสอบคุณสมบัติจากนักเดินทางได้เป็นอย่างดี

Edmund Hillary และ Tenzing Norgay พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์พร้อม Rolex Oyster Perpetual Ref. 6298

พอทราบคร่าว ๆ กันแล้วว่ายอดเขาเอเวอเรสต์นั้นมีความโหดหินขนาดไหน โรเล็กซ์จึงไม่รอช้าที่จะทดลองนำนาฬิกาไปฝากไว้กับ Edmund Hillary นักปีนเขาชาวนิวซีแลนด์ และ Tenzing Norgay ไกด์นำทางชาวเชอปาจากประเทศเนปาลในการทดสอบครั้งใหญ่ของพวกเขาเช่นกัน ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ได้มีเพียง Rolex เจ้าเดียวที่ได้เข้าร่วมทดสอบภารกิจครั้งนี้ ยังมี Smith De Luxe Watches นาฬิกาสัญชาติอังกฤษอีกเจ้าที่่ Edmund Hillary ได้สวมไว้เมื่อได้ก้าวเท้าถึงยอดเขาอีกด้วย


Rolex Oyster Perpetual และผองเพื่อนที่มาพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ยังสวมใส่นาฬิกาของโรเล็กซ์จนกระทั่งเสร็จภารกิจนั่นมีเพียงไม่กี่คน เพราะมันอยู่บนเพียงข้อมือของ Tenzing Norgay เท่านั้นขฯะแตะถึงยอดเขา ซึ่งจริง ๆ มีผู้สวมใส่โรเล็กซ์มากมายขณะปฏิบัติภารกิจ แต่พวกเขามักจะสับเปลี่ยนเพื่อเป็นนาฬิกาแบรนด์อื่นในพื้นที่ที่แตกต่างกันไปเสียมากกว่าใส่เพียงโรเล็กซ์อย่างเดียว โดยได้มีบันทึกกล่าวไว้ว่า Edmund Hillary สวมโรเล็กซ์ไปจนถึงเบสแคมป์ที่ความสูง 5,000 เมตรเท่านั้น และมันเป็นเพียงจุดแรกของการเดินทาง ส่วน John Hunt ผู้นำภารกิจครั้งนี้ก็ได้สวมโรเล็กซ์เช่นกัน เขาสวมจนถึงที่ความสูง 8,000 เมตร หรือแคมป์ที่ 4 ซึ่งเป็นแคมป์สุดท้ายก่อนถึงยอดเขา ดังนั้นสรุปได้ว่าพวกเขาไม่ได้สวมมันจนสิ้นสุดภารกิจอย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจ และโรเล็กซ์ก็คงไม่สบายใจที่จะออกมาพูดเรื่องนี้กับสื่อ

สภาพของ Rolex Oyster Perpetual ที่ The Beyer Watch and Clock Musuem ที่ซูริคประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ที่ถูกส่งกลับมาหลังปฏิบัติภารกิจสำเร็จในปี 1953

ส่วนตัวเลือกที่โรเล็กซ์ได้คัดสรรมาเพื่อร่วมปฏิบัติภารกิจครั้งนี้คือ Rolex Oyster Perpetual Ref. 6298 ที่ถูกออกแบบในปี 1950 แต่มันไม่ได้ถูกปล่อยออกสู่ท้องตลาดเพื่อให้คนทั่วไปจับจ่ายใช้สอยกัน เนื่องด้วยเหตุผลทางการตลาด โรเล็กซ์ตั้งใจที่จะทดสอบมันบนภารกิจพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ ในปี 1953 เป็นครั้งแรก โดยท้ายที่สุดแล้วหลังจากวันที่ภารกิจสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี โรเล็กซ์ก็ได้ปล่อยเจ้า Rolex Oyster Perpetual นี้ออกมาในชื่อใหม่ นั่นคือ Rolex Oyster Perpetual ‘Explorer’ นั่นเอง


หลังจากที่โรเล็กซ์ได้เปิดตัวเจ้า Explorer ออกมาแล้วในปี 1953 พวกเขาก็ได้พัฒนานาฬิกาตระกูล Explorer ออกมาอีกเรื่อย ๆ ซึ่งโดยส่วนมากแล้วโรเล็กซ์มักจะนำนวัตกรรมการพัฒนาโรเล็กซ์รุ่นอื่น ๆ มาปรับเข้ากับ Explorer เช่น การนำนวัตกรรมการกันน้ำแบบ Twinlock Winding Crown จาก Submariner ในปี 1953 มาใช้ในปีเดียวกัน ซึ่งมีคุณสมบัติในการกันน้ำของมันไปได้ถึงความลึกระดับ 100 เมตร แถมในปี 1970 พวกเขายังต่อยอดระบบกันน้ำให้ล้ำไปกว่าเดิม ในการมาของ Triplelock Crown ที่กันน้ำได้มากกว่าเดิมถึงระดับความลึก 300 เมตร และได้เริ่มใช้บน Rolex Sea-Dweller เป็นเรือนแรก


Rolex Explorer II : การเปลี่ยนแปลงจากจุดสูงสุด มายังจุดต่ำสุด

แม้จะผ่านการทดสอบและเปลี่ยนแปลงมามากมาย ในสมัยของ Rolex Explorer I ยังคงสังคมถูกวิจารณ์ไว้มากมายว่ามันเป็น “Rolex for people who don’t like Rolex.” อยู่ดี กล่าวคือนาฬิกา Rolex รุ่นอื่น ๆ มักจะถูกสวมใส่เพื่อแสดงถึงสถานะทางสังคมและแฟชัน ซึ่ง Explorer มักถูกใส่เพื่อเป็นอุปกรณ์การใช้งานเท่านั้น สังเกตุจากเส้นทางการวิวัฒนาการของมันที่มีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น หน้าปัดมีความใหญ่มากขึ้นจาก 36 มิลลิเมตร เป็น 39 มิลลิเมตร และมีระบบกันน้ำที่ดีขึ้น แม้จนกระทั่งในยุคที่ Rolex Explorer II ถูกปล่อยออกมาในปี 1971 มันก็ยังคงมีความคงเส้นคงวาในการพัฒนาในด้านการใช้งานที่มากกว่าเดิม แถมในครั้งนี้มันเป็นการถูกพัฒนาเพื่อการใช้งานจากจุดสูงสุดที่บนยอดเขาเอเวอเรสต์ มายังจุดต่ำสุดในการสำรวจถ้ำ หรือสำหรับนักถ้ำวิทยาอีกด้วย

วิวัฒนาการการออกแบบของ Rolex Explorer I และ II ตั้งแต่ปี 1950 - 2016

ถ้าเราสังเกตดูจากการวิวัฒนาการของตระกูล Explorer ตั้งแต่ Explorer I จน Explorer II ความแข็งแกร่งและการใช้งานของมันก็ยังคงไม่เป็นรองใคร เนื่องจากเงื่อนไขที่ถูกกำหนดมาตั้งแต่แรกว่ามันต้องใช้งานได้จริงในการสำรวจสภาพแวดล้อมสุดโหด พอมองไปถึงเรื่องการสำรวจถ้ำแล้ว โจทย์ที่ถูกเพิ่มเข้ามาคือสภาพแวดล้อมที่อันตราย ความอับชื้น และความมืดมิด ซึ่งโรเล็กซ์เองได้พัฒนามันด้วยการเพิ่มเข็มระบุเวลาเข้ามาจากแบบ 12 ชั่วโมง เป็นแบบ 24 ชั่วโมง อีกทั้งยังเพิ่มสารเรืองแสงบนเข็มบอกเวลาเพื่อการใช้งานในที่มืดอีกด้วย


ทำให้แม้ว่าจะไม่มีแสงเล็ดลอดเข้ามาในสภาพแวดล้อมนั้นเลยก็ตาม ผู้สวมจะยังสามารถรับรู้ได้ว่าเวลาที่พวกเขาอ่านอยู่นั้นเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน อีกทั้งในปี 1985 Rolex Explorer Ref. 16550 ยังถูกปรับใหม่ให้มีขนาดหน้าปัดที่ใหญ่ขึ้นจาก 39 มิลลิเมตร เป็น 40 มิลลิเมตร และกรอบหน้าปัดยังสามารถหมุนได้เพื่อตอบโจทย์กับนักเดินทางที่จำเป็นต้องปรับเวลาให้เข้ากับ time zone ที่ 2 อีกด้วย


จาก 904L มาเป็น Oystersteel

สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด ในเวลาใกล้ ๆ กันของช่วงปี 1985 โรเล็กซ์ได้มีการนำเหล็กแสตนเลส 904L มาร่วมใช้กับนาฬิกาของพวกเขาเป็นครั้งแรก ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมที่พลิกวงการการผลิตนาฬิกามาก ๆ เพราะส่วนใหญ่เหล็กชนิดนี้มักจะถูกใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตยานอวกาศและเคมีภัณฑ์เท่านั้น ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ของโรเล็กซ์ นาฬิกาโรเล็กซ์เรือนแรกที่ถูกสร้างจากเหล็กแสตนเลส 904L คือ Rolex Sea-Dweller ซึ่งเจ้าวัสดุเหล็กชนิดนี้ หรือที่เรียกกันอย่างติดปากว่า Oystersteel Ⓡ เป็นชื่อที่โรเล็กซ์ตั้งขึ้นมาเพื่อการตลาด มีคุณสมบัติในการกันกระแทกที่สูงกว่านาฬิกาทั่วไปที่ทำจากเหล็กแสตนเลส 316L เอาเสียมาก ๆ เพราะมีปริมาณการผสมของทองแดง (copper) และธาตุโมลิบดีนัม (molybdenum) สูงกว่า และมันยังมีความแวววาวมากกว่านาฬิกาทั่วไปเนื่องจากการผสมของปริมาณโครเมียม (chromium) ที่มากกว่าเหล็กดั้งเดิมอีกด้วย

ตารางเปรียบเทียบปริมาณเหล็กที่ถูกผสมเข้าไปใน 316L และ 904L stainless steel ที่ส่งผลให้คุณสมบัติของทั้งเหล็กสองประเภทออกมาแตกต่างกัน

เมื่อถามหาถึงสูตรความสำเร็จของ Oystersteel Ⓡ นอกจากคุณสมบัติของมันแล้วต้องพูดถึงการโฆษณาเช่นกัน โดยพวกเขาเคลมไว้ว่าโรเล็กซ์เป็นแบรนด์นาฬิกาเจ้าแรกที่สามารถผลิตนาฬิกาข้อมือจากเหล็ก Oystersteel Ⓡ ได้เป็นเจ้าแรก แต่ตามการถกเถียงที่เคยมีมาก่อน บางคนมีความเชื่อว่าความจริงแบรนด์แรกที่ใช้ Oystersteel Ⓡ คือ Omega ต่างหาก ซึ่งพวกเขาได้ใช้เหล็กดังกล่าวบน Omega Seamaster 600 ในปี 1972 ในชื่อ Uranus Steel โดยใช้ก่อนโรเล็กซ์ถึง 13 ปี อย่างไรก็ตาม แฟนนาฬิกาส่วนใหญ่มักจะยกย่องให้โรเล็กซ์เป็นเหนือในการปรับใช้เหล็ก Oystersteel Ⓡ ในรูปแบบที่หลากหลายมากกว่าแบรนด์ไหน ๆ เพราะการใช้ Oystersteel Ⓡ มีอยู่ในนาฬิกาทุกรุ่นของโรเล็กซ์ตั้งแต่ ปี 2003 เมื่อเทียบกับแบรนด์อื่นที่ยังคงใช้เหล็ก 316L แบบดั้งเดิมอยู่ ซึ่งเหตุผลที่เป็นเช่นนี้เพราะการทำงานกับเหล็กประเภท 904L นั้นต้องการกระบวนการแปรรูปและเครื่องจักรที่แตกต่างออกไปจากวิถีดั้งเดิม ดังนั้นโรเล็กซ์จึงต้องมีการเพิ่มการลงทุนเกิดขึ้นด้วยการสร้างโรงงานและวิธีการผลิตเหล็กประเภทนี้ด้วยตัวเอง เพราะเหล็ก 904L นั้นหากเราสังเกตราคาในตลาดจาก Alibaba แล้ว โดยอ้างอิงจากเหล็กหลากหลายรูปแบบ เช่น เหล็กม้วน เหล็กแผ่น และเหล็กท่อ โดยเฉลี่ยเหล็ก 904L จะมีราคาที่แพงกว่าเหล็กประเภท 316L ประมาณ 2-3 เท่า

904L stainless steel หรือ Oystersteel Ⓡ เหล็กประจำแบรนด์โรเล็กซ์ตั้งแต่ปี 2003

ว่ากันสั้น ๆ จากที่ได้อ่านกันมาอย่างยาวนาน Rolex Explorer นั้นมีวิวัฒนาการที่ยาวนาน ตั้งแต่ปี 1953 จนถึงปัจจุบันร่วม 70 ปี และมันยังคงถูกพัฒนามาเรื่อย ๆ เพื่อตอบสนองต่อการใช้งานที่ดีที่สุดในการสำรวจสุดโหดอีกมากมาย ใครจะไปรู้ว่าในอนาคตโรเล็กซ์อาจจะได้ไปสำรวจดาวอังคารด้วยการออกแบบของ Rolex Explorer III ก็เป็นได้


อ้างอิง



Featured Posts
Recent Posts
bottom of page