top of page

Spring Drive และ Hi-Beat: เรือธงของ Grand Seiko กับความต่างที่ลงตัว


Grand Seiko Hi-Beat Caliber 9S85 และ Spring Drive Caliber 9R65

นับตั้งแต่แบรนด์นาฬิกาแนวหน้าจากแดนอาทิตย์อุทัยหรือประเทศญี่ปุ่นที่เราคุ้นเคยอย่าง Seiko ก่อตั้งขึ้นมาในปี 1881 โดยคินทาโร ฮัตโตริ (Kintaro Hattori) จนเมื่อเวลาผ่านไปกว่า 80 ปีถึงเป็นช่วงเวลาแห่งการหาลู่ทางใหม่เพื่อประชันกับนาฬิกายุโรป โดยเฉพาะสวิส Grand Seiko จึงถือกำเนิดขึ้นในฐานะนาฬิกาตระกูลหนึ่งของ Seiko ในปี 1960 เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความหรูหราและนาฬิการะดับ High-end

จากวันนั้น ความสำเร็จของ Grand Seiko ทำให้มีการก่อตั้งเป็นบริษัทแยกออกมาอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2017 โดยยังคงมีตัวเรือธงอย่าง Grand Seiko Hi-Beat และ Spring Drive นำขบวนรุ่นอื่น ๆ ด้วยนิยามการเป็นนาฬิกาจักรกลความถี่สูงและนาฬิกาลูกผสมระหว่างจักรกลและควอทซ์

วิวัฒนาการของ Grand Seiko จะมีอะไรบ้างในช่วง 6 ทศวรรษที่ผ่านมา และเหตุใด Hi-Beat กับ Spring Drive ยังคงดำรงตำแหน่งเรือธงของแบรนด์ได้ โดยเฉพาะ Hi-Beat ที่ไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับวงการนาฬิกา บทความนี้จะพาทุกท่านได้ร่วมวิเคราะห์ไปกับเราค่ะ

ปฐมบท: ความเป็นมาของ Hi-Beat


1965: Girard-Perregaux Gyromatic HF เรือนแรกที่มีความถี่ 36,000 vph และ 1968: Grand Seiko 61GS Hi-Beat รุ่นแรก

ยุคก่อนปี 1970 เป็นช่วงเวลาที่นาฬิกาจักรกลของยุโรปรุ่งโรจน์และถือครองสัดส่วนตลาดมากกว่าครึ่ง จากชิ้นส่วนโลหะที่ได้รับขัดแต่งอย่างประณีตแล้วนำมาประกอบกันจนสามารถขับเคลื่อนกลไกภายใน และทำให้เข็มนาฬิกาเดินอย่างเที่ยงตรงมากที่สุดเท่าที่เทคโนโลยีในยุคสมัยนั้นจะเอื้ออำนวย Grand Seiko ก็เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว และเพื่อหาทางเอาชนะนาฬิกาฝั่งยุโรปหรือสวิสได้ จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า Hi-Beat หรือนาฬิกาจักรกลความถี่สูง

"Hi-Beat" เป็นชื่อที่ Seiko ใช้เรียกนาฬิกาในกลุ่มความถี่สูง 36,000 vph (หรือ 5 Hz) และดูเหมือนว่า Seiko Corp จะมีนโยบายชัดเจนว่า เครื่องในกลุ่ม Hi-Beat จะถูกสงวนไว้ใช้แต่เพียงใน Grand Seiko เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เริ่มใช้กลไกความถี่ 36,000 vph เป็นครั้งแรกไม่ใช่ฝั่งญี่ปุ่น แต่เป็นแบรนด์เก่าแก่จากฟากสวิส Girard-Perregaux (เจอราร์ด เปอริโก) ที่เปิดตัวนาฬิการุ่น Gyromatic HF 36,000 vph ครั้งแรกของโลกในปี 1965 ซึ่งตัวย่อ HF มาจากคำว่า High Frequency นั่นเอง

เมื่อเห็นว่านาฬิกาฝั่งยุโรปเริ่มใช้กลไกความถี่สูง 36,000 vph Seiko จึงเร่งเครื่องพัฒนาระบบนี้ทันที และเพียงภายในเวลา 2 ปี ในปี 1967 Seiko เปิดตัว Calibre 5740C ความถี่ 36,000 vph ชิ้นแรก อย่างไรก็ตามเครื่องนี้ยังคงอยู่ภายใต้ร่มเงาของแบรนด์ Seiko ในคอลเลคชั่น Lord Seiko Marvel ซึ่งเป็นคอลเลคชั่นที่เกิดก่อนการก่อตั้ง Grand Seiko เพียงปีเดียว

ถัดมาในปี 1968 Grand Seiko ก็เปิดตัวนาฬิการะบบ Hi-Beat รุ่นแรก 61GS ที่ใช้ Cal.6145 ชูคุณสมบัติความคลาดเคลื่อนเพียง -3/+5 วินาทีต่อวัน

แต่เหมือนฝั่งสวิสจะไม่หยุดอยู่แค่นั้น เพราะในปี 1969 ก็มีแบรนด์จากสวิส Zenith เปิดตัวเครื่อง EL Primero นาฬิกาตอบโจทย์การใช้เครื่องความถี่ 36,000 vph อย่างแท้จริง โดยการออกแบบฟังก์ชั่นจับเวลาเป็นเนื้อเดียวกับระบบบอกเวลา (Integrated Chronograph) และการที่ใช้ความถี่ 36,000 vph ทำให้ El Primero จับเวลาได้ถึง 1/10 วินาทีตั้งแต่กำเนิด

คราวนี้ Grand Seiko ไม่ได้ดำเนินรอยตามไปทำนาฬิกาจับเวลา Hi-Beat อย่าง Zenith เพราะในปีเดียวกัน Seiko ก็เปิดตัวระบบควอทซ์ที่เอาชนะทุกความเที่ยงตรงที่นาฬิการุ่นก่อน ๆ เคยทำมา จนถึงขั้นเกิดวิกฤตการณ์ควอทซ์ (Quartz Crisis) ซึ่งเล่นเอาอุตสาหกรรมนาฬิกายุโรปเกือบล่มสลาย

ข้อดีและสิ่งที่ต้องแลกเพื่อความถี่สูง

36,000 vph ของ Hi-Beat ช่วยให้นาฬิกามีความเที่ยงตรงและเสถียรมากขึ้น เพราะเมื่อจักรกลอกแกว่งเร็วขึ้น แรงโน้มถ่วงหรือแรงกระแทกใด ๆ จะมีผลต่ออัตราการแกว่งน้อยลง ยังผลให้การทำงานของชิ้นส่วนต่าง ๆ ดำเนินไปได้ไม่มีสะดุด แต่สิ่งที่ต้องแลกมาคือการสึกหรอของกลไกในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากการแกว่งอย่างรวดเร็วจะทำให้เกิดแรงเสียดสีหลายเท่าตัว และระบบลานที่จะหมดเร็วขึ้น เนื่องจากใช้พลังงานมากขึ้นนั่นเอง

นอกจากนี้ ข้อดีของความถี่สูงระดับ 36,000 vph สามารถนำมาใช้กับฟังก์ชั่นจับเวลาได้อย่างลงตัว เพราะความถี่ของจักรกลอกเร็วมากพอที่จะจับเวลาได้ระดับ Centi-second กล่าวคือ เมื่อแปลงความถี่นี้เป็นหน่วยเฮิร์ตซ์ 36,000 vph จะมีค่าเท่ากับ 5 Hz หมายความว่าใน 1 วินาทีจะมีการแกว่งไปและกลับ 10 ครั้ง จึงสามารถจับเวลา 1/10 วินาทีได้ เมื่อเทียบกับนาฬิกาทั่วไปที่ความถี่ต่ำกว่าแล้ว จะพบว่าภายใน 1 วินาที จำนวนรอบการแกว่งของจักรกลอกน้อยเกินกว่าที่จะจับเวลาให้ละเอียดได้ อย่างไรก็ตาม แม้ Grand Seiko จะมีระดับความถี่สูง แต่แบรนด์ก็ไม่ได้ทำ Hi-Beat เพื่อมาเป็นนาฬิกาจับเวลาอยู่ดี


ก้าวสู่การเป็นนาฬิกาไฟฟ้ากับการมาของ Quartz


1969: Seiko Astron นาฬิกาควอทซ์เรือนแรกของโลก และ 1988: Grand Seiko Quartz 95GS ควอทซ์เรือนแรกของแบรนด์

แม้ว่านาฬิกาจักรกลจะมีความเที่ยงตรงแต่ก็ยังไม่ใช่ที่สุด ดังนั้นแล้วหลาย ๆ แบรนด์จึงเริ่มมองหากลไกใหม่ที่จะช่วยให้นาฬิกาบอกเวลาได้แม่นยำขึ้น ในปี 1969 ทั้งอุตสาหกรรมนาฬิกาต้องตื่นตะลึงกับ Astron ของ Seiko เพราะเป็นนาฬิกาข้อมือควอทซ์เรือนแรกของโลก กลไกการทำงานได้เปลี่ยนมาใช้แค่แบตเตอรี่ แผงวงจรและการสั่นไหวของผลึกควอทซ์ขนาดเท่าปลายเล็บที่สามารถสร้างความถี่ถึง 32,768 Hz มากกว่าจักรกลทั่วไปที่วิ่งเพียง 2-5 Hz อย่างเทียบไม่ได้ ทำให้นาฬิกาควอทซ์ในสภาวะอุดมคติจะมีระดับความเที่ยงตรง +/-5 วินาทีต่อเดือน หรือเพียง 1 นาทีต่อปีเท่านั้น นอกจากนี้ ยังเปลี่ยนวิถีการใช้งานนาฬิกาเพราะระบบควอทซ์ไม่จำเป็นต้องไขลานอีกต่อไป

ด้าน Grand Seiko เองเมื่อถูกสร้างมาเพื่อเป็นแบรนด์ระดับ High-end ก็มีกลไกควอทซ์เช่นกัน โดยรุ่นแรกที่ทำคือ 95GS เปิดตัวในปี 1988 ความพิเศษคือการใช้ผลึกควอทซ์ที่สร้างขึ้นเองทำให้คัดเลือกคุณภาพแร่นี้ได้ตามมาตรฐานที่แบรนด์วางไว้ รวมถึงมีความเที่ยงตรงเหนือกว่านาฬิกาควอทซ์ทั่วไปในระดับ +/-10 วินาทีต่อปี

แต่ใช่ว่า Seiko และ Grand Seiko จะสามารถล้มนาฬิกาสวิสได้ลง เพราะฝ่ายนั้นยังคงยืนหยัดกับศิลปะความงามที่อาศัยความพยายามและประณีต ทำให้นาฬิกาฝั่งยุโรปกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของนาฬิกา High-end หนำซ้ำยังมองว่านาฬิกาควอทซ์คือเครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่ใช่ศิลปะความงามที่ยึดถือกัน


Spring Drive: นวัตกรรมจาก Grand Seiko ลูกผสมระหว่างจักรกลและควอทซ์


2004: Grand Seiko Spring Drive SBGA001 9R65 ใช้กลไก Spring Drive เรือนแรก และ ส่วนประกอบของกลไกนี้

เมื่อยังไม่เป็นที่ยอมรับในวงการนาฬิกาสากล Grand Seiko จึงพยายามพัฒนากลไกที่ยังคงยึดเรื่องความเที่ยงตรงเป็นหลักและมอบสุนทรียภาพให้กับผู้สวมใส่ได้แบบที่นาฬิกาสวิสทำ

ในปี 1977 โยชิคาซึ อาคาฮาเนะ (Yoshikazu Akahane) วิศวกรชาวญี่ปุ่นได้ทุ่มเทกับการสร้างกลไกใหม่ภายใต้ชื่อ “Spring Drive” เขาใช้เวลากว่า 20 ปี กับความล้มเหลวบนกองนาฬิกากว่า 600 เรือนที่สร้างไว้เป็นตัวต้นแบบ สุดท้ายในปี 1999 Spring Drive ก็ถือกำเนิดขึ้น แต่กว่าจะนำมาใช้เชิงพาณิชย์ก็ต้องรอถึงปี 2004 โดย SBGA001 Cal.9R65 ถือเป็นนาฬิกา Spring Drive เรือนแรกจาก Grand Seiko

เบรคแม่เหล็กไฟฟ้าจะคุมไม่ให้โรเตอร์หมุนเกิน 8 รอบต่อวินาที


Spring Drive เป็นการผสมผสานระหว่างนาฬิกาจักรกลและควอทซ์เข้าด้วยกัน ไม่มีการใช้แบตเตอรี่ ทำให้ต้องอาศัยพลังงานจากตลับลานสปริงแบบดั้งเดิมแทนเพื่อขับให้วงล้อโรเตอร์หมุน และผลที่ได้จากการหมุนของโรเตอร์คือการปั่นไฟป้อนให้แผงวงจรและระบบควอทซ์เพื่อใช้ควบคุมการหมุนของโรเตอร์ไม่ให้เกิน 8 รอบต่อวินาที โดยใช้เบรคแม่เหล็กไฟฟ้าทำให้ไม่มีชิ้นส่วนใดสัมผัสกัน ต่างจากนาฬิกาจักรกลที่ใช้จักรกลอก Escapement ล็อคและปล่อยในการควบคุมความเที่ยงตรง ทำให้ชิ้นส่วนจะต้องเสียดสีกันอยู่ตลอดเวลา ด้วยระบบที่ไร้การเสียดสีนี้ทำให้ Spring Drive มีเที่ยงตรงระดับ +/-1 วินาทีต่อวัน คลาดเคลื่อนน้อยกว่านาฬิกาจักรกลความถี่สูงอย่าง Hi-Beat พอสมควร

เรื่องน่าสนใจอีกอย่างของ Spring Drive คือชื่อตัวมันเองที่ตั้งมาเหมือนเพื่อเน้นย้ำว่า ครั้งนี้ไม่ใช่นาฬิกาแบตเตอรี่อย่างที่แบรนด์ฟากยุโรปมักสบประมาท เพราะระบบนี้ใช้ Spring (หมายถึงลานสปริง) ในการขับเคลื่อน (Drive) กลไกนาฬิกา นับจากวันที่ประดิษฐ์ระบบควอทซ์สำเร็จเมื่อปี 1969 จนถึงปี 1999 ที่ Spring Drive ถือกำเนิดขึ้น รวมแล้วเป็นเวลาถึง 30 ปีกว่า Grand Seiko จะสามารถสร้างกลไกใหม่ที่ทั้งเที่ยงตรงมากขึ้นและคงความงามแบบจักรกลไว้ ทำให้นาฬิกาตระกูล Spring Drive ได้รับความนิยมจากผู้หลงใหลในนวัตกรรมใหม่ กลายเป็นเรือธงที่น่าภาคภูมิใจของแบรนด์รุ่นหนึ่ง


T0 Constant Force Tourbillon ย้อนสู่วิถีของนาฬิกายุโรป


2020: Grand Seiko T0 Constant Force Tourbillon

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า Spring Drive ยังคงเป็นที่ถกเถียงจากฝั่งนาฬิกายุโรปว่ายังไม่ใช่นาฬิกาจักรกลอย่างแท้จริง เพราะมีการใช้ควอทซ์และวงจรไฟฟ้าที่ทำมันยังเป็นเสมือนเครื่องใช้ไฟฟ้า ด้วยเหตุนี้ 20 ปีต่อมาหลังการคิดค้นระบบ Spring Drive ทาง Grand Seiko จึงไม่หยุดยั้งที่จะคิดหาทางพัฒนาสิ่งใหม่ จนเกิดโครงการ “T0” Constant Force Tourbillon ที่เปิดตัวในปี 2020 เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

แค่ได้ยินชื่อ Tourbillon ก็ทราบแล้วว่านี่ไม่ใช่กลไกใหม่เอี่ยมที่ Grand Seiko คิดค้นขึ้นเอง เพราะนี่เป็นนวัตกรรมที่เกิดจากสติปัญญาของช่างนาฬิกาชาวสวิส อับราฮัม หลุยส์ บริเกต์ (Abraham Louis Breguet) เมื่อ 200 ปีก่อน เพื่อป้องกันแรงโน้มถ่วงที่ส่งผลต่อจักรกลอก ผสมกับ Constant Force หรือรู้จักกันในชื่อ Remontoire ก็เป็นสิ่งประดิษฐ์จากช่างทำนาฬิกาสัญชาติเดียวกันเมื่อ 400 ปีก่อน นามว่า โยส บัวร์กี (Jost Burgi) มีเพื่อรักษาแรงบิด (Torque) ให้คงที่ ซึ่งแรงนี้เกิดจากการคลายตัวของลาน

นอกจากนี้ กลไก T0 ไม่ได้สร้างมาเพื่อใช้เชิงพาณิชย์แต่อย่างใด ซึ่งอาจมองว่าเป็นการแสดงศักยภาพในฐานะนาฬิกาจากเอเชียที่สามารถทำได้อย่างนาฬิกายุโรป ซึ่งเครื่องคาร์ลิเบอร์ T0 Constant Force Tourbillon นี้สามารถเข้าชมของจริงได้ที่แกรนด์ ไซโก สตูดิโอ ชิสึคุอิชิ ( Grand Seiko Studio Shizukuishi) ณ ประเทศญี่ปุ่น

สองเรือธงของ Grand Seiko

60 ปีหลังการก่อตั้ง Grand Seiko รุ่นที่เป็นที่นิยมคือ Hi-Beat และ Spring Drive ซึ่งหากเทียบเรื่องคุณสมบัติแล้ว คงต้องพูดตามตรงว่า Spring Drive คือนวัตกรรมใหม่อย่างแท้จริง เพราะ Grand Seiko เป็นทั้งผู้คิดค้นและประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่เอง หนำซ้ำยังสามารถตอบโจทย์เรื่องความเที่ยงตรงและสุนทรียศาสตร์แบบจักรกลได้อีก เมื่อเทียบกับ Hi-Beat ที่เป็นระบบจักรกลความถี่สูงแล้ว กลไกนี้ดูไม่ได้แปลกใหม่แต่อย่างใด หนำซ้ำก็ไม่ได้มีฟังก์ชั่นใดเป็นพิเศษเพิ่มเติม สิ่งนี้อาจทำให้หลายคนมองว่าแล้วเหตุใด Grand Seiko ยังคงรักษา Hi-Beat ไว้และให้เคียงคู่มากับ Spring Drive คำตอบไม่ได้ซับซ้อนหรือเป็นทฤษฎีไหนอื่นไกล แต่เป็นเพราะความคลาสสิคและการเป็นจักรกลอย่างแท้จริงของ Hi-Beat ที่ทำให้ยังได้รับความนิยมจากเหล่าผู้หลงใหลในกลไกแบบดั้งเดิมนั่นเอง

อ้างอิง

Featured Posts
Recent Posts
bottom of page