top of page

Horology Templinio: มาดามมารี คูรี กับต้นกำเนิดของพรายน้ำ


เจมส์ บอนด์ ภาค Dr. No ในฉากทดลองเครื่องไกเกอร์เคาน์เตอร์วัดกัมมันตภาพรังสี

“หน้าปัดเรืองแสงทำให้มันดังน่ะ” เจมส์ บอนด์กล่าวหลังจากใช้เครื่องไกเกอร์เคาน์เตอร์ (Geiger Counter) สแกนนาฬิกา Rolex ของเขา ประโยคนี้อาจทำให้ผู้ชมข้องใจว่าเกี่ยวอะไรกับสารเรืองแสง แล้วการทำแบบนี้มันบอกอะไร

นี่เป็นฉากเพียงไม่กี่วินาทีจากภาพยนตร์สายลับอมตะ James Bond ภาค Dr. No โดยบอนด์ตั้งใจว่าจะเอาเครื่องไกเกอร์เคาน์เตอร์ซึ่งเอาไว้ตรวจวัดปริมาณกัมมันตภาพรังสีไปตรวจเกาะ Crab Key ฐานลับของ Dr. No แต่เหตุผลที่ต้องเอาไปสแกนกับนาฬิกาก่อน ก็เพราะสารเรืองแสงบนหน้าปัดนาฬิกาก็ปล่อยกัมมันตภาพรังสีเหมือนกันน่ะสิ ซึ่งที่มาของสารชนิดนี้เริ่มต้นมาจากนักวิทยาศาสตร์หญิงใจบุญนามว่า มารี คูรี (Marie Curie)



มารี คูรี ผู้อุทิศชีวิตให้กับธาตุเรเดียม


มารี คูรี และ ปิแอร์ คูรี สามีของเธอ

ย้อนไปเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 (1914 - 1918) หลายแนวคิดทฤษฎีเกิดขึ้นมาเพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้าม โดยเหล่านักคิดและนักวิทยาศาสตร์พยายามค้นหาวิธีสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์ให้มีอนุภาพร้ายแรงและทำลายล้างให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่แนวคิดนี้ใช้ไม่ได้กับมารี คูรี

เธอเกิดเมื่อปี 1867 ณ กรุงวอร์ซอร์ (Warsaw) ประเทศโปแลนด์ เธอเป็นลูกคนสุดท้องจากพี่น้อง 5 คน พ่อแม่เป็นครูและฐานะครอบครัวก็เป็นแค่ชนชั้นกลางค่อนไปทางลำบาก แม้ว่าเธอเป็นหัวกะทิด้านวิทยาศาสตร์ แต่มหาวิทยาลัยวอร์ซอร์เปิดรับแค่ผู้ชายเท่านั้น เธอจึงหาทางไปเรียนต่างประเทศ ดินแดนที่ไม่กีดกันการศึกษาเพียงเพราะเธอเป็นผู้หญิง

ในที่สุดเธอก็ได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ (Sorbonne University) ประเทศฝรั่งเศส ในปี 1891 เธอจบปริญญาโทสาขาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ หลังจากนั้น เธอแต่งงานกับนักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศส ปิแอร์ คูรี (Pierre Curie) ทั้งสองมีความสนใจในทางเดียวกัน ซึ่งในช่วงแรกมารีและปิแอร์ทำงานวิจัยคนละโปรเจค แต่เมื่อมารีค้นพบกัมมันตรังสี โดยได้มาจากแร่พิตช์เบลนด์ (Pitchblende) ที่เป็นออกไซต์ชนิดหนึ่งสามารถแผ่กระจายรังสีได้ ปิแอร์จึงเข้ามาช่วย

ความสำเร็จของทั้งคู่เกิดขึ้นปี 1902 เพราะพวกเขาสามารถสกัดแร่เรเดียมให้บริสุทธิ์ได้ เรียกว่า เรเดียมคลอไรด์ มีคุณสมบัติให้แสงสว่างและความร้อน เมื่อแผ่รังสีไปถูกวัตถุอื่น วัตถุนั้นจะเปลี่ยนสภาพเป็นธาตุกัมมันตรังสีได้เช่นกัน

แม้ชีวิตของปิแอร์จะจบลงเพราะอุบัติเหตุรถม้าในปี 1904 มารียังคงสานต่อและอุทิศตนให้กับการค้นคว้าธาตุเรเดียมที่มีความเข้มข้นของกัมมันตภาพรังสีสูงและเป็นอันตรายมาก เธอเลือกที่จะใช้แต่ด้านดีของเรเดียมช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ โดยใช้รังสีของมันยับยั้งการขยายตัวของเซลล์มะเร็ง หนำซ้ำเธอยังไม่จดสิทธิบัตร เพื่อให้คนนำความรู้ของเธอไปใช้ช่วยเหลือผู้อื่นได้

และแล้ว รังสีของธาตุเรเดียมก็ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเธอเอง เธอเสียชีวิตด้วยวัย 66 ปี ในปี 1934 ก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่นานนัก เพราะไขกระดูกถูกทำลายและเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว อย่างไรก็ตาม มารี คูรีนับเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รางวัลโนเบลและยังเป็นคนแรกที่ได้โนเบลทั้ง 2 จากสาขาวิทยาศาสตร์

ธาตุเรเดียมสู่สารเรืองแสงบนหน้าปัดนาฬิกา


การทาสีเรเดียมบนหน้าปัดนาฬิกา หน้าปัดนาฬิกาเรืองแสงในที่มืด

ประโยชน์จากผลงานการค้นพบธาตุเรเดียมของมารีไม่ได้ถูกใช้แค่ในทางการแพทย์ ด้วยคุณสมบัติที่ตอบโจทย์กับการให้ความสว่างแก่หน้าปัดนาฬิกายามค่ำคืน การทาเรเดียมลงหน้าปัดนาฬิกาจึงเริ่มเมื่อปี 1908 หลังความสำเร็จของมารีในการแยกเรเดียมบริสุทธิ์เพียง 6 ปี

วิธีการคือ ทาสีเรเดียมลงไปบนหลักเวลาและเข็ม แต่สารเรเดียมเพียงตัวเดียวจะเรืองแสงได้น้อย ดังนั้นจึงต้องผสมกับสารเรืองแสงอย่างซิงค์ ซัลไฟด์ (Zinc Sulfide) แล้วจึงจะรวมกับโลหะชนิดอื่น เพื่อให้ได้สีที่แตกต่างกันไป แล้วแต่ว่าแต่ละแบรนด์จะพึงพอใจกับสีไหน

Panerai ผู้ผลิตนาฬิกาหน้าปัดเรืองแสง

การใช้เรเดียมเป็นสารเรืองแสงตรงกับทศวรรษแห่งสงครามคือช่วง 1900s ที่ทั้งสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 เกิดในช่วงเวลานี้ ทำให้วิทยาการด้านสงครามพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และ Panerai เองก็มีช่วงรุ่งเรืองจากยุคสงครามเช่นกัน

Panerai มีต้นกำเนิดอยู่ที่ประเทศอิตาลี (ปัจจุบันย้ายการผลิตมาที่เนอชาแตล สวิสเซอร์แลนด์) โดยช่างนาฬิกานามว่า จิโอวานนี่ พาเนอราย (Giovanni Panerai) เปิดร้านทำนาฬิกาเล็ก ๆ และรับสอนซ่อมนาฬิกาที่เมืองฟลอเรนซ์ (Florence) ในปี 1860 จนเมื่อเข้าช่วง 1900s บริษัทก็เริ่มทำนาฬิกาให้กับกองทัพอิตาลี

ร้านนาฬิกา Panerai ร้านแรกที่อิตาลี ตัวต้นแบบของ Panerai Radiomir ปี 1936

ความต้องการนาฬิกาในกองทัพสูงขึ้นอย่างมากเพราะเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้แต่ละแบรนด์ต้องแข่งกันพัฒนานาฬิกา ในปี 1936 หรือกองทัพเรืออิตาลี (Regia Marina) เฟ้นหานาฬิกาที่สามารถมองเห็นหน้าปัดได้แม้อยู่ใต้น้ำ โจทย์ที่ได้มายากเกินกว่า Panerai จะทำได้ด้วยตนเอง จึงหันไปพึ่งนาฬิกาสวิสที่ขึ้นชื่อเรื่องกันน้ำอย่าง Rolex ด้วยเหตุนี้นาฬิกา Panerai Ref. 2533 รุ่นแรกก็คือ Rolex รุ่นหน้าปัดทรงหมอนหูกระทะ ซึ่งยกมาจาก Rolex ทั้งตัว

แต่การนำนาฬิกา Rolex มาติดยี่ห้อ Panerai ก็คงดูไม่ดีเท่าไหร่นัก เพราะหากทำเช่นนั้นมีหวังกองทัพคงไปซื้อจาก Rolex โดยตรง Panerai จึงเปลี่ยนหน้าปัดเครื่อง Rolex แล้วนำสารเรเดียมมาใช้ เพื่อตอบโจทย์ความสามารถในการมองเห็นตัวเลขที่ชัดเจนในที่มืด สิ่งที่ได้คือหน้าปัดเรืองแสงแบบ ‘แซนวิช’ วิธีการก็ง่าย ๆ โดยการนำหน้าปัดชั้นแรก ทาสารเรเดียมเรืองแสงไว้แบบหยาบ ๆ แล้วปิดทับด้วยหน้าปัดชั้นบนที่เจาะตัวเลขไว้อีกที ทำให้ Panerai อ้างได้ว่าตนเป็นผู้คิดค้นหลักเวลาเรืองแสงบนหน้าปัด (เหตุเพราะ คุณมารี คูรี ไม่เคยจดสิทธิบัตรการค้นพบธาตุเรเดียมนี้เลย)

ในปี 1916 Panerai จดสิทธิบัตรผงเรเดียมที่ทำให้หน้าปัดเรืองแสง เรียกว่า Radiomir (ราดิโอมีร์) แปลว่า “สิ่งที่มองเห็นด้วยเรเดียม” ในภาษาอิตาลี ซึ่งก็อาจจะเป็นการ ‘สมอ้างในต่างแดน’ อยู่นิดนึง แต่อย่างน้อย Panerai ก็ได้อุทิศชื่อนาฬิการุ่นนี้ว่า Radiomir เช่นกัน


Rolex ตัวเรือน Oyster ref. 2533 ที่ส่งไปให้ Panerai ถูกเปลี่ยนหน้าปัดใหม่และใช้เรเดียมทาเพื่อให้เรืองแสง

กว่าจะตระหนักรู้: อันตรายของเรเดียมและการแสวงหาสารเรืองแสงครั้งใหม่


ข่าวตีพิมพ์อันตรายจากเรเดียม ซึ่งไม่มีทางรักษาได้

อย่างไรก็ตาม อย่างที่เกริ่นมาข้างต้นว่าเรเดียมเป็นสารอันตราย การนำมาใช้กับสิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวันไม่ใช่ทางเลือกที่ถูกที่ควร ปัญหาของสีเรเดียมสำหรับนาฬิกามี 2 อย่างคือ 1.เมื่อเวลาผ่านไปสีและรูปทรงของหน้าปัดที่มีสารเรเดียมจะเสียสภาพเร็วผิดปกติ และ 2.มันปล่อยสารกัมมันตภาพรังสีที่เป็นอันตราย ซึ่งเมื่อสะสมเป็นจำนวนมากและนานก่อให้เกิดมะเร็ง

หลังเริ่มใช้เรเดียมบนหน้าปัดเป็นเวลากว่า 20 ปี ในช่วงปี 1920s ผู้ผลิตนาฬิกาถึงจะตระหนักรู้ถึงความอันตรายของสารเรเดียม ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ “Radium Girls” ในสหรัฐอเมริกา เพราะเหล่าพนักงานทาสีเรเดียมต่างป่วยเป็นมะเร็ง แต่กว่าจะเลิกใช้ถาวรก็ปี 1960s ผู้ผลิตนาฬิกาจึงหันมาใช้ Promethium และTritium แทน


ในวันนั้น Panerai เองก็ไม่รู้เช่นกันว่า Radiomir ของตนจะปล่อยรังสีสุดอันตราย เมื่อเห็นว่าเรเดียมไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป Panerai จึงคิดค้นสารตัวใหม่ซึ่งก็คือ Luminor เป็นสารเรืองแสงในตัว ทำจาก Tritium ซึ่งก็ปล่อยรังสีเหมือนกันแต่น้อยกว่าเรเดียมหลายเท่า เข้ามาแทนที่ Radiomir ในปี 1949 และเป็นจุดเริ่มต้นของรุ่น Luminor ที่มีตัวป้องกันเม็ดมะยมขนาดใหญ่โตจนเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์จนถึงวันนี้

ทุกวันนี้นาฬิการุ่น Radiomir รุ่นแรกของ Panerai ไม่ได้เรืองแสงแล้ว เพราะหน้าปัดเสื่อมสภาพ แต่เรเดียมยังคงปล่อยกัมมันตภาพรังสีได้อยู่ดี เพราะครึ่งชีวิตของธาตุนี้ยาวนานกว่า 1,600 ปี จึงเป็นนาฬิกาที่ต้องระมัดระวังในการเก็บรักษา ถึงแม้ปริมาณในการปล่อยรังสีจะไม่มาก แต่คงไม่มีใครอยากนำมาสวมใส่บนข้อมือตลอดเวลาแน่นอน

นอกจากสาร 2 ตัวนี้แล้วยังมีสารอื่นอีกมากมายที่ใช้ในปัจจุบัน ซึ่งมาตรฐานจะใช้สาร Luminova หรือ Super-Luminova ซึ่งเป็นองค์ประกอบของอลูมิเนียมออกไซด์ คิดค้นในประเทศญี่ปุ่นและไม่มีปัญหาเรื่องรังสีอีกต่อไป

ไม่น่าเชื่อว่าเพียงฉากสั้น ๆ ของภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ Dr. No จะสามารถเล่าย้อนไปถึงที่มาของหน้าปัดเรืองแสงได้ ว่ามาจากยุคสงครามโลก และทำให้เราตระหนักถึงประโยชน์และโทษของสารเรเดียมที่ทำหน้าที่ทั้งรักษาโรคร้ายอย่างมะเร็งและยังก่อให้เกิดมะเร็งได้อีกหากใช้ไม่ถูกวิธี ทั้งหมดนี้ต้องยกความดีความชอบให้กับมารี คูรี นักวิทยาศาตร์หญิงใจบุญ แต่เหนือสิ่งอื่นใด สารเรเดียมในอุตสาหกรรมนาฬิกายังเป็นเหตุการณ์เตือนใจให้กับอุตสาหกรรมอื่น ที่ก่อนจะสรรหานวัตกรรมใหม่มาใช้ ต้องตรวจสอบก่อนว่าปลอดภัยกับพนักงานหรือผู้บริโภคหรือไม่ ไม่เช่นนั้นแล้ว ก็อาจจะจบลงแบบหน้าปัดเรเดียมที่คร่าชีวิตพนักงานไปอย่างน่าเศร้า


อ้างอิง

Featured Posts
Recent Posts
bottom of page