top of page

การกลับมาของ Omega Caliber 321 - ฟื้นคืนจิตวิญญาณสู่อวกาศและดวงจันทร์


1963: Omega Speedmaster ST 105.003 (ซ้าย) และ 2020: Omega Speedmaster 311.30.40.30.01.001 (ขวา)

แม้ว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันจะล้ำหน้าไปกว่าวันที่มนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์สักแค่ไหน แต่จนถึงทุกวันนี้ นาฬิกา Omega Speedmaster Professional Moonwatch ยังคงเป็นนาฬิกาเพียงรุ่นเดียวที่ได้รับการรับรองให้ใช้ในอวกาศ โดยเครื่องที่ทำให้ Omega ผ่านแบบทดสอบของ NASA ไม่ใช่ใครอื่นไกล แต่เป็น Cal.321 ในตำนาน ซึ่งหยุดการผลิตไปกว่า 50 ปีนับตั้งแต่ปี 1968 จนเมื่อไม่นานมานี้ ในปี 2020 ทาง Omega ได้ใส่ Cal.321 ลงใน Omega Speedmaster 321 Stainless Steel เพื่อย้อนรำลึกถึงการได้เป็นนาฬิกาที่ใช้ในอวกาศซึ่งรับรองจาก NASA อย่างเป็นทางการในปี 1965


ถึงจะเป็นเรื่องน่ายินดีที่เครื่องระดับตำนานได้ฟื้นคืนมาอีกครั้ง แต่การกลับมาของ Cal.321 ก็ยังคงน่าประหลาดใจมากทีเดียวเพราะเล่นหายไปจากไลน์การผลิตถึงครึ่งศตวรรษและกลับมาด้วยคอนเซ็ปต์การไปอวกาศและดวงจันทร์ ซึ่งรุ่นก่อน ๆ ก็เคยทำมาแล้วหลายครั้งหลายครา แต่ Cal.321 ไม่เคยปรากฎตัวแม้แต่ครั้งเดียวหลังยุติการผลิตไป


ความเป็นมาและเส้นทางของ Cal.321 เป็นไปอย่างไร เกิดอะไรขึ้นจนเครื่องนี้ไม่ได้ไปต่อในช่วงเวลาที่ผ่านมา และการกลับมาครั้งนี้มีสิ่งไหนเปลี่ยนไปบ้าง


ต้นกำเนิดของ Omega Speedmaster Caliber 321


Lemania 2310 (ซ้าย) และ Omega original Caliber 321 (ขวา)

Caliber 321 เป็นกลไก Chronograph ไขลานด้วยมือที่เริ่มใช้ในปี 1942 แต่ Omega ไม่ได้เป็นผู้ผลิตเอง เพราะมีช่างนาฬิกาอัลเบิร์ต ปิเกต์ (Albert Piguet) จาก Lemania บริษัทผู้ผลิตนาฬิกาหรูสัญชาติสวิสเป็นผู้ออกแบบให้ ความสัมพันธ์ของสองแบรนด์นี้เริ่มเมื่อปี 1932 ช่วงเวลาแห่ง The Great Depression หรือ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในทวีปอเมริกาเหนือและทวีปยุโรป ซึ่งขยายวงกว้างไปทั่วโลก 3 ผู้ผลิตนาฬิกาได้แก่ Omega, Lemania และ Tissot จึงร่วมมือกันก่อตั้ง SSIH group พร้อมสร้างกลไก Chronograph ใหม่ จนได้ Cal. CHRO 27 C12 หรือเป็นที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า Lemania 2310 ซึ่งกลายมาเป็นรากฐานให้ Cal.321 ของ Omega ในที่สุด

ต่อมา ในปี 1957 Omega ได้สร้างคอลเลคชั่นใหม่และใช้ชื่อตามขนบรุ่นก่อน ๆ ที่เคยตั้งมาว่า “Speedmaster” พร้อมทั้งนำ Cal.321 มาประเดิมตั้งแต่รุ่นแรกอย่าง CK2915 และ CK2998 จุดเด่นของเครื่องรุ่นนี้คือ เป็น Chronograph ที่ใช้ Column Wheel ซึ่งเป็นกลไกการจับเวลาที่ได้รับการยอมรับว่ามีสัมผัสการกดที่แม่นยำ ภายในมิติขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางแท่นเครื่องขนาด 27มม. หนา 6.74มม. ความถี่ 18,000 vph และสำรองพลังงาน 44 ชั่วโมง

เหตุใด Cal.321 ถึงถูกมองว่าเป็นตำนาน


Buzz Aldrin สวม Omega Speedmaster ST 105.012 ในภารกิจ Apollo 11

เช่นเดียวกับนาฬิกาอื่น ๆ ที่ส่งเข้าไปให้ NASA คัดเลือก Speedmaster ก็ไม่ได้ถูกคิดค้นมาเพื่อสำรวจอวกาศ แต่ทำมาเพื่อเป็นนาฬิกาสำหรับกีฬามอเตอร์สปอร์ต ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่ NASA คิดจะทะยานออกนอกชั้นบรรยากาศโลกเพื่อไปดวงจันทร์กับโครงการ Gemini และ Apollo ด้วยเหตุนี้ ทำให้องค์กรต้องตามหานาฬิกาที่มีคุณสมบัติเหมาะสมให้เหล่านักบินอวกาศ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของลูกเรือ เดค สเลย์ตัน (Deke Slayton) ระบุว่า เขาต้องการ “Chronograph ที่มีความทนทานสูงและเที่ยงตรง” NASA จึงส่งจดหมายไปหาแบรนด์ผู้ผลิตนาฬิกาแบบไม่เปิดเผยตัวตน การคัดเลือกถูกตัดสินโดยเจมส์ เรแกน (James Ragan) วิศวกรของ NASA และใช้แบบทดสอบ 10 อย่าง ในที่สุด Omega Speedmaster ST 105.003 ที่ผลิตในปี 1963 ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ผ่านทุกเกณฑ์และยังคงความเที่ยงตรง 5 วินาทีต่อวัน ทำให้กลายเป็นนาฬิกาประจำภารกิจ Apollo อย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 1965


Omega Speedmaster Models in Space Programs

เรื่องราวของ Omega Speedmaster ไม่ได้จบลงเพียงเท่านี้ ในเที่ยวบิน Apollo 11 ซึ่งออกเดินทางในปี 1969 พร้อมกับความหวังของคนทั่วโลกที่จะไปสัมผัสดวงจันทร์ นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) และบัซ อัลดริน (Buzz Aldrin) ทำภารกิจสำเร็จ โดยมี Omega Speedmaster ST 105.012 อยู่บนข้อมือของอัลดรินขณะที่เขาเดินบนดวงจันทร์

นาฬิกาทั้งสองรุ่นที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ภายในคือ Cal.321 จึงได้ชื่อว่าเป็นเครื่องที่น่าจดจำที่สุดเครื่องหนึ่ง เพราะทั้งสร้างชื่อให้กับ Omega ในฐานะนาฬิกาสำหรับอวกาศและทำงานได้จริงบนดวงจันทร์ อย่างไรก็ตาม Cal.321 มีช่วงเวลาการใช้งานสั้นกว่าที่คิดไว้ เพราะเพียงทศวรรษเดียวก็ถูกแทนที่ด้วย Cal.861 และน่าแปลกใจยิ่งกว่าตรงที่หยุดการผลิตลงแม้ว่าโครงการ Apollo ยังไม่จบเสียด้วยซ้ำ

การเปลี่ยนผ่านจาก Cal.321 สู่ Cal.861

Omega Speedmaster original Calibre 321 (ซ้าย) และ Calibre 861 (ขวา)

หลังจากถูกใช้มาตั้งแต่ปี 1957 Cal.321 ก็ได้หยุดการผลิตลงในปี 1968 ซึ่งจุดนี้เองทำให้เรื่องราวของเครื่องนี้แปลก เพราะ Omega Speedmaster ST 105.003 ที่มี Cal.321 อยู่ภายในได้รับเลือกให้เป็นนาฬิกาประจำโครงการ Apollo อย่างเป็นทางการ ซึ่งโครงการนี้เริ่มเมื่อปี 1961 และสิ้นสุดในปี 1972 การที่ Cal.321 หยุดผลิตกลางคันแล้วเปลี่ยนมาใช้ Cal.861 เช่นนี้ย่อมสร้างความสงสัยว่าเหตุใดจึงรีบเปลี่ยนนัก อย่างไรก็ตาม แม้จะหยุดผลิตไปแล้ว แต่นาฬิกาที่ NASA ใช้ก็ยังคงเป็นรุ่นที่มี Cal.321 อยู่ดี ได้แก่ ST 105.003 และ ST 105.012 รวมถึง ST 145.012

เครื่องที่เข้ามาแทนคือ Cal.861 ออกแบบโดยอัลเบิร์ต ปิเกต์อีกเช่นเคย โดยมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม อยู่ 2 ข้อ คือปรับความถี่ให้สูงขึ้นจาก 18,000 vph เป็น 21,600 vph ทำให้ต้านแรงโน้มถ่วงที่กระทำต่อจักรกลอกได้ดีขึ้น และการเปลี่ยนจากกลไกจับเวลา Column Wheel มาใช้ Cam Implement ที่ชิ้นส่วนซับซ้อนน้อยกว่าทั้งด้านการผลิตและการดูแลรักษา หากต้องเปลี่ยนก็ไม่ยุ่งยาก เมื่อเทียบกับฟันเฟืองที่เป็นซี่ล้ออย่าง Column Wheel แล้ว Cam Implement ดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่เหมาะกว่าสำหรับการผจญภัยในอวกาศ

อย่างไรก็ตาม บางแหล่งข้อมูลพูดถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ว่า Omega ละทิ้ง Cal.321 ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวความสำเร็จนั้น ไม่ใช่เพราะเรื่องความเหมาะสมใด ๆ แต่เป็นเพราะปี 1968 คือช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมนาฬิกากำลังจะถูกสั่นคลอนด้วยนาฬิกาควอทซ์ที่มาในปี 1969 ราคาที่ถูกกว่าหลายเท่าและการผลิตได้ทีละมากยิ่งทำให้ต้นทุนของนาฬิกาควอทซ์ถูกลง Omega จึงหาทางแก้ไขด้วยการเพิ่มจำนวนการผลิตและลดต้นทุนลง โดยนำรุ่น Speedmaster ที่ได้รับการยกย่องจากนานาประเทศ ในฐานะ Moonwatch เปลี่ยนมาใช้ Cal.861 ซึ่งเรื่องเหล่านี้ยังคงเป็นทีถกเถียงกันในหมู่ Omega Lover ทั้งหลาย

หลังจาก Cal.861 เข้ามาในปี 1969 ก็ถูกใช้เรื่อยมานานถึง 28 ปี นานกว่า Cal.321 เกือบ 3 เท่า จนในปี 1997 ถึงมีการพัฒนาเครื่องรุ่นอื่น ๆ อย่าง Cal.1861 และ Cal.1863 สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ การชุบด้วยโรเดียมเกรดสูงแทนทองแดง และเพิ่มเบรค Delrin ทำจากโพลีเมอร์พลาสติกเพื่อยืดอายุการใช้งาน ส่วน Cal.1863 คล้ายกับ Cal.1861 ด้านประสิทธิภาพการทำงาน คือมีความถี่ 21,600 vph แต่แค่เป็นเวอร์ชั่นที่หรูหรากว่าและใช้ในรุ่นที่เปิดฝาหลัง นอกจากนี้ในปี 2019 ทางแบรนด์ก็เปิดตัวเครื่องใหม่ ซึ่งก็คือ Cal.3861 เป็น Chronograph ที่มี Co-Axial Escapement ผ่านการรับรองจาก METAS (Federal Institute of Metrology) ทนต่อสนามแม่เหล็กถึง 15,000 gauss และไม่ว่าจะเคลือบทองหรือเคลือบโรเดียม ก็ยังคงมีคลื่นแนวตรงหรือที่เรียกว่า Geneva waves ทำให้ตัวเครื่องดูประณีตและงดงาม

จะเห็นว่านับตั้งแต่ปี 1968 เป็นต้นมา Cal.321 ต้นฉบับของ Omega Speedmaster ไม่หวนคืนมาอีกเลย แม้ว่าจะมีการผลิตรุ่นที่ฉลองวาระครบรอบภารกิจสู่อวกาสและดวงจันทร์หลายครั้งหลายคราแล้วก็ตาม

ก่อนการกลับมาของ Cal.321— CK2998 กับเครื่องรุ่นใหม่ที่ไม่ใช่รากเหง้า

1959: Omega Speedmaster CK2998, 2016: Ref. 311.33.40.30.02.001และ 2018: 311.32.40.30.02.001(ตามลำดับซ้าย-ขวา)

ตัวอย่างของการรำลึกถึงความสำเร็จของการไปดวงจันทร์และอวกาศแต่ไรวี่แววของ Cal.321 คือ Omega Speedmaster CK2998 Limited Edition ที่ออกมาในปี 2016 และ 2018 โดยใช้ Cal.1861 ที่พัฒนามาจาก Cal.861 แทน จริงอยู่ว่าการทำงานของกลไกนี้ทำงานได้อย่างดีไม่แพ้ Cal.321 แต่เหมือนกับว่าเครื่องต้นแบบของตระกูล Speedmaster จะไม่ย้อนกลับมาเสียที

ในปี 2016 ทางแบรนด์ได้เปิดตัว Omega Speedmaster CK2998 Limited Edition ได้แรงบันดาลใจมาจาก CK2998 ที่เริ่มผลิตในปี 1959 ซึ่งเป็น Omega Speedmaster รุ่นแรกที่ใส่ไปอวกาศ ผู้ที่สวมไปคือวอลเตอร์ ชิร์รา (Walter Schirra) ขณะปฏิบัติภารกิจ Sigma 7 ของโครงการ Mercury ในปี 1962

ส่วนที่ทั้งสองรุ่นคล้ายกันคือ ขาแบบ Straight Lugs ไม่มีตัวป้องกันเม็ดมะยม และไม่มีคำว่า Professional ทำจากสแตนเลสสตีลตามตัวต้นแบบ ส่วนเข็มใช้แบบ Alpha ที่เกือบจะคล้ายกันหมดทุกส่วน ยกเว้นตัวรุ่นใหม่มีเข็มวินาที Lollipop โลโก้แบรนด์ที่สั้นลง หน้าปัดย่อยและ Bezel รวมทั้งสายหนังจระเข้เป็นสีน้ำเงิน

ผ่านไป 2 ปี Omega ก็กลับมาทำ CK2998 อีกรอบในรุ่น 2018 Speedmaster CK2998 Limited Edition แต่ก็ยังไม่มีวี่แววของ Cal.321 ที่รุ่น CK2998 ตัวออริจินัลเคยใช้ พร้อมกับจำนวนการผลิตเท่าเมื่อ 2 ปีก่อน คือ 2,998 เรือน รูปร่างหน้าตาคล้ายเรือนของปี 2016 แต่เปลี่ยนเป็นสีดำและสายฉลุ เข็ม Alpha ไม่มี Lollipop ตามแบบรุ่นดั้งเดิม แต่เข็มวินาทีและคำว่า Speedmaster เป็นสีแดง ฝาหลังมีตรา Seahorse พร้อมเลขรุ่นตามเลขที่จำนวนจำกัด

และนอกจากนี้ โดยปกติแล้ว Speedmaster เป็นนาฬิกาสปอร์ตที่มีขนาด 42มม. เป็นไซส์มาตรฐาน แต่ CK2998 ทั้งสองรุ่นที่นำมาทำใหม่นั้นมีขนาดเท่ากันคือ 39.7มม. ใกล้เคียงตัวต้นแบบที่มีขนาด 39มม.

นี่คือตัวอย่างของการนำรุ่นในอดีตมาทำใหม่ แต่ไปไม่สุดทาง เพราะต่อให้เก็บรายละเอียดคล้ายรุ่นต้นแบบมากแค่ไหน สุดท้าย Cal.321 ต้นแบบของ Speedmaster ก็ยังไม่ถูกใช้อยู่ดี


Speedmaster Moonwatch 321 Platinum พร้อมการกลับมาของ Calibre321


1965: Omega Speedmaster ST 105.012 (ซ้าย) และ 2019: Speedmaster Moonwatch 311.93.42.30.99.001 (ขวา)

และแล้ว ในที่สุดหลังจากการหายไปของ Cal.321 ที่เลยครึ่งศตวรรษมาเล็กน้อย ในปี 2019 ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวาระครบรอบ 50 ปีที่ Apollo 11 ลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ ทาง Omega ได้ทำการเปิดตัว Speedmaster Moonwatch 321 Platinum Ref. 311.93.42.30.99.001 เพื่อระลึกถึงการไปดวงจันทร์อย่างแท้จริง เพราะ Cal.321 คือเครื่องที่ถูกใช้ในการไปดวงจันทร์อย่างเป็นทางการ โดยทางแบรนด์ได้นำ Cal.321 ที่อยู่ใน Omega Speedmaster ST 105.003 ตัวจริงของยูจีน ยีน เคอร์แนน (Eugene Gene Cernan) ซึ่งใส่ไปในภารกิจ Apollo 17 มาสแกนด้วยคลื่นความร้อน Tomography เพื่อสร้างภาพ 3 มิติทีละส่วน จนได้ส่วนประกอบทั้งหมด 245 ชิ้น การทำงานของนาฬิการุ่นนี้จึงเหมือนเดิม อย่างเช่นความถี่ 18,000 vph ความเที่ยงตรง -1/+7 วินาทีต่อวัน ยกเว้นพลังงานสำรองที่เพิ่มเป็น 55 ชั่วโมง


Omega Speedmaster New Caliber 321

ฐานเครื่องยังคงทำจากทองแดง แต่สิ่งที่ต่างไปจากเดิมคือวัสดุที่ใช้เคลือบ ไม่ใช่ทองแดงอย่างของเก่าแต่เป็น Sedna Gold 18K สูตรเฉพาะของ Omega เป็นโลหะผสม (Alloy) ที่เกิดจากการผสมระหว่างทองคำ ทองแดงและแพลเลเดียม ให้สีแดงที่เป็นเอกลักษณ์และทนทาน นอกจากนี้ ที่มาของชื่อ Sedna ยังมาจากชื่อดาวเคราะห์น้อยที่มีสีแดงที่สุดดวงหนึ่งในระบบสุริยะ สอดคล้องกับสีทีได้ พร้อมเปิดฝาหลังให้ได้ชม Cal.321 ชิ้นใหม่ด้วย

เมื่อได้เครื่องภายในแบบที่ใช้ไปดวงจันทร์แล้ว ต่อมาคือรูปลักษณ์ที่ต้องตรงกับรุ่นที่ใช้บนดวงจันทร์ครั้งแรกอย่าง ST 105.012 ที่บัซ อัลดรินเคยใส่ใน Apollo 11 สิ่งที่เหมือนกันระหว่างสองรุ่นนี้คือ การมีตัวป้องกันเม็ดมะยม (Crown Guard) และขาแบบ Lyre Lug หรือ Twisted Lug ซึ่งหมายถึงขาที่เชื่อมตัวเรือนกับสายเข้าด้วยกันจะตัดเฉียงลงมา และโค้งเล็กน้อย รวมถึงขนาดตัวเรือน 42มม. เท่ากับตัวต้นแบบ ส่วนหน้าปัดมีรายละเอียดคล้ายกับ ST 105.012 ตรง Step Dial และ เข็มแบบ Baton รวมถึงโลโก้ Omega ก็ใช้แบบวินเทจ ที่จะหนากว่าโลโก้แบบนาฬิการุ่นใหม่ ๆ

อย่างไรก็ตาม วัสดุตัวเรือนได้เปลี่ยนจากสแตนเลสสตีลมาใช้โลหะผสมแพลทตินัมกับ Yellow Gold (Pt950Au20) และใช้สายหนังสีดำ สิ่งสำคัญคือ หน้าปัดย่อยทั้ง 3 ตำแหน่งทำจากหินจากดวงจันทร์ของจริง เพื่อระลึกถึงความเชื่อมโยงระหว่าง Omega Speedmaster และภารกิจสู่ดวงจันทร์ หินชนิดนี้ต่างจาก Meteorite ของ Rolex ที่ใช้ Gibeon meteorite เป็นหินอุกกาบาตซึ่งไปตกอยู่ที่ทะเลทราย นามิเบียน (Namibian) ใกล้เมืองกิบเบียน (Gibeon) ประเทศนามิเบีย (Namibia) ในทวีปแอฟริกา

นอกจากนี้ ยังมีลักษณะอื่น ๆ ที่เพิ่มเข้ามาได้แก่ บนหน้าปัดต่างระดับ (Step Dial) จากโอนิกซ์ (Onyx) หรือแร่ควอทซ์สีดำตัดกับหลักขีดและเข็มทองคำขาว ส่วน Bezel ทำจากเซรามิกสีดำแทนการใช้อลูมีเนียม เพื่อสีที่คงทนและป้องกันรอยขีดข่วน

Omega Speedmaster Calibre 321 ‘Ed White’ Stainless Steel


1963: Omega Speedmaster ST 105.003 (ซ้าย) และ 2020: Omega Speedmaster 311.30.40.30.01.001 (ขวา)

ในปี 2020 นี้ Cal.321 ที่ทำใหม่และใช้กับ Omega Speedmaster 2019 ก็ถูกหยิบยกมาใช้อีกครั้ง ในรุ่น Omega Speedmaster Stainless Steel ref. 311.30.40.30.01.001 โดยครั้งนี้ทำเพื่อระลึกถึง ST 105.003 ที่ผ่านการทดสอบของ NASA แต่เพียงผู้เดียวเมื่อปี 1965 นาฬิการุ่นนี้ยังถูกเรียกอีกชื่อว่า “Ed White” เพราะเขาสวมใส่นาฬิการุ่นนี้ขณะปฏิบัติการภารกิจนอกยานอวกาศ หรือ Spacewalk ในฐานะนักบินอวกาศอเมริกันคนแรก ในภารกิจ Gemini 4 ปี 1965

แรงบันดาลใจจาก ST 105.003 ทำให้ Omega Speedmaster 321 Stainless Steel เรือนนี้มีหน้าตาคล้ายกับตัวต้นแบบ เริ่มจากตัวเรือนและสายเป็นสแตนเลสสตีล เชื่อมด้วยขาแบบ Straight Lugs ที่ตรงลงมา ไร้ตัวป้องกันเม็ดมะเย็ม (Crown Guard) ตรงตามตัวต้นแบบ ถัดมาเป็นรายละเอียดบริเวณหน้าปัด คือ หน้าปัดต่างระดับ (Step Dial) และโลโก้ ‘OMEGA’ แบบวินเทจกลับมาเหมือน ST 105.003 จะสังเกตุว่าโลโก้แบรนด์จะหนาขึ้นหากเทียบกับ Speedmaster รุ่นใหม่ที่ออกมาในปัจจุบัน เข็มยังคงใช้แบบ Baton นอกจากนี้ บนหน้าปัดก็ไม่มีคำว่า “Professional” อีกด้วย เพราะคำ ๆ นี้เพิ่งมาเริ่มใส่ในรุ่น ST 105.012 ที่บัซ อัลดริน และนีล อาร์มสตรองพกไปดวงจันทร์ เรียกว่าเป็นการถอดแบบรูปลักษณ์ตัวต้นแบบมาเลยทีเดียว

สิ่งที่ต่างออกไปเพื่อคุณสมบัติที่ดีขึ้นก็มีอยู่บางประการ ได้แก่ Bezel สีดำที่ไม่ได้ทำจากอลูมิเนียมอย่างตัวเก่า แต่เปลี่ยนเป็นเซรามิก ZrO2 หรือ Zirconium dioxide เป็นคริสตัลออกไซด์ชนิดหนึ่ง มีคุณสมบัติคล้ายเพชรที่แข็งแรงทนทาน ทำให้ Bezel สีไม่จางหายและป้องกันรอยขีดข่วน รวมถึงใช้อีนาเมล (Enamel) สีขาวบอกมาตรวัดความเร็วบน Tachymeter นอกจากนี้ยังเปลี่ยนวัสดุที่ใช้ทำกระจก โดย ST 105.003 ใช้กระจก Hesalite (เฮซาไลท์) ซึ่งเป็นชื่อเรียกที่ Omega ตั้งขึ้นเอง หมายถึงกระจกที่ทำจาก Polymethyl Methacrylate ซึ่งง่ายต่อการเกิดรอยขีดข่วน ดังนั้น Omega Speedmaster 321 รุ่นใหม่จึงใช้กระจกแซฟไฟร์ที่ป้องกันเรื่องรอยได้ดีขึ้น

เรื่องขนาดก็ต่างกันเล็กน้อย เพราะ ST 105.003 มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 40มม. ส่วน Omega Speedmaster เรือนใหม่ล่าสุดมีขนาด 39.7 มม. และมีการเปิดฝาหลังเพื่อโชว์การทำงานของ Cal.321 ชิ้นใหม่อีกด้วย

แม้ว่านาฬิการุ่นนี้ไม่ได้ผลิตจำนวนจำกัด แต่ก็ใช่ว่ากำลังผลิตจะมาก เพราะเครื่องและนาฬิกาแต่ละเรือนถูกประกอบโดยช่างนาฬิกาเพียงคนเดียวตลอดกระบวนการ นอกจากนี้ยังมีราคาสูงกว่าเรือนอื่นที่ทำจากสตีลอยู่พอสมควร ($14,100 หรือประมาณ 440,000 บาท) ซึ่งที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะถูกสร้างมาเพื่อระลึกถึงรุ่นที่ผ่านการทดสอบจาก NASA และสามารถเก็บรายละเอียดแทบจะทุกส่วนของรุ่นต้นแบบได้นั่นเอง

-----------

นี่คือเรื่องราวของ Omega Speedmaster ที่เริ่มต้นด้วย Cal.321 และหวนคืนสู่เครื่องเดิมหลังจากผ่านเวลามากว่า 50 ปี โดยดึงลักษณะเฉพาะของรุ่นต่าง ๆ มาเป็นต้นแบบ เพื่อบอกเล่าความสำเร็จในอดีตที่มีส่วนร่วมกับการเดินทางไปอวกาศและดวงจันทร์ พร้อมทั้งพัฒนากลไกที่มีอยู่เดิมให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ส่วนเรื่องการหายเข้ากลีบเมฆไป 50 ปี คงต้องขบคิดกันต่อเองว่าทำไม Omega ถึงทำเช่นนี้ อย่างไรก็ดี ถึงจะมาช้าไปมาก แต่ก็ดีกว่าไม่กลับมาอีกเลย เพราะต้องยอมรับว่า Cal.321 ให้ความรู้สึกถึงการเป็น Moonwatch อย่างแท้จริง

อ้างอิง

https://watchilove.com/introducing-the-master-chronometer-calibre-3861-the-driving-force-behind-omegas-apollo-11-tributes-and-a-movement-with-its-own-lunar-legacy

Featured Posts
Recent Posts
bottom of page