Omega Speedmaster Professional: Co‑Axial Master Chronometer 3861: ก้าวขั้นต่อไปของ Professional
Omega Speedmaster Moonwatch ได้รับการเล่าขานและดำรงตำแหน่งที่ไม่มีใครลบล้างได้ในฐานะนาฬิกาเรือนแรกที่ NASA คัดเลือกให้เป็นอุปกรณ์ประจำกายนักบินอวกาศในการผจญภัยอวกาศและพิชิตดวงจันทร์ครั้งแรกในโลกเมื่อปี ค.ศ.1969 วันเวลาผ่านมาแล้วกว่า 50 ปีทำให้การบอกเล่าเรื่องราวในฐานะ Omega Speedmaster Moonwatch คงใช้ไม่ได้ตลอดไป ในปี 2021 นี้ Omega Speedmaster Moonwatch ก็กลับมาอีกครั้งแม้จะรูปลักษณ์คล้ายเรือนต้นแบบแต่มีการยกระดับให้เป็น Master Chronometer และใช้ Cal.3861 ที่สืบทอดมาจาก Cal.861 ที่มาของเครื่องคาร์ลิเบอร์นี้ หลายคนยังไม่ทราบถึงความสำคัญและเส้นทางที่มาที่ไปของเครื่องนี้มาก่อน บทความนี้จะพาทุกท่านพบกับ Omega Speedmaster Moonwatch รุ่นใหม่ที่ใช้หัวใจใหม่รหัส 3861 และไขข้อสงสัยว่าเหตุใด Omega จึงเลือกต่อยอดเครื่องตระกูล Cal.X861 มากกว่า Cal.321 เครื่องต้นฉบับ
หวนคืนอดีตกับคุณภาพที่ดีกว่าด้วย Master Chronometer
Omega Speedmaster Professional - Moonwatch รุ่นใหม่ล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวหลังก้าวเข้าสู่ปี 2021 ได้ไม่กี่วัน ออกมาถึง 8 รุ่น โดยได้รับแรงบันดาลใจจาก Omega Speedmaster Professional ref.ST 105.012 ที่ติดตัวนักบินอวกาศ Apollo 11 ไปพิชิตดวงจันทร์ได้เป็นครั้งแรก ในปี 1969 ความสำเร็จในครั้งนั้นทำให้ Omega คอยหยิบยกดีไซน์รุ่นในตำนานนี้ออกมาทำใหม่หลายครั้งหลายครา และล่าสุดแม้จะไม่ได้มีสิ่งใดเปลี่ยนไปมากจนเห็นได้ชัด แต่นี่คือ Omega Speedmaster Professional ที่เหนือกว่าทุกเรือนที่เคยมีมาด้วยการปรับปรุงให้เป็น Master Chronometer เพิ่มความมั่นใจในคุณภาพและเป็นความเลิศอีกระดับ
Master Chronometerคือเกณฑ์การรับรองคุณภาพขั้นสูงสุดของ Omega แต่เพียงผู้เดียว มาในรูปแบบของการ์ดสีแดงระบุว่านาฬิการุ่นนั้น ๆ ได้รับการทดสอบและผ่านเกณฑ์ Master Chronometer ซึ่งมาตรฐานนี้ Omega เริ่มนำมาใช้ตั้งแต่ปี 2015 รุ่นแรกที่ได้รับการรับรองไม่ใช่ Speedmaster Moonwatch แต่เป็นคอลเลคชั่น Globemaster
หลักการง่าย ๆ ของ Master Chronometer คือ นาฬิกาเรือนนั้น ๆ จะต้องผ่านการทดสอบจากสถาบัน COSC (Official Swiss Chronometer Testing Institute) ก่อน จากนั้นจะต้องนำไปทดสอบเพิ่มอีก 8 ด่านของสถาบันมาตรวิทยา หรือ METAS (Swiss Federal Institute of Metrology) เป็นเวลา 10 วัน คุณสมบัติสำคัญที่ Master Chronometer เน้นมากคือ การทนทานต่อสนามแม่เหล็ก ซึ่งนาฬิกาจะต้องทนได้ไม่ต่ำกว่า 15,000 Gauss หมายความว่าสนามแม่เหล็กที่เราพบเจอกันปกติในชีวิตประจำวันจะทำอะไรนาฬิกากลุ่ม Master Chronometer ไม่ได้เลย เรื่องความเที่ยงตรงก็จะต้องอยู่ในเกณฑ์ไม่เกิน 0/+5 วินาทีต่อวัน แต่จะวัดเมื่อเครื่องประกอบลง Case เรียบร้อยแล้วเท่านั้น นอกจากนั้นก็มีทดสอบการกันน้ำ และมาตราฐานพลังงานสำรองไม่ต่ำกว่า 50 ชั่วโมง เป็นต้น
แต่การที่ The New Omega Speedmaster Professional จะได้ผ่านแบบทดสอบและได้รับการรับรองถึงสองสถาบันไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะทาง Omega ต้องใช้เวลากว่า 4 ปีเพื่อพัฒนา Cal.3861 ให้สามารถทำงานได้ตามเกณฑ์ Master Chronometer และต้องมีขนาดเครื่องเท่ากับ Cal.1861 ที่ขับเคลื่อน Moonwatch รุ่นก่อน ๆ ถึงจะเป็นกลไกไขลานด้วยมือตามแบบต้นตำรับ Moonwatch Professional แต่เครื่อง Cal.3861 ได้นำเอาจักรกลอกแบบ Co-Axial Escapement ผลงานจากปรามาจารย์ ดร.จอร์จ เดเนียล (George Daniels) ผู้ล่วงลับ นำมาบรรจุใน The New Omega Speedmaster Professional และแน่นอน กลไก Co-Axial อันเลื่องชื่อของนี้ได้ Omega นำเข้าสู่ยุคใหม่อย่างแท้จริง
ระบบเฟืองขับของนาฬิกาทั่วไปจะประกอบด้วย Escape Wheel ทีมีเฟืองวางเอียงอยู่ 20 ซี่ และ Pallet Fork ที่มีฟันติดปลายทับทิมอยู่ 2 ซี่ ทำหน้าที่ ขบ-ปล่อย เฟือง Escape Wheel ให้ค่อย ๆ หมุนไปทีละจังหวะ แรงเสียดทานที่เกิดจากการ ขบ-ปล่อย ในระบบนี้มากเกือบ 5 แสนครั้งต่อวัน ย่อมนำมาซึ่งการสึกหรอและจำเป็นจะต้องใช้น้ำมันพิเศษช่วยในการหล่อลื่น แต่กลไก Co-Axial มีการเพิ่มเฟืองสองชั้นเข้ามาคั่นกลางระหว่าง Escape Wheel กับ Pallet Fork และเพิ่มฟันที่ Pallet Fork เป็น 3 ซี่ (ตามรูป B) ลดระยะในการกระแทก และกระจายความสึกหรอไปได้อีกทอดหนึ่ง จึงทำให้ยืดอายุการทำงานของระบบ Escapement โดยรวมได้มากถึง 30% Omega Co-Axial จึงมักเคลมว่าไม่ต้องบำรุงรักษาได้นานถึง 10 ปี
นอกจากนี้ Cal.3861 ยังมีการเพิ่มระบบ Hacking เข็มวินาที กล่าวคือ เมื่อดึงเม็ดมะยมออก เข็มวินาทีจะหยุดเดินเพื่อให้การตั้งเวลาได้อย่างแม่นยำ ซึ่งจริง ๆ แล้วนี่เป็นฟังก์ชั่นพื้นฐานที่แบรนด์อื่นใช้กันทั่วไป แต่ Omega Moonwatch เพิ่งมามีตอนปี 2021 ก็นับว่าเป็นเรื่องใหม่และเป็นผลดีกับผู้ใช้งาน
เครื่อง Cal.3861 ไม่ใช่เครื่องรุ่นใหม่เอี่ยมเพราะ Omega นำมาใช้ครั้งแรกกับรุ่น Speedmaster Apollo 11 50th Anniversary ตั้งแต่ปี 2019 และถูกใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะไม่นานนักแต่สามารถมองได้ว่า Cal.3861 คือพัฒนาการขั้นต่อไปของ Speedmaster มากกว่าการย้อนกลับหลังสู่รากฐานอย่าง Cal.321 First Watch worn on the Moon ที่เป็นระดับตำนานแห่งการพิชิตดวงจันทร์ และเครื่อง Caliber 3861 จะกลายเป็นรากฐานสำคัญให้กับ Speedmaster รุ่นต่อ ๆ ไป
ทำไม Omega เลือกที่จะต่อยอดคาลิเบอร์ตระกูล Cal.X861 แทน Cal.321 เครื่องระดับตำนานที่พิชิตดวงจันทร์
คำกล่าวอ้างที่ Omega มักพูดอยู่เสมอว่า Omega Speedmaster คือนาฬิกาเพียงรุ่นเดียวที่ NASA รับรองให้เป็นนาฬิกาสำหรับใช้ในภารกิจสำรวจอวกาศ ซึ่งนาฬิกาที่ NASA ใช้ทดสอบคือOmega Speedmaster ST 105.003 ขับเคลื่อนด้วยกลไกของ Lemania ที่ Omega นำมาปรับและใช้ชื่อ Caliber 321 และยังใช้ในรุ่น Omega Speedmaster ST 105.012 ที่บัซ อัลดริน (Buzz Aldrin) ใส่ขณะก้าวเหยียบดวงจันทร์ต่อจาก นีล อาร์มสตรอง ในภารกิจ Apollo 11 (นีล อาร์มสตรองไม่ได้ใส่นาฬิกาประจำตัวลงเนื่องจากทิ้งไว้บนยาน Lunar Module) นาฬิกาเรือนนี้ถูกบันทึกไว้ในเอกสารของ NASA ว่า Cal.321 คือเครื่องที่ NASA นำไปทดสอบ และผ่านตามข้อกำหนดทุกประการ จึงถูกรับรองให้ใช้ในภารกิจพิชิตอวกาศอย่างเป็นทางการ แถมเป็น First Watch Worn on the Moon ที่แท้จริงอีกด้วย
แต่การที่ Omega ตัดสินใจเปลี่ยนเครื่อง Speedmaster Moonwatch ให้เป็น Cal.861 ในปี 1968 สร้างความสับสนว่าเหตุใดแบรนด์ถึงทำแบบนั้น คำตอบยังไม่เคยถูกชี้แจงอย่างเป็นทางการว่าเพราะเหตุใด แต่ที่แน่ ๆ ความต่างระหว่าง Cal.321 กับ Cal.861 นั่นคือการใช้กลไก Column Wheel ใน 321 ถูกเปลี่ยนเป็นระบบกระเดื่องลูกเบี้ยว หรือ Cam Implement แทน แต่ถ้าคุณแคลงใจว่า ถ้าอย่างนั้น Caliber 861 ก็ไม่ได้รับการรับรองจาก NASA หรืออย่างไร.. แท้จริงแล้ว NASA ได้รับรอง Cal.861 ให้ใช้ในอวกาศเช่นกัน แต่ทิ้งช่วงเวลาอีกเกือบ 10 ปีต่อมาหลังจาก Caliber 321
การรับรอง Caliber 861 เริ่มขึ้นในปี 1978 เป็นช่วงเวลาที่ NASA เตรียมการเพื่อโครงการ Space Shuttle ที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อจากโครงการ Apollo ทำให้ทางองค์กรต้องทดสอบอุปกรณ์ต่าง ๆ ใหม่ทั้งหมดรวมถึงนาฬิกาที่นักบินอวกาศจะนำไปใช้ด้วย Omega ในตอนนั้นได้ส่งนาฬิกาไปทั้งหมด 3 รุ่นได้แก่ Speedmaster Professional ref.ST 145.022, Speedsonic ref.ST188.0002 และเครื่องต้นแบบ Speedmaster automatic “ALASKA III” ref.11003 ทั้ง 3 รุ่นผ่านการทดสอบทั้งหมด แต่รุ่นที่ถูกเลือกให้นำไปใช้ในอวกาศมีเพียงหนึ่งเดียวคือ Speedmaster Professional ref.ST 145.022 ซึ่งใช้ Cal.861 ดังนั้นจึงหมายความว่าเครื่องที่ NASA รับรองให้ใช้กับภารกิจสู่อวกาศคือ Cal.321 และ Cal.861 นั่นเอง
และเมื่อ Omega หยุดการผลิต Cal.321 ไปถึง 50 ปี ทางแบรนด์ก็มุ่งพัฒนาเครื่องตระกูล x86x นี้อย่างต่อเนื่องกลายเป็น Cal.1861 และเครื่องต่อยอดไป Caliber อื่น ๆ อีกมากมาย แต่ก็ยังคงพยายามรักษาความดั่งเดิมจากต้นฉบับเครื่องที่ได้ต้นแบบจากบริษัท Lemania ไว้อย่างเหนี่ยวแน่น จนเดินทางมาถึง Cal.3861 เครื่องรุ่นล่าสุดที่มาในปี 2019 และเป็นเครื่องที่ Omega Speedmaster Professional / Master Chronometer รุ่นใหม่ล่าสุดใช้ แม้ว่ารุ่นที่ถูกพัฒนามาภายหลังจะไม่ได้มีการรับรองจาก NASA แต่ทาง Omega คงทราบดีว่า เมื่อประวัติศาสตร์ผ่านไปแล้วถึง 50 ปี ก็อาจจะถึงเวลาต้องปรับตัว เนื่องจากนาฬิกาสมัยใหม่ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเข้ามาใช้เพื่อความเที่ยงตรงมากมาย Omega ก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีเทคโนโลยี่อยู่ในมือมากมาย ไม่ว่าจะเป็น จักรกลอกและซิลิกอนสปริง รวมถึงเป็นเจ้าของเครื่อง Co-Axial แต่เพียงผู้เดียว การยืนหยัดรักษาความเป็นอนุรักษ์นิยมดูเหมือนว่าจะถูกส่งต่อให้เป็นหน้าที่ของ Omega Speedmaster Professional รุ่น Ed White Reborn เครื่อง Caliber 321 ไปแล้วเนื่องจากนี่คือนาฬิกาเรือนแรกที่คู่ควรกับคำว่า Moon Watch อย่างแท้จริง Omega จึงอาจจะต้องเริ่มปรับภาพลักษณ์ Speedmaster Professional ใหม่กับเครื่อง Caliber 3861 ให้มีความทันสมัยไปพร้อมกับเวลาที่เปลี่ยนไป
Omega Speedmaster Moonwatch Master Chronometer Cal. 3861 ทั้ง 8 รุ่น
Omega ยกทัพ Speedmaster Moonwatch ต้อนรับปีใหม่ถึง 4 รุ่นหลัก แต่ละรุ่นมีสายให้เลือก 2 แบบ และใช้เครื่อง Caliber 3861 ทั้งหมด ตัวเรือนขนาด 42มม. หน้าปัดแบบคลาสสิกสีดำ ที่มี 3 หน้าปัดย่อยต่างระดับ แสดงวินาที หน้าปัดจับเวลา 30 นาทีและ 12 ชั่วโมง ให้ความรู้สึกวินเทจตามแบบฉบับดีไซน์ต้นตำรับ Omega Speedmaster Professional พร้อมขอบ Tachymeter สีเดียวกันที่ย้อนกลับไปใช้แบบอะลูมิเนียมชุบอโนไดซ์ (หรือบ้านเราเรียกขอบฟิลม์) แม้ว่ารุ่น Ed White เครื่อง Cal.321 ที่เพิ่งเปิดตัวก่อนไม่นานได้เปลี่ยนมาใช้ขอบเซรามิกแล้วก็ตาม สัญลักษณ์ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ‘Dot Over 90’ หรือจุดเหนือเลข 90 ตรงขอบ เรียกสั้น ๆ ว่า DON เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงต้นกำเนิดตำนานเพราะเป็นขอบแบบเดียวที่ Speedmaster ต้องมีในรุ่นก่อนไปดวงจันทร์ (สังเกตมี 3 ตำแหน่งได้แก่คำว่า Tachyméter จะมีขีดอยู่บนตัว e / มีจุดอยู่ข้างเลข 70 / จุดเหนือเลข 90)
ตรา Seahorse กับ Quote ที่ฝาหลังใหม่ชวนให้คิด - ในรุ่นเฮซาไลท์
เริ่มต้นด้วยรุ่นแรกทำจากสแตนเลสสตีลทั้งตัวเรือนและสายขัดซาติน ซึ่งแบบสายโลหะใหม่ของ Speedmaster รุ่นใหม่นี้เป็นแบบ ‘five–arched-links-per-row’ หรือสายแบบ 5 ชิ้นทรงโค้ง เป็นสายที่ถูกใช้ครั้งแรกในรุ่น Apollo 11 50th Anniversary Moonshine ™ Gold Limited Edition ส่วนรุ่นที่ใช้กระจกเฮซาไลท์ (Hesalite) ฝาหลังจะปิดและประทับตรา Seahorse เปลี่ยนคำสลักจากเดิมที่มักจะเขียนว่า “Flight Qualified by NASA for All Manned Space Missions” แต่ในรุ่นใหม่ล่าสุดที่มีฝาหลังจะสลักว่า “Flight Qualified by NASA in 1965 for All Manned Space Missions” นัยสำคัญของปี 1965 คือปีที่ NASA รับรอง Omega Speedmaster แต่ตอนนั้นยังใช้ Cal.321 อยู่ และถึงแม้ตอนนี้จะเปลี่ยนมาใช้เครื่องตระกูล Cal.861 กลางทาง แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้น สิ่งที่ NASA รับรองคือรุ่นไม่ใช่เครื่องของนาฬิกา
รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ อีกอย่างคือโลโก้ Omega หากเป็นรุ่นที่ใช้กระจกเฮซาไลท์ โลโก้จะเป็นแบบสกรีนลงแผ่นหน้าปัดด้วยสีเดียวกับตัวหนังสือทั้งหน้าปัด แต่หากเป็นรุ่นที่ใช้กระจกแซฟไฟร์โลโก้จะเป็นชิ้นโลหะและถูกนำมาติด
ภายหลังจึงมีมิติมากขึ้น นอกจากนี้ เพราะ Cal.3861 มีความถี่ 3Hz ช่องไฟระหว่างหลักขีดวินาทีก็ถูกออกมาใหม่เช่นกัน ในรุ่นเก่าจะมี 5 ช่องแต่ในรุ่นใหม่นี้มี 3 ช่อง
ส่วน Ref. 310.32.42.50.01.001 จะมีรายละเอียดเหมือนกันเพียงแค่ใช้สายไนลอน ราคาอยู่ที่ 206,000 บาท ขณะที่รุ่นสตีลราคา 218,000 บาท
เผยจักรกลด้านหลังกับรุ่นแซฟไฟร์
แม้ว่าจะหน้าตาคล้ายกับเรือนด้านบนแต่รุ่นนี้ใช้กระจกแซฟไฟร์ทั้งหน้าและหลัง สายสตีลขัดซาตินสลับกับขัดเงา ด้านหลังเปิดให้เห็นจักรกลภายใน ราคาสายสตีลอยู่ที่ 248,000 บาท ส่วนสายหนังจระเข้สีดำราคา 237,000 บาท
Speedmaster Moonwatch กับตัวเรือนทองคำสูตรเฉพาะของ Omega
เพิ่มความหรูหราให้กับ Speedmaster Moonwatch ด้วยรุ่นที่ทำจากทองคำ 18K ทั้ง Sedna Gold และ Canopus Gold ทองคำชนิดพิเศษจากส่วนผสมเฉพาะของ Omega ซึ่งหลักเวลาก็เปลี่ยนมาใช้ทองคำชนิดเดียวกับตัวเรือน สำหรับรุ่น Sedna Gold เป็นโลหะผสม Pink Gold ทำให้ตัวเรือนมีสีไปทางโทนแดงตามชื่อ Sedna ที่เป็นชื่อของดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งที่มีสีแดงที่สุดในระยบสุริยะ มีให้เลือก 2 สายคือสายทองคำ Sedna และสายหนังจระเข้ ราคาอยู่ที่ 1,209,000 – 856,000บาท ตามลำดับ
รุ่นสุดท้ายของคอลเลคชั่นนี้คือ Canopus Gold เป็นโลหะผสม White Gold โดยคาดว่าจะใช้ทองคำ 75% และแพลตินั่มในส่วนผสมที่เหลือ และต่างจากรุ่นเรือนที่มีมาเพราะมีหน้าปัดสีเงินซันเรย์ ขอบยังคงเป็นสีดำ ใช้กระจกแซฟไฟร์ทั้งด้านหน้าและเปิดหลังโชว์เครื่อง ยิ่งไปกว่านั้น ราคาของรุ่น Canopus Gold ยังสูงที่สุดในคอลเลคชั่น โดยสายรุ่นสาย White Gold มีราคา 1,573,000 บาท ส่วนสายหนังราคา 1,055,000 บาท และพิเศษยิ่งกว่าที่ทั้งสองรุ่นทองคำ Sedna Gold และ Canopus Gold มีจำหน่ายเฉพาะที่ Omega Boutique เท่านั้น
----------------------
และนี่คือทั้งหมดของ Omega Speedmaster Professional Co‑Axial Master Chronometer รุ่นใหม่ล่าสุดที่ยังคงเอกลักษณ์ดีไซน์ของตัวเรือนต้นฉบับที่ถูกใส่ไปทำภารกิจบนดวงจันทร์ อย่างไรก็ตามการกลับมาครั้งนี้ได้รับการพัฒนาให้เป็นระดับ Master Chronometer และการใช้ Cal.3861 ซึ่งอาจจะเป็นการบอกกลาย ๆ ว่านี่คือหนทางแห่งอนาคตที่ดีกว่าและแสดงถึงการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่งของ Omega
อ้างอิง
https://www.hodinkee.com/articles/the-omega-speedmaster-professional-moonwatch-master-chronometer-with-co-axial-caliber-3861
Comments