top of page

Patek Philippe Nautilus : เมื่อใดมีวิกฤต เมื่อนั้นมีโอกาส


ภาพสเก็ตช์ Nautilus โดย Gerald Genta

ตั้งแต่ยุคหลังสหัสวรรษที่ 2000 เป็นต้นมา คนในแวดวงนาฬิกาให้ความสนใจเกี่ยวกับนาฬิกายี่ห้อ "ปาเต็ก" (Patek Philippe) ในฐานะโรงงานผลิตจอกศักดิ์สิทธิ์ (Grail Factory) และถูกยกมาพูดถึงกันในวงสนทนาครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ว่าคุณจะอยู่ในฝั่งของนักลงทุน, นักสะสม, ผู้เล่นหน้าใหม่ และถ้าคำว่า "นอติลุส” (Nautilus) ทำให้คุณรู้สึกอยากรู้อยากเห็น บทความนี้อาจจะช่วยคุณได้ เพราะเราได้เก็บข้อมูลเล็ก ๆ น้อย ๆ กลับไปถึงจุดกำเนิด เบื้องลึกเบื้องหลัง ที่ไม่ใช่แค่ตำนานของคุณเจอรัลด์ เจนต้า (Gérald Genta) แต่ลงไปอีกนิด ถึงแนวคิดและภาพรวมทั้งหมดของเจ้าเรือดำน้ำติดอาวุธตอปิโดเรือนนี้ ตั้งแต่วันที่มันถือกำเนิด จนถึงวันที่ Nautilus ยืนเป็นหนึ่งของนาฬิกาที่ทรงอิทธิพลที่สุดเรือนหนึ่งของโลก

นับตั้งแต่ช่วงก่อนวิกฤตนาฬิกาควอทซ์เมื่อประมาณห้าสิบปีที่แล้ว (1970) คนทุกคนที่สวมใส่นาฬิกาข้อมือจะเคยชินกับเสียงจักรกลอกเล็ก ๆ ที่เต้นเสียงดังติ๊ก ๆ ในนาฬิกา การหยุดเดินในทุก 2-3 วันเป็นเรื่องปกติ คุณมีหน้าที่ต้องไขลาน/เขย่า และตั้งเวลาใหม่ทุกครั้งก่อนจะสวมใส่

วันที่ผลึกควอทซ์กับนาฬิกาใช้แบตเตอรี่ราคาเพียงครึ่งเดียวเริ่มเข้ามาแทนที่ นาฬิกาที่ติดป้าย Swiss Made แทบจะสูญหายไปจากโลกในเวลาสั้นพอ ๆ กับจากไปของแผ่นฟลอปปี้ดิสค์หรือเทปคาสเสท ปาเต็ก ฟิลลิปส์ ก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่ประสบปัญหาในวิกฤตครั้งนั้น ศึกครั้งยิ่งใหญ่ที่คืบคลานเข้ามาอย่างไม่ทันตั้งตัว แต่ทางแก้ปัญหาของคุณฟิลิปส์ สเติร์น (Philippe Stern) CEO ในขณะนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด นาฬิกาปาเต็กที่ขึ้นชื่อด้านความซับซ้อนและล้ำค่า กลับเปิดตัวนาฬิกาที่ทำด้วยเหล็ก มีฟังก์ชั่นแค่บอกเวลากับวันที่ แถมเครื่องก็ไม่ใช่เครื่องในบ้านของตัวเอง ที่น่าตกใจที่สุดคือมันยังคง 'แพง' ออกสื่ออย่างไม่แคร์ผู้ใด


ก่อนการมาของ Nautilus

Patek Philippe Nautilus รุ่นแรกก้าวลงสู่สนามและสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วทั้งวงการในปี 1976 แต่ก่อนที่ Nautilus จะได้การตอบรับเกินคาดเช่นนี้ วิทยาการของนาฬิกายุคนั้นก็ใช่ว่าจะธรรมดา

ช่วงปี 1950s-1960s เป็นดั่งยุคสมัยเรอแนซ็องส์ (Renaissance) หรือ ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการของวงการนาฬิกา เพราะนวัตกรรมมากมายกำเนิดและพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด นาฬิกาไอคอนอย่าง Rolex Submariner, Daytona หรือแม้กระทั่ง Omega Moonwatch ก็ล้วนกำเนิดมาจากยุคสมัยนี้ เรือนเวลาเหล่านี้ได้รับการปรับปรุงให้เที่ยงตรงขึ้น กันน้ำลึกมากขึ้น และมีประสิทธิภาพเฉพาะด้านมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ผลิตนาฬิกาเริ่มตระหนักว่าความเที่ยงตรงของนาฬิกาจักรกลมีขีดจำกัด

ไม่นานนัก นาฬิกาควอทซ์รุ่นแรกของโลก Astron จาก Seiko ก็เข้ามาในปี 1969 นาฬิการะบบนี้มอบความเที่ยงตรงให้กับโลกเวลาจนจักรกลไม่อาจเทียบได้ แถมยังผลิตได้จำนวนมากในเวลาไม่นาน ยิ่งทำให้ต้นทุนของนาฬิกาควอทซ์ต่ำ ผลที่ได้คือ นาฬิกาควอทซ์เที่ยงตรงกว่าและราคาถูกกว่านาฬิกาจักรกล คนจึงหันไปซื้อนาฬิกาควอทซ์ตามเหตุผลและกระแสในยุคนั้น และต่างคิดว่าศาสตร์แห่งจักรกลกำลังจะดับสิ้นลง

สำหรับ Seiko ผู้คิดค้นระบบควอทซ์คงมองว่านี่คือหนทางแห่งแสงสว่าง แต่สำหรับผู้ผลิตนาฬิกาจักรกล นี่คือเมฆดำก้อนใหญ่ที่เข้าปกคลุมอย่างไม่ทันตั้งตัว ความรุนแรงของวิกฤตการณ์ควอทซ์เล่นงานอุตสาหกรรมนาฬิกาจักรกลของยุโรปโดยเฉพาะสวิสอย่างสาหัส หลายแบรนด์ปิดตัวลง พนักงานถูกเลิกจ้างมากกว่าครึ่ง และแม้กระทั่ง ปาเต็ก ฟิลลิปส์ แบรนด์นาฬิกาอนุรักษ์นิยมผู้ยิ่งใหญ่ ที่ในขณะนั้นมีคุณฟิลิปส์ สเติร์นกุมบังเหียน ถึงกับเคยกล่าวว่า เขาจำไม่ได้ว่าเขาอายุเท่าไหร่ตอนที่ พ่อของเขาเล่าถึงคุณ Philippe หนึ่งในอดีตผู้บริหารปาเต็กเคยต้องหลอมทองจากตัวเรือนนาฬิกาเอาไปขายเพื่อจ่ายเงินให้คนงาน แน่นอนว่า เขาจะไม่ปล่อยให้สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก และแม้ว่าสถานการณ์จะยังไม่เลวร้ายเท่าวันนั้นก็ตาม

1972: Audemars Piguet Royal Oak ref. 5402 และ Original box ออกแบบโดย Genta

การประชันระหว่างจักรกลกับผลึกควอทซ์ยังไม่ทันจะจบลง ขณะที่ลมกำลังเปลี่ยนทิศ ผู้คนเริ่มโบกมือลาจากนาฬิกาสวิสราคาสูง Audemars Piguet กลับเลือกที่จะเปิดตัว Royal Oak ในฐานะนาฬิกาสปอร์ตหรูทำจากวัสดุเหล็กกล้าไร้สนิมในปี 1972 สิ่งที่ใหม่ไม่ได้มีแค่รูปโฉมนาฬิกาแต่หมายรวมถึงกลยุทธ์การตลาด เพราะเป็นตัวเรือนสตีลแต่ราคาสูงพอ ๆ กับทองคำ นี่คือการผสมผสานระหว่างความหรูหราและสปอร์ตไลฟ์สไตล์เป็นครั้งแรกของวงการ การตอบรับออกมาดีเกินความคาดหมาย จนในปัจจุบัน Royal Oak ได้กลายมาเป็นคอลเลคชั่นเรือธงของแบรนด์

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทั้งวิกฤตการณ์ควอทซ์ที่บีบคั้น และ Audemars Piguet คู่แข่งได้วิ่งนำหน้าไปก่อนแล้ว ปาเต็ก ฟิลลิปส์ ยิ่งไม่อาจนิ่งนอนใจ เพื่อให้รอดพ้นและรักษาเกียรติภูมิของแบรนด์ จึงให้กำเนิดนาฬิการุ่นใหม่และได้จ้างวานให้ศิลปินระดับมาสเตอร์ออกแบบให้

Gérald Genta นักออกแบบนาฬิกาในตำนาน

Gérald Genta กับภาพสเก็ตช์ออกแบบ Royal Oak และ Nautilus

ไม่ใช่โชคช่วยแต่ด้วยฝีมือของเจอรัลด์ เจนต้า (Gérald Genta) ศิลปินและจิตรกรชาวสวิสผู้ออกแบบนาฬิกาให้หลากหลายแบรนด์จนหลาย ๆ เรือนกลายมาเป็นไอค่อนสำคัญแห่งโลกนาฬิกา

ชื่อเต็มของเขาคือ ชาร์ล เจอรัลด์ เจนต้า (Charles Gerald Genta) เกิดในปี 1931 เจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ หลังจากจบการศึกษาสาขาช่างทองและอัญมณี เขาเริ่มทำงานให้กับผู้ผลิตนาฬิการายใหญ่ พรสวรรค์ด้านการออกแบบของ เจนต้าเฉิดฉายในขณะที่เขาอายุเพียง 23 ปี เขาได้ออกแบบนาฬิกา SAS Polerouter (เอสเอเอส โพลราวน์เตอร์) ให้กับแบรนด์ Universal Geneva เพื่อเป็นนาฬิกาที่ระลึกของเที่ยวบินสายการบิน SAS ที่บินผ่านขั้วโลกเหนือ แน่นอนว่า Polerouter กลายเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของแบรนด์

นั่นเป็นแค่จุดเริ่มต้น เพราะหลังจากนั้น เจนต้าได้สั่งสมประสบการณ์มากมายจากการทำงานร่วมกับผู้ผลิตหลากหลายแบรนด์ อาทิเช่น Omega ในรุ่น Constellation และ IWC รุ่น Ingénieur ที่สร้างชื่อให้ตนเองด้วยดีไซน์ที่แปลกใหม่จากรูปทรงเดิม ๆ รวมถึง Royal Oak ของ Audemars Piguet ซึ่งเปิดตัวในปี 1972 ก็เป็นผลงานของเขา Royal Oak มีจุดเด่นที่ขอบนาฬิกาเป็นทรง 8 เหลี่ยม ย้ำด้วยหมุด 8 ตัว ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากหมวกเหล็กดำน้ำสมัยก่อน และยังคงเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์มาถึงปัจจุบัน

ระหว่างที่ Audemars Piguet นำหน้าไปแล้วหนึ่งก้าว ปาเต็ก ฟิลลิปส์ยังคงหาทางออกจากวิกฤตไม่เจอ แต่แล้วในปี 1974 ณ ห้องอาหารในงาน Basel Watch Fair ขณะที่เจนต้านั่งสังเกตเหล่าผู้บริหารปาเต็กกำลังถกปัญหามื้อค่ำอยู่อีกโต๊ะหนึ่ง ไอคอนชิ้นใหม่กำลังถูกขีดเขียนบนกระดาษเช็ดปากของเขาภายในเวลาเพียง 5 นาที และนาฬิกาเรือนนั้นคือ Nautilus นาฬิกาสปอร์ตหรู ทำจากวัสดุเหล็กกล้าไร้สนิมเรือนแรกจากปาเต็ก ฟิลลิปส์

แบรนด์เปิดตัว Nautilus ในปี 1976 ด้วยกลยุทธ์การตลาดที่กล้าพอตัว เพราะคำโฆษณาของ Nautilus คือ “One of the world’s costliest watches is made of Steel” หรือ “หนึ่งในนาฬิกาที่แพงที่สุดในโลกที่ทำจากเหล็กกล้าไร้สนิม” ประชันกับควอทซ์ที่ราคาถูก และคู่ปรับ Audemars Piguet ที่นำทางไปก่อน

นอกจากนั้นชื่อ Nautilus ได้มาจากชื่อเรือดำน้ำของกัปตัน Nemo จากนวนิยายชื่อดัง "ใต้ทะเลสองหมื่นโยชน์” (Twenty Thousand Leagues Under the Sea) ของฌูล แวร์น (Jules Verne) หนำซ้ำรูปทรงยังได้แรงบันดาลใจมาจากช่องหน้าต่างเรือสำราญข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกอีกด้วย

กล่าวได้ว่าคุณเจนต้าเปรียบเหมือน Picasso แห่งวงการนาฬิกา เขานำพาลมที่เคยเปลี่ยนทิศจากนาฬิกาควอทซ์ให้หวนคืนมาหานาฬิกาจักรกลที่รูปโฉมไม่คุ้นตา และสะท้อนถึงจิตวิญญาณแห่งการเดินเรือให้กับ Patek Philippe Nautilus

Nautilus รุ่นแรก: ref. 3700 (1976-1990) ต้นฉบับแห่งเหล็กกล้า


1976: Nautilus ref. 3700 และโปสเตอร์ตอนเปิดตัว

แม้ว่าปาเต็กจะก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1839 หรือเกือบ 200 ปีก่อน มีคอลเลคชั่นนาฬิกามากมาย แต่วัสดุที่ใช้ส่วนมากคือโลหะผสมทองคำ หรือโลหะมีค่า เหล็กผสมอื่น ๆ มักไม่ถูกนำมาใช้โดยเฉพาะกับคอลเลคชั่นพิเศษ นอกจากนั้นก่อนการสร้าง Nautilus ปาเต็กก็ไม่เคยทำนาฬิกาแนวสปอร์ตอย่างแท้จริง เรียกได้ว่า ปาเต็กมองตัวเองเป็นผู้ผลิตนาฬิกาชั้นสูงเท่านั้น

Nautilus 3700 เป็นรุ่นแรกของตระกูลนี้ และถือกำเนิดในปี 1976 ปาเต็กเลือกใช้โลหะผสม (Alloy) คุณภาพสูงที่มีส่วนผสมของเหล็กนิกเกิล, โครเมี่ยม - โมลิบดีนัม ซึ่งถือเป็นอัลลอยที่มีมาตรฐานสูงสุดในเวลานั้น เป็นโลหะเดียวกับที่ใช้ในการสร้างรถถังในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สามารถทนต่ออุณหภูมิและแรงดันสูงได้ นอกจากนี้ ข้อดีเพิ่มเติมคือน้ำหนักเบากว่าเหล็กธรรมดา

สำหรับด้านศิลปะความงามของนาฬิกา อาจเป็นเพราะผู้ออกแบบคือคนเดียวกัน และจัดเป็นนาฬิกาสปอร์ตหรูทั้งคู่ ทำให้รูปร่างหน้าปัด Royal Oak กับ Nautilus คล้ายคลึงกัน ขณะที่ Royal Oak มีรูปทรง 8 เหลี่ยมขอบตัดชัดเจน Nautilus เป็น 8 เหลี่ยมเช่นกันแต่ขอบมนกลมกลึงกว่ามาก พร้อมกับ ‘หู’ คล้ายกับบานพับของหน้าต่างเรือเพื่อซีลตัวเรือน หน้าปัดขนาด 42 มม. ซึ่งถือว่าใหญ่มากในยุคนั้นจนมีชื่อเล่นว่า ‘Jumbo’ เพราะสมัยนั้นนาฬิกาส่วนใหญ่ขนาดอยู่ที่ 34-36 มม. หรือแม้แต่ Royal Oak ก็มีขนาดเพียง 38 มม. เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ตัวเรือน Nautilus รุ่นนี้บางมาก หนาเพียงแค่ 7.6 มม แถมยังกันนำลึกถึง 120 เมตร

เอกลักษณ์ของรุ่นนี้อีกอย่างที่เห็นแล้วก็รู้ว่าเป็น Nautilus คือ พื้นผิวของหน้าปัดที่เป็นร่องแนวนอนแบบลูกฟูก สีดั้งเดิมคือสีชาโคลผสมน้ำเงินเข้ม หลักขีดและเข็มทรงตอปิโดทำจากทองคำขาว หน้าปัดเกลี้ยงเกลาโดยมีเพียงช่องหน้าต่างวันที่ตรง 3 นาฬิกาขัดกับสไตล์ของปาเต็กที่จะต้องมีหน้าปัดย่อยบอกฟังก์ชั่นมากมาย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความซับซ้อนชั้นสูง

เครื่องของรุ่นนี้ก็เป็นสิ่งที่ควรพูดถึง เพราะปาเต็กเลือกใช้ Caliber 920 เป็นตัวเดียวกับ Audemars Piguet Royal Oak รุ่นแรก โดยทั้งคู่ซื้อมาจากแบรนด์ Jaeger-LeCoultre (เฌแชร์-เลอร์คูลทร์) แล้วค่อยนำมาปรับแต่งต่อเองเป็น Caliber 28-255C ความถี่อยู่ที่ 19,800 vph พลังงานสำรอง 40 ชั่วโมง

นอกจากนี้ เนื่องจากอายุสายการผลิตที่ยาวนานถึง14 ปี Nautilus 3700 จึงมี 2 เวอร์ชั่นด้วยกัน ความต่างจะอยู่ที่สาย หากเป็นสายใหญ่และกว้างนั่นคือเวอร์ชั่นแรก (ref.3700-01A) ผลิตตั้งแต่ปี 1976 - 1982 แต่หากสายแคบก็คือเวอร์ชั่น 2 (ref.3700-11A) ผลิตตั้งแต่ปี 1982 - 1990

คอลเลคชั่น Nautilus จากอดีตสู่ปัจจุบัน


Patek Philippe Nautilus All Models

หลังจากเปิดตัว Nautilus รุ่นแรกในปี 1976 ปาเต็กก็เปิดตัวนาฬิกาคอลเลกชั่นนี้อย่างต่อเนื่อง :

ปี 1980 ref.4700/51J เป็นนาฬิกาสำหรับคุณผู้หญิงโดยใช้เครื่องควอทซ์แต่ตัวเรือนกลับเป็น Yellow Gold สมัยนั้น เครื่องควอทซ์ไม่ใช่ตัวแทนของเครื่องราคาถูกแต่เป็นตัวแทนของความล้ำสมัย นาฬิกาหลายเรือนอย่าง Pulser หน้าปัดจอ LCD สีแดงก็ทำด้วยทองคำทั้งเรือนและราคาก็ไม่ถูกเลย

ปี 1981 ref.3800/1A ถอดแบบมาจาก ref.3700 ต้นตำรับ แต่ขนาดเล็กลง และใช้เครื่อง In House 335SC ของตัวเอง และในปีเดียวกันได้ออก ref.3900/1JA นาฬิกาผู้หญิงทูโทนวัสดุ Steel/Yellow Gold และกลับมาใช้ระบบควอทซ์อีกครั้ง

ผ่านไป 5 ปี 1996 ปาเต็กเปิดตัวนาฬิกาที่เป็นต้นแบบของ Patek Aquanaut นั่นก็คือ ref.5060SJ ซึ่งแฟนปาเต็กดูยังไงก็เป็น Aquanaut แต่มันเป็น Nautilus เพราะคอลเลกชั่นแรกของ Aquanaut เกิดหลัง 5060SJ ถึงสองปี สิ่งที่ต่างกันคือขอบตัวเรือนซ้ายขวาไม่มีหู และเป็นสายหนังตัดกับตัวเรือนสีทอง ซึ่งต่อมากลายเป็นอัตลักษณ์ของ Aquanaut ที่ประหลาดที่สุดคือเลขโรมันที่ 4 นาฬิกา ปาเต็กเลือกใช้สัญลักษณ์เลข IIII แทนที่จะเป็น IV โดยให้เหตุผลว่ามันจะสับสนกับเลข 6 (VI)

เว้นช่วงไปเพียง 2 ปี ในปี 1998 ref.3710/1A มีฉายาว่า ‘ดาวหาง’ เพิ่มฟังก์ชั่นบอกพลังงานสำรอง ซึ่งรุ่นนี้ก็เป็นรุ่นที่นักสะสมตามหากันอย่างมาก เพราะเข็มบอกพลังงานสำรองมีลักษณะคล้ายหางทรงโค้งดูแปลกตา 3710 ซ่อนความลึกลับไว้ในหน้าต่างบอกเวลาสำรองนี้เพราะเมื่อพลังงานสำรองเพิ่มขึ้น ดาวหางจะวิ่งวนไปรอบ ๆ ในขณะที่ใช้งานเข็มบอกพลังงานก็ค่อยวิ่งตามไป ซึ่งผู้ใช้จริงบอกว่า ต้องปรับตัวอยู่พักนึง ให้คิดแค่ว่าอย่าให้ปลายเข็มไปอยู่ใกล้หัวดาวหางพอ

ปาเต็กวาง Nautilus ให้ว่างเว้นอยู่ถึง 6 ปี ก่อนจะออก ref.3711/1G ขนาด 40 มม.ในปี 2004 ซึ่งคล้ายกับ ref.3700/1A Nautilus เรือนแรกของปาเต็ก แต่ทำจาก White Gold และเป็นครั้งแรกของ Nautilus ที่เปิดฝาหลังด้วยกระจกแซฟไฟร์โชว์ความงดงามของเครื่อง 315SC จนเป็นเริ่มเป็นประเพณีสืบมาว่า ถ้าเป็น Nautilus เครื่องออโตเมติก จากนี้ต้องเปิดฝาหลัง

ปี 2005 ref.3712/1A คือ Nautilus เรือนสำคัญที่เป็นที่ต้องการของนักสะสมอย่างมาก และทำให้สับสนได้เป็นระยะ เพราะนี่คือรุ่นพี่ของ ref.5712 และเรียกได้ว่าเป็นรุ่นนิยมสุด ๆ ของ Nautilus เพราะเป็นครั้งแรกที่ใส่ฟังก์ชันวันที่,พลังงานสำรองและ Moon Phase รวมเปิดฝาหลังให้เห็นกลไกอัตโนมัติ แถมใช้โรเตอร์แบบกระดุมทำด้วยทองคำ 22k ขนาดเล็ก ดูจากด้านหลังแล้วงดงามไม่แพ้ด้านหน้า ปาเต็กเริ่มจะทวงคืนตำแหน่งเจ้าแห่งความซับซ้อนมาสู่รุ่นนี้

ในปี 2006 ซึ่งเป็นครบรอบ Nautilus 30 ปี ปาเต็กเปิดตัวคอลเลกชั่นใหม่ถึง 4 รุ่นด้วยกัน ได้แก่ ref.5711 ที่ถือว่าเป็นรุ่นสืบทอดตัวต้นแบบ 3700 ในขนาด 40มม., ref.5712 พัฒนาจากต่อจาก ref.3712, ref.5980 เป็นครั้งแรกที่มีฟังก์ชั่นบอกวันที่ และ Flyback Chronograph และเรือนสุดท้ายคือ ref.5800 ซึ่งเป็นรุ่น Unisex จากการสืบสานมาจาก 3800 ที่ตัวเรือนขนาดเล็ก 38.4มม และแน่นอนคอลเลกชั่นปี 2006 นี้ทุกเรือนเปิดฝาหลังโชว์ความประณีตของการขัดแต่งเครื่องด้วยช่างฝีมือระดับ Geneva Seal Hallmark


2006: Patek Philippe Nautilus ref. 5711/1A มีหน้าตาคล้ายกับ ref. 3700 รุ่นแรก

ในปี 2009 Nautilus เปิดตัว ref.7010/1G นาฬิกาคุณผู้หญิงในเครื่องควอทซ์เพราะคิดว่าควอทซ์น่าจะเหมาะกับคุณผู้หญิงที่ไม่ต้องการมาตั้งเวลาใหม่ทุกสองวัน แต่กลับไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควร เพราะไปทับซ้อนกับโมเดลผู้น้อง Aquanaut “Luce” ยอดนิยมที่เป็นควอทซ์ล้อมเพชรเช่นกัน ผู้ใช้หรือผู้ที่ซื้ออาจจะรู้สึกแปลก ๆ ที่จ่ายเงินเกือบล้านแต่ได้นาฬิกาทองคำล้อมเพชรแต่เป็นควอทซ์ ถึงจะตามรอย 4700 ต้นกำเนิด Lady Nautilus แต่ไม่นานก็หลุดจากสายการผลิตไป

ปี 2010 ref.5726 ซึ่งเป็นรุ่นที่มีฟังก์ชั่น Annual Calendar แต่ก็ไม่ฮือฮาเพราะเครื่อง 324 S QA LU 24H/303 ถูกเปิดตัวและใช้ใน 5396 ไปแล้วแถมยังใช้สายหนัง ต่อมาออกรุ่นย่อย /1A ถึงเริ่มกลับมาขายดีเพราะเป็น Aquanaut All Steel

ปี 2013 ปาเต็กเปิดศึกครั้งใหม่กับนาฬิกาผู้หญิง โดยเปิดตัว ref.7018 ราคาสูงลิ่วทั้งที่ตัวเรือนทำจากสตีล แต่มีขอบล้อมเพชรและที่สำคัญใช้เครื่องกลไก 324SC ได้สิทธิ์เปิดฝาหลังโชว์ความงามอย่างน่าภาคภูมิใจ

ปีต่อมา 2014 ref.5990 ขนาด 40มม. เปิดตัวพร้อม 2 ฟังก์ชั่นใหม่ Flyback Chronograph และ Dual Time Zone และมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจเนื่องจากออกแบบให้เอาหูบานพับมาประยุกต์ทำให้เป็นปุ่มให้กดเปลี่ยน Time Zone ครั้งแรก น้อยคนที่จะเดาออกว่าปุ่มซ่อนไว้ตรงนี้ นับเป็นเสน่ห์ที่น่าค้นหาอย่างหนึ่ง แถมออกมาแต่รุ่น Steel จึงเป็นที่นิยมตามเคย

ปี 2015 ref.7118 ก็เข้ามาแทนที่ Lady Nautilus ref.7018 ตัวเก่าและไม่ล้อมเพชรเพื่อทำราคาให้ดีขึ้น

ปี 2016 ในโอกาสครบรอบ 40 ปี Nautilus ก็เปิดตัว 2 รุ่นคือ ref. 5976/1G ที่เป็นตัวแทนของ ref.5980 ผลิตจำนวนจำกัดเพียง 1,300 เรือน และ ref. 5711/1P ที่เป็นตัวแทนของรุ่น 3700/5711 แต่ทำด้วยแพลตินั่ม 950 ทั้งเรือน กล่องทำแบบย้อนยุคไปแบบปี 1976 ทำด้วยไม้คอร์กแท้ขนาดเล็ก ผลิตจำนวนจำกัดที่ 700 เรือนปัจจุบันครองแชมป์ Nautilus ที่แพงที่สุดอย่างไม่น่าเชื่อด้วยความล้ำค่าและเป็น Limited Edition คู่แรกคู่เดียวของ Nautilus


ปี 2018 Nautilus เปิดตัว ref.5740/1G เป็น Nautilus Perpetual Calendar ซึ่งบางที่สุดเท่าที่แบรนด์เคยทำมา และออกมาแต่เฉพาะวัสดุ White Gold เท่านั้น และเราจะเห็นได้ว่า 40 กว่าปีที่ผ่านมา ลมได้พัดพาเจ้าเรือดำน้ำลำนี้กลับมาสู่วัฒนธรรมบ้านเกิดได้สำเร็จ เพราะยังไง Patek ก็ควรจะต้องเป็นนาฬิกาซับซ้อนในตัวเรือนวัสดุล้ำค่า


Nautilus Perpetual Calendar Ref. 5740/1G: ปฏิทินถาวรแรกในเรือนเวลา Nautilus


2018: Patek Philippe Nautilus Perpetual calendar ref. 5740/1G ที่มีปฏิทินถาวรรุ่นแรก

หลังก้าวเข้าสู่สนามแข่ง Nautilus ผลิตมาในรูปแบบใหม่ ๆ มากมาย ทั้งการใส่ Moon phase, Annual Calendar, Flyback Chronograph, Time Zone แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือ ฟังก์ชั่นซับซ้อนคู่บุญปาเต็กนั่นคือ Perpetual Calendar หรือปฏิทินถาวร และแล้วในปี 2018 ก็เป็นไปตามคาดเพราะ Nautilus Perpetual Calendar Ref. 5740/1G-001 ได้เปิดตัวในงาน Basel World 2018

5740 ใช้ cal. 240Q วิ่งด้วยความถี่ 21,800 vph หรือ 3 Hz สำรองพลังงาน 38 - 48 ชั่วโมง แต่สิ่งที่โดดเด่นที่สุดคือเป็นกลไก Automatic Perpetual Calendar บางที่สุดเท่าที่แบรนด์เคยทำมาคือหนาเพียง 3.88 มม. ทำให้เมื่อประกอบตัวเรือนแล้วจะหนาเพียง 8.42 มม. ซึ่งหนาพอ ๆ กับ Nautilus 5711 ที่บอกเพียงแค่เวลากับวันที่

ref.5740 มีหน้าปัดย่อย 3 หน้าปัด บอกวัน วันที่ เดือน ปีอธิกสุรทิน หน้าปัดเวลา 24 ชั่วโมง และ Moon Phase ที่คลาดเคลื่อนจากตำแหน่งจริงของดวงจันทร์เพียง 1 วันต่อ 122 ปี ความงดงามในการจัดการพื้นที่บนหน้าปัด กับฟังก์ชั่นที่มากมายเช่นนี้เป็นจุดเด่นของปาเต็กมาช้านานเพราะถึงจะมีเข็มมากมาย แต่ผู้ใช้ก็ยังสามารถดูสิ่งต่าง ๆ ได้สะดวก พลิกด้านหลังก็งดงามไม่แพ้กันเนื่องจากเป็นเครื่อง Mini Rotor เยื้องศูนย์ทำด้วยทอง 22k ทำให้ไม่บดบังความงามใด ๆ ของจักรกลอกและเฟืองสะพานต่าง ๆ การขัดแต่งขั้นสูงสุดแบบ Patek Philippe Seal ทำให้คุณรู้สึกถึงอีกมิติหนึ่งที่ผู้เป็นเจ้าของต้องภาคภูมิใจ

นอกจากนี้ ตัวเรือนไม่ใช่สตีล แต่เป็นทองคำขาว สีของหน้าปัดยังคงเอกลักษณ์ลูกฟูกแนวขวางและมาในสีน้ำเงิน Sunburst ที่เคยใช้ในรุ่นครบรอบ 40 ปี Nautilus ปี 2016 ทำให้ ref.5740 เป็นที่สุดของ Nautilus อย่างไม่ต้องสงสัย

Thierry Stern หางเสือของปาเต็กกับมุมมองสแตนเลสสตีล

Nautilus ขึ้นชื่อเรื่องความหายาก ในระดับที่ว่าต้องใช้เวลารอหลายปีกว่าจะได้เป็นเจ้าของ นับตั้งแต่การก่อตั้งและบริหารภายใต้สมาชิกตระกูล Stern ปาเต็ก ฟิลลิปส์ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายเหตุการณ์ แต่ความต้องการของผู้หลงใหลใน Nautilus มีจำนวนมากจนประธานบริษัทคนปัจจุบันของปาเต็กต้องรอบคอบและระมัดระวังเป็นอย่างมาก

เธียร์รี่ สเติร์น (Thierry Stern) คือทายาทรุ่นที่ 4 ของตระกูล Stern เกิดเมื่อปี 1970 เขาเติบโตในโลกแห่งการผลิตนาฬิกาและมีเส้นทางที่ชัดเจน หลังจากจบการศึกษาจาก Ecole de Commerce เขาต้องเรียนรู้ธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้น ในปี 1990 เขาเริ่มต้นเส้นทางการทำงานร่วมกับบริษัทย่อยและผู้ค้าปลีกทั้งในเยอรมนีและสหรัฐอเมริกา แล้วจึงขยับมาดูแลการตลาดในปี 1997 และสุดท้ายก็ขึ้นบริหารต่อจากพ่อของเขาคุณฟิลลิปส์ สเติร์น

ในปี 1990 ความเชื่อมโยงระหว่างคุณเธียร์รี่ กับ Nautilus เกิดขึ้นเมื่อเขาอายุ 20 ปี โดยเขาได้รับ Nautilus 3700-11AJ จากพ่อ เป็นรุ่นสองกษัตริย์หน้าปัดเข้ม ซึ่งนับว่าเป็นนาฬิกาปาเต็กเรือนแรกของเขา และที่ต้องเป็นรุ่นนี้อาจเป็นเพราะความชอบส่วนตัวของคุณฟิลลิปส์เองที่การเกิดของ Nautilus ได้แรงบันดาลใจจากท้องทะเลสอดคล้องกับกิจกรรมแล่นเรือใบที่เขาโปรดปราน

Thierry Stern ประธานบริษัทของ Patek Philippe คนปัจจุบัน

การบริหารและวิธีการรับมือกับความต้องการของ Nautilus ภายใต้การตัดสินใจของคุณเธียร์รี่ ส่งผลให้หลายคนตั้งคำถามว่าเหตุใดปาเต็ก ฟิลิปส์ไม่เพิ่มจำนวนการผลิต Nautilus คำตอบของเขาคงช่วยอธิบายได้

“ผมไม่ต้องการให้นาฬิกาสตีลขึ้นมาเป็นตัวชูโรงของคอลเลคชั่นทั้งหมด” คุณเธียร์รี่ กล่าวกับ Hodinkee นี่ไม่ใช่ว่าเขา มองข้ามความสำคัญของ Nautilus แต่เพราะหากเขาเพิ่มจำนวนการผลิตเป็นหลายหมื่นเรือน ราคาและคุณค่าของ Nautilus ต้องลดฮวบอย่างแน่นอน นอกจากนี้ คุณเธียร์รี่ได้เห็นบทเรียนจากกรณีของ Royal Oak ที่ตอนนี้วัสดุสแตนเลสสตีลคือสัญลักษณ์ของ Audemars Piguet ไปเสียแล้ว ซึ่งเขาไม่อยากให้เช่นนั้นเพื่อรักษาอัตลักษณ์ของปาเต็ก ฟิลิปส์ไว้

---------------

และนี่คือเรื่องราวจุดเริ่มต้นของ Nautilus นาฬิกาที่นำพาปาเต็ก ฟิลิปส์ให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์ควอทซ์ ด้วยคอนเซ็ปต์ผสมความหรูหรากับสแตนเลสสตีล ซึ่งได้มาจากภาพร่าง 5 นาทีของ Gerald Genta จนวันนี้ ผ่านมาแล้ว 40 กว่าปี ความนิยมของ Nautilus ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลง แต่ใช่ว่าแบรนด์จะหลงระเริงไปกับความนิยมจนละทิ้งอัตลักษณ์ตนเองไป การวางกลยุทธ์การตลาดอันชาญฉลาดที่จะไม่ให้ Nautilus กลืนกินภาพรวมทั้งหมดของปาเต็กและจำกัดจำนวนการผลิตแต่ละปี ยิ่งเพิ่มมูลค่าทั้งทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางจิตใจให้กับผู้ครอบครอง จึงไม่น่าแปลกใจว่า Nautilus ยังคงครองตำแหน่งนาฬิกาที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดเรือนหนึ่งของโลกแม้ว่าจะผ่านเวลามาหลายทศวรรษแล้วก็ตาม

อ้างอิง

https://www.horobox.com/en/review-detail/in-depth-patek-philippe-nautilus---part-2

หนังสือ "Patek Philippe the Authorized Biography”

Featured Posts
Recent Posts
bottom of page